วิเคราะห์ ‘โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล’ แนวส่งน้ำยวม - อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล

ข้อสังเกตรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม บทที่ 9 การวิเคราะห์ด้านเศรษฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อม โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล

สรรสาระ ประชาธรรม คราวนี้มาด้วยเรื่องร้อน ๆ ของประเทศที่ว่าด้วยการมีโครงการระดับ 7 หมื่นล้านบาท และใช้เครื่องมือรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เป็นใบผ่านทาง ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์จึงเป็นหน้าที่ของผู้เขียนที่ต้องชี้ประเด็นว่า ในบทที่ 9 การวิเคราะห์ด้านเศรษฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อมนั้น มีข้อสังเกตสำคัญอะไรบ้างที่ ผู้รับผิดชอบต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการตัดสินใจใช้งบประมาณกว่า 7 หมื่นล้านบาทนั้น แท้ที่จริงมีทางเลือกอื่น ๆ อีกหรือไม่อย่างไร

เรื่องมีอยู่ว่า กรมชลประทานว่าจ้างกลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวรจัดทำรายงาน EIA โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล หลัก ๆ คือ ผันน้ำประมาณ 1.7 พันล้านลูกบาศก์เมตรมาเติมเขื่อนภูมิพลเพื่อนำน้ำดังกล่าวมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เนื่องจากเขื่อนภูมิพลมีความจุเหลือในหน้าฝน 

แต่การผันน้ำนั้นต้องสร้างเขื่อนน้ำยวม สถานีสูบน้ำ อุโมงค์ส่งน้ำ และระบบสายส่งไฟฟ้า ราคาโครงการรวมทั้งหมด 70,675 ล้านบาท ประกอบด้วย ราคาเขื่อนและระบบส่งน้ำ 65,485 ล้านบาท และราคาระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 5,190 ล้านบาท ดังนั้น ต้นทุนของโครงการประมาณ 7 หมื่นล้านบาท 

ในด้านต้นทุนนี้มีข้อสังเกตสำคัญ 2 ประการ คือ ข้อแรก ราคาที่ใช้เป็นเกณฑ์ราคาปี 2555 จากกรมบัญชีกลาง และ ข้อสอง ราคาระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูง จะไม่ถูกนำมาคิดในต้นทุนโครงการเพราะที่ปรึกษากล่าวว่า เป็นหน้าที่ของ กฟผ. 

สำหรับประโยชน์ของโครงการนั้น ที่ปรึกษา แบ่งเป็นการทำการเกษตรรูปแบบปัจจุบัน และการปรับปรุงการปลูกพืชฤดูแล้งตามความเหมาะสมของดิน โดยมีรายละเอียดผลประโยชน์คือ 
1.) ปริมาณน้ำผันเฉลี่ยปีละ 1.79 พันล้าน ลบ.ม. 
2.) ปริมาณน้ำเพื่อการเกษตร 1.49 พันล้าน ลบ.ม.ต่อปี 
3.) ปริมาณน้ำเพื่อการอุปโภคและอุตสาหกรรม 300 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี 
4.) พื้นที่เพาะปลูกฤดูแล้งเพิ่มขึ้น 1.61 ล้านไร่ต่อปี
และ 5.) เพิ่มการผลิตพลังงานไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าเขื่อนภูมิพล 417 ล้านหน่วยต่อปี ผลประโยชน์ของโครงการนั้น ที่ปรึกษาได้แจกแจงไว้ ดังนี้

ที่ปรึกษาได้แจกแจงไว้ในตารางที่ 1 ดังนี้
ตารางที่ 1 ผลประโยชน์ของโครงการ

ที่มา: บริษัทที่ปรึกษา

หมายเหตุ: 1.) กรณีที่ 1 การปลูกพืชฤดูแล้งในรูปแบบปัจจุบัน กรณีที่ 2 ปรับปรุงการปลูกพืชฤดูแล้งตามความเหมาะสมของดิน
2.) ผลประโยชน์จะเกิดขึ้นในปีที่ 7 เป็นต้นไป

เมื่อที่ปรึกษาคำนวณโดยใช้ต้นทุนและผลประโยชน์ (Cost-Benefit Analysis) จะได้ว่าโครงการนี้จะคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์เมื่ออัตราดอกเบี้ยประมาณร้อยละ 8 ในกรณีที่ 1 

