เจ็บแล้วไม่จบ! ภาวะ “Long covid” อาการเรื้อรังของคนเคยติดโควิด-19 ที่ยังต้องฟื้นฟู!!

Long covid หรือโควิดเรื้อรัง คือ อาการที่เกิดขึ้นภายหลังจากการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (covid-19) แม้ว่าร่างกายจะปลอดเชื้อโควิดแล้ว แต่อาการเจ็บป่วยเรื้อรังนี้จะคงอยู่ยาวนานมากกว่า 12 สัปดาห์ มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (covid-19) ลงสู่ปอดหรือมีโรคเรื้อรังร่วมด้วย ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ เหนื่อยง่าย หายใจไม่เต็มปอด หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

สาเหตุของ Long covid
> การติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (covid-19) ลงปอด ส่งผลให้ปอดทำงานหนัก ปอดสูญเสียความยืดหยุ่น ส่งผลให้แลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ไม่เต็มที่
> ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง
> ไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย เพราะต้องถูกกักตัวเป็นเวลานาน
> ภาวะเครียดกังวลทางจิตใจ

อาการของ Long covid
> รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
> หายใจลำบาก หายใจไม่อิ่ม เจ็บแน่นหน้าอก
> มีปัญหาเกี่ยวกับการได้กลิ่นและการรับรสชาติ
> ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อต่อต่าง ๆ 
> ท้องเสีย ปวดท้อง ความอยากอาหารลดลง
> ผื่นขึ้น ผมร่วง
> นอนไม่หลับ มีปัญหาด้านความจำ ขาดสมาธิ เครียด วิตกกังวล

ภาวะแทรกซ้อนจาก Long covid
> กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
> สมองล้า
> โรคนอนไม่หลับ
> โรคปวดเรื้อรัง
> กล้ามเนื้ออ่อนแรง

การฟื้นฟูสำหรับผู้ที่มีภาวะ Long covid
1.) การฝึกหายใจโดยใช้กระบังลม
ประโยชน์ : ช่วยให้ปอดขยายเต็มที่ เพิ่มออกซิเจนสู่ร่างกายและช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย
วิธีการ
-    นั่งหลังตรงในท่าทางผ่อนคลาย
-    มือทั้ง 2 ข้างวางไว้ที่หน้าท้อง (บริเวณใต้ลิ้นปี่)
-    หายใจเข้าทางจมูกให้เต็มที่ ลึก ๆ ยาว ๆ ระหว่างทำจะรู้สึกว่าหน้าท้องป่องขึ้น
-    หายใจออกทางปากช้าๆ ยาวๆ 
-    ฝึกหายใจ 3-5 รอบต่อครั้งแล้วพัก 1 นาที ทำได้บ่อยเท่าที่ไม่รู้สึกเหนื่อย

2.) การจัดท่า
ประโยชน์ : ช่วยให้หายใจได้สะดวกมากขึ้น ลดภาวะหอบเนื่อย
วิธีการ
-    นอนตะแคงศีรษะสูง

-    นั่งหรือยืนโน้มตัวไปทางด้านหน้า

3.) การออกกำลังกาย
สำหรับผู้ที่หายป่วยจากการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (covid-19) ยังไม่แนะนำให้ออกกำลังกายหนักมากเกินไปหรือออกกำลังกายจนรู้สึกเหนื่อยเกินไป ควรปรับให้ออกกำลังแบบเบา ๆ ก่อน เช่น อดีตเคยวิ่งอาจปรับเป็นเดินก่อน เพื่อให้ร่างกายค่อย ๆ ปรับตัว ไม่ให้ปอดทำงานหนักเกินไป

พยายามควบคุมระดับการเต้นของหัวใจไม่ให้มากเกิน 15 ครั้งต่อนาทีจากอัตราการเต้นของหัวใจเฉลี่ย เพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะเหนื่อยล้าจากการออกกำลังกาย

ทั้งนี้ ควรอบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลังกาย (warm up) และผ่อนคลายร่างกายหลังออกกำลังกาย (cool down) ประมาณ 5 นาที โดยเน้นการยืดเหยียดกล้ามเนื้อเพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย

4.) ฝึกสมาธิ ความจำและบริหารสมอง
-    หางานอดิเรกหรือกิจกรรมที่ชอบทำเพื่อความผ่อนคลาย เช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือ
-    ฝึกเล่นเกมทายคำ, จับคู่ภาพ หรือเกมที่ฝึกทักษะอื่น ๆ
-    ฝึกทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ด้วยตัวเอง

5.) การจัดการกับความเครียดและความวิตกกังวล
-    พยายามปรับเวลาตื่นและเข้านอนให้เป็นเวลา และพยายามพักผ่อนให้ได้วันละ 7 ชั่วโมง
-    หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์
-    รับประทานอาหารครบ 5 หมู่และมีประโยชน์
-    อย่าใช้เวลาอยู่กับโทรศัพท์มือถือหรือดูสื่อโซเชียลมากเกินไป
-    ฝึกหายใจและออกกำลังกายทีละน้อยเมื่อไม่มีอาการผิดปกติ


ขอบคุณเอกสารอ้างอิงจาก : 
-Long COVID and Rehabilitation by World Physiotherapy
-Support for Rehabilitation Self-Management after COVID-19-Related Illness. Copenhagen: WHO Regional for Europe.
-https://www.nhs.uk/conditions/coronavirus-covid-19/long-term-effects-of-coronavirus-long-covid/
-สมาคมกายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย
-ชมรมกายภาพบำบัดระบบหายใจ หัวใจและหลอดเลือดแห่งประเทศไทย


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ Blockdit : THE STATES TIMES 
???? https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32