“บิ๊กตู่” ยินดีไทยขยับอันดับความสามารถด้านนวัตกรรมสูงที่ 43 ของโลกและคว้าอันดับ 3 ของอาเซียน  แม้ในช่วงโควิด-19 

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีกับผลการจัดอันดับรายงานดัชนีนวัตกรรมโลก ประจำปี 2564 (Global Innovation Index 2021: GII 2021) โดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization-WIPO) ภายใต้หัวข้อ การติดตามการปรับตัวระบบนวัตกรรมในภาวะวิกฤติโควิด-19 (Tracking Innovation through the COVID-19 Crisis) ซึ่งประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่ 43 จากทั้งหมด 132 ประเทศทั่วโลก และถือเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศในกลุ่มอาเซียน รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย และอันดับที่ 5 ของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางโดยการจัดอันดับ GII 2021 มุ่งเน้นการวิเคราะห์ผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 ที่มีต่อการพัฒนาระบบนวัตกรรม โดยมีองค์ประกอบมิติชี้วัดนวัตกรรม 7 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มปัจจัยด้านสถาบัน, 2) กลุ่มปัจจัยด้านทุนมนุษย์และการวิจัย, 3) กลุ่มปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน, 4) กลุ่มปัจจัยด้านระบบการตลาด, 5) กลุ่มปัจจัยด้านระบบธุรกิจ, 6) กลุ่มปัจจัยด้านผลผลิตจากองค์ความรู้และเทคโนโลยี และ 7) กลุ่มปัจจัยด้านผลผลิตจากความคิดสร้างสรรค์ 
 
นายธนกร กล่าวว่า ทั้งนี้ ประเทศไทยมีคะแนนโดดเด่นมากที่สุดในกลุ่มปัจจัยด้านระบบการตลาด และกลุ่มปัจจัยด้านระบบธุรกิจ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายมวลรวมภายในประเทศสำหรับการวิจัยและพัฒนาซึ่งลงทุนโดยองค์กรธุรกิจ ไทยยังคงครองอันดับ 1 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 สะท้อนให้เห็นการลงทุนของภาคเอกชนในไทยที่มุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจด้วยการพัฒนานวัตกรรมมากขึ้น อีกทั้ง ไทยยังเป็นอันดับที่ 9 ของประเทศที่เป็นเจ้าของอนุสิทธิบัตรมากที่สุด นอกจากนี้ กลุ่มปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน ในกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีการปรับอันดับดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากอันดับที่ 79 เป็นอันดับที่ 60 โดยตัวชี้วัดส่วนใหญ่เป็นเรื่องการเข้าถึงและการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมถึงการบริการออนไลน์ของภาครัฐ สะท้อนให้เห็นการปรับตัวของภาครัฐและภาคเอกชนในช่วงวิกฤตโควิด-19 
 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม (Value-Based Economy) ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อยกระดับการพัฒนาประเทศและก้าวข้ามกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง โดยจากปัจจัยชี้วัดฯ สะท้อนให้เห็นว่าไทยมีความสามารถด้านนวัตกรรมสูงขึ้น แม้ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ รัฐบาลยืนยันความมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าพัฒนาประเทศด้วยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป