Hometown Cha-Cha-Cha เมื่อเกาหลีเบนเข็มกระชับคนเมือง - ชนบทให้ใกล้กัน พร้อมเชื่อมสัมพันธ์ความต่างระหว่างวัย
เป็นที่โด่งดังกับกระแสภาพยนตร์เกาหลีเรื่อง Hometown Cha-Cha-Cha ซึ่งเป็นเรื่องรักโรแมนติกระหว่างพระเอก-นางเอก พร้อมกับพล็อตเรื่องที่อยู่ในเมืองชนบทริมทะเลของประเทศเกาหลี ซึ่งเรียบง่ายแต่ถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างมีเสน่ห์
ในบทความนี้ เราจะมาวิเคราะห์กันว่านอกจากความรักโรแมนติกของคู่พระ-นาง เนื้อเรื่องเข้มข้น ที่มีทั้งสนุก ขำขัน เศร้า กดดัน และบทดี ๆ ที่ทำให้ได้อมยิ้มอยู่ตลอดทั้งเรื่องแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้แฝง ‘ทัศนคติ’ และ ‘ค่านิยม’ อะไรให้กับผู้รับชมบ้าง
การเชื่อม ‘เมือง-ชนบท’ (Urban-Rural) และความเข้าอกเข้าใจบริบทในแต่ละท้องถิ่น
ภาพยนตร์เรื่องนี้ดำเนินเรื่องโดยให้เห็นถึงความขัดแย้งกันระหว่าง นางเอกซึ่งเป็นหมอฟันจากเมืองหลวงอย่างโซล มีสังคมอยู่กับชนชั้นที่มีการศึกษาดี มีหน้ามีตาในสังคม มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดี จากอาชีพที่ทำรายได้สูง ซึ่งแตกต่างและแปลกแยกจากคนอื่นในพล็อตของเรื่องที่เป็นคนในสังคมชนบทริมทะเล ซึ่งประกอบอาชีพทั่วไปและไม่ได้มีการศึกษาสูง หรือมีรสนิยมการใช้ชีวิตและเข้าสังคมแบบคนเมือง ทำให้เกิดความไม่ลงรอยและขัดแย้งกันหลายประการ โดยมีพระเอกของเรื่องที่คอยเป็นผู้สอนสิ่งต่าง ๆ ให้กับนางเอก เพื่อให้นางเอกสามารถปรับตัวเข้ากับความเป็นสังคมชนบทของเมืองกงจินได้
ครั้งหนึ่งนางเอกซึ่งไปร่วมงานรื่นเริงของหมู่บ้าน ได้ไปแสดงท่าทางรังเกียจการทำอาหารของชาวบ้านในงานว่า ‘ไม่สะอาด ถูกสุขอนามัย’ เพราะทำในที่เปิดโล่ง หรือ การที่คุณยายกัมรีปั้นข้าวกับกิมจิให้นางเอกกินด้วยมือ ซึ่งนางเอกก็แกล้งรับไว้แต่ไม่กิน เพราะมองว่าผ่านกระบวนการที่ไม่สะอาด
รวมถึงการใช้คำพูดที่ขวานผ่าซาก รุนแรงกับคนในวงสนทนา ที่แม้จะเป็นความจริง แต่คำพูดของนางเอกนั้นแสดงให้เห็นถึงความไม่ใส่ใจในเรื่องมารยาทหรือปราศจากความถ้อยทีถ้อยอาศัย ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการอยู่ร่วมกันในสังคมในชนบท
ภาพยนตร์ต้องการแสดงให้เห็นว่า แท้ที่จริงนางเอกไม่ได้เป็นคนจิตใจไม่ดี แต่เพราะมุมมองของคนที่โตมาในสังคมเมืองที่ทุกคนมีความเป็น ‘ปัจเจก’ สูง แต่เมื่อนางเอกเข้ามาอยู่ในเมืองชนบทซึ่งรูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคมแตกต่างจากสังคมเมือง ทำให้เธอปรับตัวไม่ได้ จนเกิดปัญหาด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่น
