‘จีน’ เล็งยกระดับเชื่อมสัมพันธ์อาเซียนยิ่งกว่าเก่า ฝ่าดงกรณีพิพาททะเลจีนใต้ที่ยังคลุมเครือ

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า จีนต้องการ ‘ยกระดับความสัมพันธ์’ กับประเทศอาเซียน โดยเรียกร้องให้มีการประชุมสุดยอดนัดพิเศษในเดือนหน้า ซึ่งประธานาธิบดีสีจิ้นผิงจะเข้าร่วมประชุมด้วยตัวเอง ในขณะที่จีนพยายามขยับขยายเข้ามายังภูมิภาคอาเซียนที่สหรัฐกำลังแย่งชิงอิทธิพลอยู่เช่นกัน นายกรัฐมนตรีหลี่เค่อเฉียง ของจีนประกาศข้อเสนอดังกล่าวในการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีนที่บรูไน 

การยกระดับความสัมพันธ์ ซึ่งเรียกอย่างเป็นทางการว่า ‘ข้อตกลงเชิงกลยุทธ์ที่ครอบคลุม’ ดูเหมือนจะกว้างขวางครอบคลุมกว่าความสัมพันธ์ในปัจจุบันของจีนกับอาเซียน และยังประกาศก่อนที่จะมีการประชุมทางไกลระหว่างประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ และอาเซียนไม่กี่ชั่วโมง

โดยประธานาธิบดี ลีเซียนลุง ของสิงคโปร์สนับสนุนแผนของจีนที่จะยกระดับความสัมพันธ์กับอาเซียน เนื่องจากทั้งสองฝ่ายได้จัดตั้งรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับความร่วมมือระหว่างกันไว้แล้ว

ขณะที่นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ของไทย แสดงความคิดเห็นด้วยความระมัดระวังกับข้อเสนอนี้ โดยกล่าวว่า “การรักษาสันติภาพที่ยั่งยืนท่ามกลางพลวัตของสถานการณ์ที่ซับซ้อนในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อมุ่งไปสู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม”

อย่างไรก็ดี กรณีพิพาทเหนือเขตแดนในทะเลจีนใต้ระหว่างจีนกับหลายประเทศในอาเซียน อาจจะเป็นอีกประเด็นหลักที่ทำให้ข้อตกลงดังกล่าวสะดุด และขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าขอบเขตของข้อเสนอใหม่ของจีนจะรวมถึงเรื่องทางทะเลด้วยหรือไม่ โดยรายละเอียดเพิ่มเติมของแผนอาจชัดเจนขึ้นเมื่อฝ่ายจีนออกแถลงการณ์หลังเสร็จสิ้นการประชุม

ทั้งนี้ฝ่ายไทยเผยระหว่างการประชุมว่า ไทยไม่ประสงค์จะเห็นความขัดแย้งหรือการเผชิญหน้าระหว่างมิตรประเทศ และสนับสนุนให้มีการหารือเพื่อหาทางออกร่วมกันในประเด็นทะเลจีนใต้

ความสัมพันธ์ของจีนและอาเซียนมีความคืบหน้าเมื่อเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว หลัง 15 ประเทศลงนามในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) แต่จนถึงขณะนี้มีเพียง 6 ประเทศที่ให้สัตยาบัน คือ ไทย, สิงคโปร์, จีน, ญี่ปุ่น, กัมพูชา และบรูไน โดยประเทศอาเซียนอีกอย่างน้อย 3 ประเทศและอีก 1 ประเทศจากภูมิภาคอื่นต้องให้สัตยาบันก่อน ความตกลงดังกล่าวจึงจะมีผลบังคับใช้

นอกจากนี้ จีนยังแสดงความสนใจเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ด้วย


ที่มา: https://www.posttoday.com/world/666537