สำหรับกรณีที่ 2 นั้นคุ้มค่าทุกระดับอัตราดอกเบี้ย เพราะมีค่าผลประโยชน์สุทธิเป็นบวก มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมากกว่าอัตราดอกเบี้ย มีอัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุนมากกว่าหนึ่ง ตามตารางที่ 2

ตารางที่ 2 การวิเคราะห์ต้นทุนผลประโยชน์ทางเศรษฐศาสตร์

ที่มา: บริษัทที่ปรึกษา

หมายเหตุ: 1.) กรณีที่ 1 การปลูกพืชฤดูแล้งในรูปแบบปัจจุบัน กรณีที่ 2 ปรับปรุงการปลูกพืชฤดูแล้งตามความเหมาะสมของดิน
2.) ผลประโยชน์จะเกิดขึ้นในปีที่ 7 เป็นต้นไป

ข้อสังเกตสำคัญเบื้องต้น 3 ประการ คือ
ประการที่ 1 โครงการนี้ใช้วิธีคำนวณที่แปลกประหลาดคล้ายกับการศึกษา EHIA เขื่อนแม่วงก์ เพราะต้นทุนการผลิตไฟฟ้าไม่ถูกคิดในการคำนวณ ในขณะที่ผลประโยชน์ไฟฟ้าที่ได้กลับนำมาใส่ไว้ในโครงการ ซึ่งโดยปกติแล้ว การคำนวณผลกระทบโดยรวม มีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องแสดงข้อมูลไว้โดยไม่คำนึงว่าโครงการเป็นของใคร เพราะเป็นการคิดเรื่องต้นทุนและผลประโยชน์ของโครงการทั้งหมด

ดังนั้น หากนำต้นทุนระบบสายส่งมาใส่ไว้ในการคำนวณจะทำให้โครงการนี้มีปัญหาตั้งแต่ต้นโดยเฉพาะในกรณีที่ 1

ประการที่ 2 โครงการนี้ประเมินต้นทุนต่ำเกินไปโดยการใช้เกณฑ์ราคาในปี 2555 ของกรมบัญชีกลาง การใช้ต้นทุนที่ไม่สะท้อนภาวะที่ควรจะเป็นจะทำให้การคำนวณต้นทุนและผลประโยชน์ผิดพลาดและนำไปสู่การตัดสินใจผิดพลาดได้ หมายถึง ตอนตัดสินใจสร้างใช้ข้อมูลตัดสินใจตามตารางที่ 2 แต่ตอนจะสร้างจริงต้องเพิ่มงบประมาณการก่อสร้างอีกจำนวนมาก ทำให้การตัดสินใจนั้นเป็นการตัดสินใจอนุมัติโครงการที่ไม่คุ้มค่าตั้งแต่ต้น ซึ่งส่งผลเสียต่อการใช้งบประมาณในภาพรวมของประเทศ

ประการที่ 3 การผันน้ำเฉลี่ยปีละ 1.79 พันล้าน ลบ.ม. นั้น เมื่อเติมลงในเขื่อนภูมิพลนั้น ก็จะกักเก็บไว้จนกระทั่งฤดูแล้งแล้วนำน้ำนั้นมาบริหารจัดการ มองเผิน ๆ ก็เป็นเรื่องดี เพราะมีน้ำต้นทุนเพิ่มมากขึ้น แต่ในกรณีนี้ ผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับมวลน้ำ 1.79 พันล้าน ลบ.ม.ต่อปี ขัดกับโลกความจริงไปสักหน่อย เพราะไม่ได้คำนวณอัตราการระเหยของน้ำซึ่งอาจมากถึง ร้อยละ 30 ดังนั้น หากคำนวณว่าการระเหยของน้ำนั้น อยู่ระหว่างร้อยละ 10 ถึงร้อยละ 30 จะทำให้ผลประโยชน์ของโครงการลดลงร้อยละ 10 ถึงร้อยละ 30 เช่นกัน และกระทบกับตารางที่ 2 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ยังมีประเด็นที่น่าสนใจอีกมากในการคำนวณต้นทุนและผลประโยชน์ของโครงการนี้ ซึ่งผู้เขียนจะนำมาอธิบายเพิ่มเติมในลำดับถัดไป เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพว่า รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ดี แต่หากใช้ผิดคำนวณผิดก็นำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดได้เช่นกัน


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ Blockdit : THE STATES TIMES 
???? https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32