“Soft Power” เครื่องมือเปลี่ยนแปลงประเทศ สร้างชาติ - เศรษฐกิจ

ย้อนกลับไปดูในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา กระแส Soft Power ถูกนำกลับมาพูดอีกครั้ง ผ่านความสำเร็จใน Solo เดี่ยวครั้งแรกของ “ลิซ่า Blackpink” และเกิดการตั้งคำถามว่า ความสำเร็จในครั้งนี้ มีปัจจัยอะไรประกอบกันบ้าง เพราะหลังจากที่ได้ปล่อยเพลงออกมาพร้อมกับมิวสิกวิดีโอ ดูเหมือนว่าทุกอย่างในมิวสิกวิดีโอจะกลายมาเป็นกระแสให้ถูกพูดถึง และข่าวทุกช่อง ทุกสำนักมีการนำเสนอ เช่น การนับจำนวนเสื้อผ้าที่ใส่ใน MV ว่ามีทั้งหมดกี่ชุด, ฉากต่าง ๆ ในมิวสิกวิดีโอที่มีการวิเคราะห์องค์ประกอบต่าง ๆ ส่งผลให้มีการ Cover ทั้งจากคนดังในวงการบันเทิง และคนทั่วไปอย่างท่วมท้น รวมไปถึงยอดวิวในยูทูบและยอดสั่งจองซิงเกิลที่ประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลาย

กระแสความแรงของลิซ่าไม่ได้อยู่แค่ในผลงานของตัวเอง แต่อิทธิพลความดังและการเป็นผู้นำทางความคิดยังแสดงให้เห็นผ่านการให้สัมภาษณ์ในรายการ “วู้ดดี้โชว์” ที่ได้พูดถึงอาหารโปรดของลิซ่า นั่นก็คือ “ลูกชิ้นยืนกิน” ที่มีน้ำจิ้มพริกเผารสเด็ดเป็นจุดเด่น อยู่หลังสถานีรถไฟบุรีรัมย์ ที่คุณแม่เคยพาไปกินสมัยเด็ก ๆ จากนั้นก็ทำให้กระแสการกินลูกชิ้นโด่งดังเพียงชั่วข้ามคืน ขายดิบขายดี มีทั้งส่งในประเทศและส่งออกต่างประเทศ หรือแม้แต่การจัดงานเป็นเทศกาล มีการกินลูกชิ้น การแสดง Cover เพลงและแต่งตัวตามในมิวสิควิดีโอของลิซ่า ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวให้กับจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งถือว่าทำให้เศรษฐกิจคึกคักขึ้นมาได้ในช่วงที่ต้องประสบกับสภาวะโควิด-19 แบบนี้ 

นี่คือความ Mass ที่สามารถเข้าถึงมวลชนได้อย่างไร้ที่ติ ผ่านการนำเสนอจากทุกช่องทางของสื่อมวลชน กลายเป็นผู้นำทางความคิด และเกิดกระแสการถ่ายทอดวัฒนธรรมให้ได้เห็นกันจากปรากฏการณ์นี้ ความสำเร็จนี้ จากทั้งความสามารถของลิซ่า และการฝึกฝนของค่าย YG Entertainment ที่ทำให้ลิซ่าได้กลายมาเป็นศิลปินที่มีผลงานอย่างโดดเด่น ประสบความสำเร็จทั้งในระดับเอเชียและทั่วโลก แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของ Soft Power ที่เราชอบพูดถึงกันนั้นมันเป็นอย่างไร 

กระแสลิซ่ากลายเป็นกรณีศึกษาทั้งในแวดวงบันเทิง และวงการการศึกษาในแง่มุมต่าง ๆ ที่เราได้เห็นบทสัมภาษณ์ของนักวิชาต่าง ๆ ได้ออกมาถ่ายทอดแต่ละมุมมองที่ต่างกันไป ทั้งเรื่องของเพลง ศิลปะ วัฒนธรรม เครื่องแต่งกาย ซึ่งทุกคนได้เห็นแล้วว่าแม้จะเป็นเพลงที่ร้องผ่านภาษาเกาหลีและภาษาอังกฤษ แต่ความสากลของดนตรี ก็มิได้เป็นอุปสรรคที่ขวางกั้นเรื่องของภาษา เหมือนกับซีรีส์เกาหลีเรื่องต่าง ๆ ที่เราได้ดูและชื่นชอบ ก้าวข้ามผ่านจากความสำเร็จในประเทศ ออกสู่ต่างประเทศและขยายไปในวงกว้าง 

ซึ่งนอกจากปรากฏการณ์ความสำเร็จของลิซ่าในช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ที่ถูกพูดถึงและหยิบยกมาศึกษา อีกหนึ่งกรณีตัวอย่างที่ตอกย้ำความสำเร็จว่าการจะขายวัฒนธรรมของประเทศ คือการคุยในเรื่องที่พลเมืองโลกสนใจ แม้จะเป็นงานทางด้านดนตรี ก็ต้องมีการสร้างสรรค์งานที่ทำให้คนยอมรับได้ในแบบสากล

ซึ่งกรณีของวง “BTS” ก็ถูกกล่าวถึงในเรื่องนี้มาสักพักแล้วกับความสำเร็จระดับโลกที่หลาย ๆ คนน่าจะทราบถึงพลังความสำเร็จของศิลปินวงนี้เป็นอย่างดี ล่าสุด เราก็เพิ่งจะได้เห็นข่าวการปรากฏตัวของวง BTS ในฐานะทูตพิเศษด้านคนรุ่นใหม่และวัฒนธรรมของประธานาธิบดีเกาหลีใต้ และได้ร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ในการกล่าวสุนทรพจน์บนเวทีสหประชาชาติหรือยูเอ็น (UN) สำนักงานใหญ่ในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ในการถ่ายทอดเรื่องราวที่พวกเค้าต้องได้เจอเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และมีการโชว์เพลง “Permission to Dance” ที่โถงประชุมใหญ่ยูเอ็น ไปจนถึงด้านนอกอาคารยูเอ็น และล่าสุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา กับการอีกหนึ่งปรากฏการณ์ทางดนตรีของปี 2021 นี้เลยก็ว่าได้ กับการปล่อยมิวสิควิดีโอเพลงใหม่ ซึ่งเป็นการทำงานเพลงร่วมกันของ BTS และ Coldplay กับซิงเกิล My Universe ซึ่งความตั้งใจของเพลงนี้ ก็ต้องการให้เห็นว่าพลังความรักนั้นอยู่เหนือทุกสิ่ง แม้แต่เรื่องเพลงและงานดนตรี ที่ก็จะไม่มีอะไรมากั้นขวางได้เช่นกัน 

นี่คือการต่อยอดความสำเร็จ จากการเป็นศิลปิน สู่การเป็นผู้นำทางความคิด ซึ่ง ณ วันนี้ เรายังคงใช้คำจำกัดความของปรากฏการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ ว่าเป็น “Soft Power” แต่ในวินาทีนี้ อิทธิพลของศิลปินที่สามารถกลายขึ้นมาเป็นกระบอกเสียงให้กับประเด็นต่าง ๆ ในสังคมได้ และถ้ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในระดับวงกว้าง ผู้เขียนคิดว่า เราอาจจะต้องเพิ่มระดับของคำว่า Soft Power เป็น “Soft Power Plus” หรือ คำอื่น ๆ ได้หรือยัง ??? ในเมื่อวงการบันเทิง ไม่ใช่แค่เรื่องบันเทิงอีกต่อไป แต่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศ เศรษฐกิจ และการเมือง อาจจะต้องมีการนิยมคำว่า Soft Power กันใหม่ในอนาคตก็เป็นได้!!