ซึ่งกว่าที่พระเอกจะเข้ามาชักจูง (แกมบังคับ) ให้นางเอกไปขอโทษต่อชุมชน พร้อมทั้งซื้อขนม-น้ำดื่มติดไม้ติดมือไปเลี้ยงในที่ประชุมหมู่บ้าน จนถึงให้นางเอกลดละอัตตาส่วนตัวและเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ กับคนในหมู่บ้าน สุดท้ายผู้คนเริ่มเปิดใจและยกโทษให้นางเอกได้ ก็ใช้เวลาพอสมควร
สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความคิดของคนในชนบทจำนวนมาก ที่เป็นคนซื่อและจริงใจ ใครทำอะไรไม่ดี เขาก็ไม่ชอบ แต่หากคนนั้นสำนึกผิด พร้อมปรับตัวแก้ไข พวกเขาก็พร้อมจะให้อภัยและอยู่ร่วมกันได้
เสรีภาพที่มาพร้อมกับความเคารพต่อบริบทสังคม
อีกตัวอย่างคือกรณีที่นางเอก ใส่กางเกงเลคกิ้งรัดรูปและเสื้อเอวลอย วิ่งออกกำลังกายในหมู่บ้าน ซึ่งเมื่อมองผ่านสายตาของคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน ก็มองว่าเป็นชุดที่ ‘โป๊เกินไป’ ไม่เหมาะสมจะใส่มาวิ่งในที่สาธารณะ ซึ่งพระเอกพอทราบเรื่องก็ได้มาคุยกับนางเอกถึงความกังวลใจของผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน
เรื่องนี้นางเอกได้เถียงกับพระเอกในทำนองว่าเป็น ‘สิทธิเสรีภาพของตน’ พระเอกจึงได้ตอบกลับมาว่า “ใช่…มันเป็นสิทธิ” แต่ขณะเดียวกันนางเอกอยู่ในหมู่บ้านที่มีบริบททางสังคมวัฒนธรรมที่ต่างจากในเมืองใหญ่ และเป็นสังคมที่มีผู้สูงอายุอยู่เยอะ นางเอกจึงควรคิดถึงวัฒนธรรมและบริบทของสังคมที่ตนมาอาศัยอยู่ด้วย
กรณีนี้ พระเอกไม่ได้ขอให้นางเอกเปลี่ยนแนวทางการแต่งตัวไปอีกแบบ หรือห้ามแต่งชุดออกกำลังกายมาวิ่ง แต่สิ่งที่พระเอกบอกคือ ขอให้คิดถึงความเหมาะสมและรักษา ‘สมดุล’ ระหว่างเสรีภาพของตนกับบริบททางสังคมที่ตนอยู่ ซึ่งภายหลังนางเอกก็ได้ใส่เสื้อที่ยาวปิดลงมา ไม่ได้เปิดเผยเนื้อหนังหรือสัดส่วนมากเช่นเดิม
ความเข้าใจผู้สูงอายุและคนต่างวัย
ตลอดทั้งเรื่องที่พยายามนำเสนอมุมมอง ทัศนคติ หรือค่านิยมของผู้สูงวัยที่โตมากับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างจากคนในยุคปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่คนรุ่นใหม่หรือคนที่ยังไม่ต้องดูแลพ่อแม่วัยเกษียณ จะไม่เข้าอกเข้าใจมุมมองเหล่านี้ แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทอดมุมมองเหล่านี้ออกมาได้ดีมาก
ในภาพยนตร์มีตอนที่นางเอกจะกลับเข้าเมืองโซล ไปทำธุระ โดยพระเอกขอให้นางเอกพาคุณยายผู้สูงอายุทั้ง 3 คนซึ่งมีธุระหรือไปเยี่ยมลูกหลาน ติดไปกับรถนางเอกด้วย ซึ่งตลอดทางผู้สูงอายุที่มีสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง ก็จะปวดฉี่บ่อย ทำให้ต้องมีการจอดแวะข้างทางเพื่อให้ผู้สูงอายุไปเข้าห้องน้ำตลอดทาง
หรือกรณีที่ จีซอง-ฮยอน รุ่นพี่ของนางเอกซึ่งเป็นโปรดิวเซอร์ชื่อดัง และประทับใจหมู่บ้านกงจิน จะมาขอบ้านคุณยายกัมรีถ่ายรายการ ซึ่งในตอนแรกคุณยายปฏิเสธเสียงแข็ง ยังไงก็ไม่ยอม แต่เมื่อเขามาพบปะคุณยายบ่อย ๆ มาทำความสนิทสนม มาดูแลคุณยาย ก็เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน จนยอมให้โปรดิวเซอร์ใช้บ้านคุณยายถ่ายทำรายการได้
เพราะผู้สูงอายุจำนวนมาก เขาไม่ได้คิดอะไรซับซ้อน ชอบก็บอกชอบ ไม่ชอบก็บอกไม่ชอบ และบางครั้งก็อาจมีดื้อรั้นหรือระแวงสิ่งต่าง ๆ บ้าง หากแต่อาศัยความเข้าใจ และค่อย ๆ พูดจาสื่อสารกันด้วยความจริงใจ ที่จะทำให้ทั้งสองฝ่ายเปิดใจและทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน
ในเรื่องนี้จึงไม่ได้มีใครดีกว่าใคร ผู้สูงอายุในชนบทก็ปรับตัวเข้าหาคนหนุ่มสาวจากในเมืองได้ เช่นเดียวกับที่คนหนุ่มสาวในเมืองก็เข้าอกเข้าใจผู้สูงอายุในชนบทได้ อยู่ที่ทุกคนเปิดใจที่จะเรียนรู้และเข้าใจผู้อื่นในสิ่งที่เขาเป็น มิใช่ตั้งท่าปิดประตูและก่นด่ากันด้วยความคิดที่แตกต่างเพียงอย่างเดียว
ความเข้าอกเข้าใจถึงความไม่เท่าเทียมของโลก
ตัวละครหนึ่งที่มีความน่าสนใจคือ โอชุนแจ เจ้าของร้านกาแฟ พ่อหม้ายผู้มีความภูมิใจในฐานะอดีตนักร้องมีชื่อในระดับท้องถิ่น ทำให้เขามักชอบคุยกับผู้มาเยือนจากต่างถิ่นถึงความสำเร็จและความภูมิใจในอดีต ที่แม้จะไม่ประสบความสำเร็จในระดับสูง แต่ก็เป็นสิ่งที่สามารถคุยได้กับคนอื่นอย่างออกหน้าออกตา
ซึ่งเมื่อมองผ่านสายตาของนางเอกที่อยู่ในสังคมระดับกลาง-บน ของสังคมเมืองในกรุงโซล ทำให้มองเห็นว่าเจ้าของร้านกาแฟโอชุนแจนั้น ออกจะคุยเรื่องความสำเร็จของตนเองมากไปหน่อย ทั้งที่จริง ๆ ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จอะไรขนาดนั้น และยังคงยึดติดอยู่กับอดีตที่ผ่านมาแล้ว เหมือนคนที่ไม่สามารถก้าวออกมาอยู่กับปัจจุบันได้ จนนางเอกรู้สึกดูถูกและรำคาญ และได้มีการบ่นให้เพื่อนของตนฟัง
ปัญหาคือ คำพูดนั้นได้ถูกประกาศผ่านไมโครโฟนของหมู่บ้านระหว่างมีงานรื่นเริง จนทำให้งานหมดสนุก ประกอบกับการที่ก่อนหน้านั้น นางเอกก็แสดงท่าทีไม่ดีใส่คนอื่น ๆ ในหมู่บ้าน จนทำให้สุดท้ายนางเอกกลายเป็นที่รังเกียจของคนในหมู่บ้านแห่งนั้น
หลังเกิดเหตุ หัวหน้าฮง พระเอกของเรื่องได้มาคุยกับนางเอกว่า ‘ความจริงของโลกนี้ คือ โลกนี้มันไม่เท่าเทียมกัน’ ไม่ใช่ทุกคนที่พยายามแล้วจะประสบความสำเร็จหรือก้าวไปสู่จุดสูงสุดของหน้าที่การงาน หรือสถานะทางสังคมได้เหมือนกับนางเอกหรือว่าคนเมืองจำนวนมาก
คนเหล่านี้มีจำนวนมากในสังคม จนอาจเป็นคนส่วนใหญ่เสียด้วยซ้ำ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะมีโอกาส และมีความสามารถเหมือนกับนางเอกหรือเพื่อน ๆ ของเธอ
และการประสบความสำเร็จในชีวิตไม่ได้เป็นตัวชี้วัดความสัมพันธ์หรือความดีหรือความเป็นมนุษย์ที่แต่ละคนเป็น หากแต่เป็น ‘ความเข้าอกเข้าใจ’ และ ‘เห็นใจซึ่งกันและกัน’ (Empathy) ต่างหากที่จะช่วยทำให้การอยู่ร่วมกันในสังคมเป็นไปได้อย่างสงบสุขและราบรื่น
โอกาสการกระจายรายได้ลงชนบท : ความไม่ธรรมดาในความธรรมดา
นอกจากการปรับทัศนคติและความเข้าใจของคนเมือง-คนชนบท ความเข้าใจผู้สูงอายุและคนต่างวัยแล้ว หากมองให้ดีจะเห็นว่าการที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ พยายามทำให้ผู้ชมเห็นถึงความงามในความเรียบง่ายจากมุมต่าง ๆ ของเมืองหรือสถานที่ท่องเที่ยวในชนบท จนทำให้เกิดกระแสนักท่องเที่ยวแห่กันไปเที่ยวชมเมืองดังกล่าวเป็นจำนวนมากหลังชมภาพยนตร์
สอดคล้องกับที่ช่วง 2-3 ปีหลัง ทางกระทรวงวัฒนธรรมเกาหลีได้มีโปรเจกต์ชื่อ ‘Imagine Your Korea’ ซึ่งเป็นโปรเจกต์ที่โปรโมตการท่องเที่ยวเกาหลี (คล้ายกับ Amazing Thailand) โดยนำศิลปินเกาหลีไปเต้นหรือแสดง สร้างความสนุกสนานในสถานที่ท่องเที่ยวทั่วเกาหลี หลายที่ก็เหมือนจะเป็นสถานที่ธรรมดา ๆ ไม่มีอะไรน่าสนใจเป็นพิเศษ คล้ายกับเมืองกงจินในเรื่อง Hometown Cha-Cha-Cha
สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงยุทธศาสตร์ในการโปรโมตการท่องเที่ยวในชนบทหรือเมืองที่ไม่ใช่เมืองใหญ่ของเกาหลี คล้ายกับนโยบายโปรโมตการท่องเที่ยว ‘เมืองรอง’ ของรัฐบาลไทย แต่รัฐบาลเกาหลีทำมากกว่าแค่การให้เงินสนับสนุนนักท่องเที่ยว ด้วยการใช้ศิลปะและการบันเทิง เข้าไปกระตุ้นให้คนเห็นความงามและความน่าสนใจในความเรียบง่ายของวิถีชีวิตและสถานที่ในท้องถิ่นต่าง ๆ ซึ่งทำให้เกิดกระแสนักท่องเที่ยวที่อยากเปิดโลก หาสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ ๆ ที่น่าสนใจลงไปยังสถานที่เหล่านี้มากขึ้น อันเป็นการกระจายรายได้ลงสู่พื้นชนบทผ่านการท่องเที่ยว
ขณะเดียวกัน ในภาพยนตร์ยังแสดงให้เห็นถึง ‘โอกาสทางอาชีพ’ ที่มีเกิดขึ้นในชนบทด้วย เช่น การที่เมืองในชนบทมีผู้สูงอายุเยอะ อาชีพหมอฟันอย่างนางเอก ย่อมเป็นที่ต้องการ โดยเฉพาะในเมืองที่ห่างไกลที่ผู้เชี่ยวชาญด้านทักษะเฉพาะทางมีน้อย ยิ่งทำให้กิจการของนางเอกเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างสูง
