หลายประเทศในอาเซียนเริ่มทิ้งนโยบายโควิดเป็นศูนย์ หันหน้าสู่การอยู่ร่วมกับโควิด ด้านผู้เชี่ยวชาญกังวล อาจจะเกิดความสูญเสียอีกครั้ง

หลายชาติในอาเซียนละทิ้งนโยบาย “Zero-Covid” หรือ โควิดเป็นศูนย์ เพื่อเปิดประเทศฟื้นฟูเศรษฐกิจ ท่ามกลางความกังวลของผู้เชี่ยวชาญว่าอาจจะสร้างความเสียหายครั้งใหญ่

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า หากเปิดพรมแดนรับนักท่องเที่ยว ทั้งที่ประชาชนในประเทศที่ได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 ครบถ้วน ยังมีจำนวนต่ำอยู่ อาจทำให้ระบบสาธารณสุขต้องรับผู้ป่วยโควิดจนล้นมืออีกครั้ง

สำนักข่าว CNN รายงานว่า โควิด-19 ได้ระบาดหนักในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา เนื่องจากเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ Delta ที่แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว

แต่หลังจากใช้มาตรการล็อกดาวน์ หรือ จำกัดการเคลื่อนที่ตั้งแต่เดือนมิถุนายน - สิงหาคม เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด ขณะนี้หลายชาติในอาเซียน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย กำลังละทิ้งนโยบาย “Zero-Covid” หรือ “โควิดเป็นศูนย์” หันมาหาทางใช้ชีวิตอยู่กับโควิด-19 ให้ได้ และกำลังมองหาการฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ด้วยการเปิดพรมแดนรับนักเดินทางจากต่างประเทศอีกครั้ง

จบนโยบาย ‘โควิดเป็นศูนย์’

มาเลเซียและอินโดนีเซีย บังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ ขณะที่ไทยและเวียดนามล็อกดาวน์ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง ภายใต้ข้อจำกัดเหล่านี้, ผู้คนนับล้านได้รับคำสั่งให้อยู่บ้าน และห้ามการเดินทางภายในประเทศ โรงเรียนปิดทำการเรียนการสอน การขนส่งสาธารณะถูกระงับ และห้ามการชุมนุม

ผลที่ได้คือ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงทั่วทั้งภูมิภาค แม้ว่าจะยังอยู่ในระดับสูง โดยข้อมูลจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ระบุว่า ฟิลิปปินส์มีรายงานผู้ป่วยรายใหม่เกือบ 20,000 คนต่อวัน

ส่วนไทย เวียดนาม และมาเลเซีย มีการบันทึกผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 15,000 คน ทุกๆ 24 ชั่วโมง ขณะที่อัตราการติดเชื้อของอินโดนีเซียลดลงมากที่สุด มีรายงานผู้ติดเชื้อ ไม่กี่พันคนต่อวัน

ผ่านจุดพีค เริ่มเปิดประเทศ

จุดสูงสุดของการระบาดเพิ่งผ่านพ้นไป ขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ก็ยังต่ำมากในหลายพื้นที่ แต่รัฐบาลหลายชาติในอาเซียน ก็เตรียมจะเปิดประเทศรับนักเดินทางต่างชาติอีกครั้งแล้ว

สำนักข่าว Reuters รายงานว่า เวียดนามวางแผนที่จะเปิดเกาะฟูกว๊อก รีสอร์ทตากอากาศชื่อดัง สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้งในเดือนหน้า รัฐบาลเวียดนามให้เหตุผลว่า แรงกดดันทางเศรษฐกิจทำให้ต้องตัดสินใจเช่นนี้

ด้านรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวเวียดนามระบุว่า การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบร้ายแรง ต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ขณะที่ล่าสุดรายงานจาก CNN ระบุว่า มีประชากรน้อยกว่า 7% ของประชากรที่ได้รับวัคซีนต้านโควิดครบถ้วน

อย่างไรก็ตามเวียดนามก็เพิ่ง ลงนามในข้อตกลงสั่งซื้อวัคซีนอับดาลา 10 ล้านโดสจากคิวบา กลายเป็นประเทศต่างชาติประเทศแรกที่อนุมัติใช้วัคซีนอับดาลาเป็นกรณีฉุกเฉินเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (18 กันยายน) คิวบายังจะถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีนนี้ให้เวียดนามภายในสิ้นปีนี้ด้วย

และก่อนหน้านี้รัฐบาลเวียดนามแถลงบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการถ่ายโอนเทคโนโลยีสำหรับผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ของรัสเซียและสหรัฐฯ ด้วยความพยายามที่จะเพิ่มขีดความสามารถด้านวัคซีนของประเทศ

เปิดเกาะบาหลีและลังกาวี

อินโดนีเซีย ซึ่งฉีดวัคซีนต้านให้กับประชากรครบถ้วนมากกว่า 16% ได้ผ่อนคลายข้อจำกัดต่างๆ เช่นกัน โดยอนุญาตให้เปิดใช้พื้นที่สาธารณะอีกครั้ง และอนุญาตให้โรงงานกลับมาทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจได้รับอนุญาตให้เข้าไปในบางที่ของประเทศ รวมทั้งเกาะบาหลี ภายในเดือนตุลาคม

มาเลเซีย มีอัตราการฉีดวัคซีนต้านโควิดสูงสุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค ประชากรมากกว่า 56% ได้รับการฉีดวัคซีนครบแล้ว เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้เปิดเกาะลังกาวีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศได้เดินทางไปพักผ่อนอีกครั้ง ขณะที่หลายรัฐได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการ และข้อจำกัดต่างๆ สำหรับผู้ได้รับวัคซีนต้านโควิด รวมถึงการรับประทานอาหารภายในร้านและการเดินทางระหว่างรัฐ รัฐบาลมาเลเซียเตรียมจะประกาศเข้าสู่ระยะโควิดเป็นโรคประจำถิ่นในเดือนตุลาคมนี้

สิงคโปร์จะไม่ใช้นโยบายปลอดโควิดแล้ว

ในบรรดาประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิงคโปร์ ที่ล่าสุด มีประชากรฉีดวัคซีนครบถ้วน 79.8% ได้เผยท่าที ในการเปลี่ยนจากนโยบาย "ปลอดโควิด" หรือ Zero-covid ก่อนหน้านี้อย่างชัดเจน

อภิสิทธิ์ ริมัล ผู้ประสานงานด้านสาธารณสุขฉุกเฉินระดับภูมิภาคของสหพันธ์กาชาดสากลระบุว่า แม้ว่าชาติอื่นๆ ในอาเซียน จะยังไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ แต่เตรียมเปิดประเทศอีกอย่างรวดเร็ว แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลกำลังชั่งน้ำหนักถึงความยั่งยืนในระยะยาวของกลยุทธ์ดังกล่าว

ริมัล กล่าวด้วยว่า มีการพูดคุยกันในหมู่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ว่า ชะตากรรมของโควิดจะเป็นอย่างไรต่อไป สถานการณ์หนึ่งที่เป็นไปได้ คือ มันจะเป็นโรคประจำถิ่นที่ก้าวไปข้างหน้า และโควิดจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา

นักวิเคราะห์จาก CNN มองว่า ในอีกแง่นึง การเปิดประเทศอีกครั้งอย่างรวดเร็วของภูมิภาคนี้สะท้อนให้เห็นถึงแนวทาง "การใช้ชีวิตร่วมกับโควิด" ในประเทศตะวันตก เช่น สหราชอาณาจักรและบางส่วนของสหรัฐอเมริกา ที่ซึ่งการใช้ชีวิตประจำวันได้กลับมาเป็นตามปกติ ล่าสุด สหรัฐฯ ประกาศจะยกเลิกห้ามการเดินทางเข้าประเทศในเดือนหน้า แก่ผู้ที่ได้รับวัคซีนต้านโควิดครบถ้วน

อันตรายจากการเปิดประเทศเร็วเกินไป

หลายประเทศที่เริ่มกลับมาใช้ชีวิตกับโควิด เช่น สหราชอาณาจักร มีผู้ได้รับวัคซีนครบถ้วน 65% ขณะที่แคนาดาเกือบ 70% และจะมีผู้ติดเชื้อพุ่งสูงหลังจากเปิดประเทศ แต่ตัวเลขของผู้เสียชีวิตและต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลยังคงต่ำในประเทศเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงประโยชน์จากการฉีดวัคซีน

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า อัตราการฉีดวัคซีนต้านโควิดในบางประเทศในอาเซียนที่ยังต่ำอยู่ ไม่ถึง 70-80% ที่เป็นอัตราที่ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้น รวมทั้งฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไทย จะทำให้การเปิดประเทศอีกครั้ง มีความเสี่ยงมากกว่าในประเทศตะวันตก

หยาน จงหวง ผู้อาวุโสด้านสาธารณสุขระดับโลกของศูนย์คลังสมอง สภาวิเทศสัมพันธ์ ระบุว่า หากอัตราการฉีดวัคซีนต้านโควิดที่มีประสิทธิภาพสูงไม่มากพอ ก่อนที่จะยกเลิกข้อจำกัดต่างๆ ระบบการดูแลสุขภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจล้นมืออย่างรวดเร็ว และผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจะมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นจนล้นห้อง ICU นอกจากนี้ เตียงผู้ป่วย เครื่องช่วยหายใจ ก็จะขาดแคลน

ขณะที่นักวิเคราะห์จาก CNN มองว่า ถึงแม้จะมีความเสี่ยงที่ระบบสาธารณสุขล้นมือ หากเปิดพรมแดนรับนักเดินทางต่างชาติเข้าประเทศ แต่สำหรับผู้นำหลายชาติในอาเซียน อาจไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะแม้ว่าวัคซีนต้านโควิดยังไม่เพียงพอ และหลายประเทศไม่น่าจะได้รับวัคซีนต้านโควิดจำนวนมากในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า แต่ว่าถ้าไม่ทำอะไรเลย ประชาชนก็ต้องสูญเสียโอกาสในการทำงาน ถูกกักตัวอยู่กับบ้าน และเผชิญกับปัญหาปากท้อง


ที่มา : https://www.tnnthailand.com/news/world/91673/