หรือกรณีที่พระเอกซึ่งรอบรู้และเชี่ยวชาญ รวมถึงเป็นที่รักของคนในหมู่บ้าน ได้รับหน้าที่เป็นไกด์ท้องถิ่นให้กับกองถ่ายรายการที่มาจากเมืองโซล ก็แสดงให้เห็นว่าโอกาสทางอาชีพและการมีรายได้ในชนบทหรือเมืองที่ไม่ได้มีขนาดใหญ่นั้นมีอยู่เสมอ อยู่ที่ว่าเราจะมองเห็นโอกาสเหล่านั้นหรือไม่
การตั้งคำถามถึงเป้าหมายและความสุขที่แท้จริงของชีวิต
ตลอดทั้งเรื่อง ภาพยนตร์ได้พยายามสื่อให้คนที่รับชม ตั้งคำถามถึงเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิตและความสุขในชีวิตว่าคืออะไรกันแน่ ภาพยนตร์ทำให้เราเห็นโอกาสที่เกิดขึ้นในเมืองเล็ก ๆ ที่วิถีชีวิตเป็นไปอย่างเรียบง่าย แม้จะไม่ได้มีความเจริญทางวัตถุหรือความสะดวกสบายเหมือนในเมืองใหญ่
แต่ก็แทนที่ด้วยการใช้ชีวิตแบบมีปฏิสัมพันธ์กับคนในชุมชนแบบที่ไม่ต้องแก่งแย่งแข่งขันหรือชิงดีชิงเด่น อวดความสำเร็จหรือรสนิยมในการใช้ชีวิตใส่กัน รวมถึงมีธรรมชาติที่สมบูรณ์ อากาศที่สดชื่น อาหารการกินที่สดใหม่ เมืองที่ปราศจากรถติด หรือมลพิษทางเสียง อากาศ และอื่น ๆ
ทำให้หลายคนต้องกลับมาฉุกคิดว่า หรือจริง ๆ แล้วเราอาจไม่ต้องพุ่งมาอยู่กันแต่ในเมืองใหญ่ ที่แม้จะมีความสะดวกสบาย มีรายได้สูง มีโอกาสมาก แต่ก็แลกมากับสุขภาพกายและจิตที่ย่ำแย่ โดยเฉพาะในยุคนี้ที่การทำงานทางไกล หรือ Work from Everywhere กลายมาเป็นความคุ้นเคยใหม่ จากภาวะโควิด-19 ที่ทำให้โลกปรับตัวเข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ตและบริการทางดิจิทัลกันอย่างแพร่หลาย จนทำให้การทำงานหรือการประกอบกิจการบางอย่าง ไม่จำเป็นต้องมาตั้งออฟฟิศอาศัยในเมือง ในย่านเศรษฐกิจที่แออัด เต็มไปด้วยรถติดและมลภาวะ และสิ้นเปลืองพลังงานในการเดินทาง
หลายคนจึงเริ่มคิดแล้วว่าการออกไปหาโอกาสใหม่ ๆ ในเมืองรอง หรือในชนบทที่เราทั้งยังทำงานได้ และมีรายได้พอสมควร อาจเป็นทางเลือกใหม่ในการใช้ชีวิตเช่นกัน
รู้ลึก vs รู้กว้าง
อีกประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นข้างต้นก็คือ ความแตกต่างระหว่าง ‘รู้ลึก-รู้เฉพาะทาง’ ของนางเอกที่เป็นหมอฟัน กับ ‘รู้กว้าง’ ของพระเอกที่ทำอาชีพได้หลากหลาย มีทักษะรอบตัวไปหมด อย่างไหนดีกว่ากัน หรือแท้ที่จริงแล้วดีทั้งสองอย่าง
ในยุคศตวรรษที่ 21 เรามักพูดกันมากกว่า เป็นยุคของอาชีพที่หลากหลาย คือคนๆ หนึ่งอาจไม่ได้มีอาชีพเดียวอีกต่อไป และหลายองค์กร หลายประเภทงาน หลายกิจการ ก็ต้องการคนที่มีทักษะการใช้ชีวิตและประกอบอาชีพด้านอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ทักษะเฉพาะทางเช่นกัน
นี่จึงเป็นที่มาของกระแสการพัฒนา “Soft Skill” หรือทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตและการประกอบอาชีพ นอกเหนือจากทักษะเฉพาะทาง ภาพยนตร์เรื่องนี้เหมือนจะกระตุ้นให้คนรับชมได้ฉุกคิดถึงความสำคัญของ Soft Skill และการมีทักษะที่หลากหลายของพระเอก ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นมากในสังคมชนบทหรือในเมืองเล็ก ๆ ที่ไม่ใช่จะมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมากเหมือนในเมืองใหญ่ ดังนั้นคนที่รอบรู้และทำได้หลายอย่าง ย่อมได้เปรียบในบริบทดังกล่าว
แต่ถึงกระนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าทักษะรอบด้านดีกว่าทักษะเฉพาะทางแต่อย่างใด ทั้งสองต้องเกื้อกูลซึ่งกันและกัน สังคมถึงจะมีความหลากหลายและเดินหน้าไปได้ และเรื่องเด่นอีกประการที่ภาพยนตร์พยายามชี้ให้เห็น ก็คือ ทักษะต่าง ๆ ของพระเอกนั้น ไม่ได้มาจากการมีพรสวรรค์พิเศษ หรือเกิดมาก็ทำเป็นเลย แต่เกิดจากการเรียนรู้ ศึกษา ที่มีตอนหนึ่งหนังฉายภาพให้เห็นเลยว่าพระเอกทำไม่เป็น ก็เลยเปิด YouTube เปิดคลิป DIY ดูเพื่อเรียนรู้ที่จะทำให้เป็น
นี่เป็นการสอนทัศนคติแห่งการเรียนรู้ให้กับคนในสังคม ว่าวันนี้ความรู้มีอยู่รอบตัว ด้วยระบบอินเทอร์เน็ตที่ครอบคลุม หากแต่เราจะสนใจที่จะไปศึกษาและเรียนรู้พัฒนาตัวเองอยู่ตลอดหรือไม่ต่างหาก
บทสรุป
สิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้สอดแทรกมา คือความพยายามในการตั้งคำถามถึงคุณค่าและความสุขของการใช้ชีวิต ที่หลายคนเริ่มหลงลืมไป รวมทั้งยังกระตุกให้สังคมได้ฉุกคิดถึงประเด็นที่เริ่มมีความแตกต่างขัดแย้งกันมากขึ้นระหว่าง คนเมือง-คนชนบท, คนรุ่นใหม่-ผู้สูงวัย, คนรู้ลึก-คนรู้กว้าง, คนที่ประสบความสำเร็จ-คนที่พยายามแล้วแต่ไปได้ที่สุดที่ความสามารถและโอกาสของเขาจะไปถึง
ทั้งหมดนี้เป็นการปรับ มุมมอง ทัศนคติ และสร้างค่านิยมใหม่ให้กับสังคมสมัยใหม่ เพื่อที่ทุกคนจะได้มีความเข้าอกเข้าใจ เคารพซึ่งกันและกัน ทั้งคนเมือง-คนชนบท คนรุ่นใหม่-ผู้สูงอายุ และสามารถรักษาสมดุลระหว่างเสรีภาพส่วนบุคคลกับบริบททางสังคม และวัฒนธรรมไว้ได้อย่างกลมกลืน
แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ Blockdit : THE STATES TIMES
???? https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32