'กรมอนามัย' ชี้ ครูฉีดวัคซีนแล้วกว่า 8.9 แสนราย เผยสถิติเด็กติดเชื้อ 1.2 แสนคน ตาย 15 ราย
เมื่อวันที่ 14 กันยายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย แถลงมาตรการแซนด์บอกซ์ (Sand Box) ในโรงเรียนว่า สถานการณ์โควิด-19 ในกลุ่มเด็กวัยเรียน วัยรุ่น ที่อยู่ในช่วงอายุ 6-18 ปี ข้อมูลตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 เม.ย. - 11 ก.ย.64 มีผู้ติดเชื้อสะสม 129,165 ราย แบ่งเป็น เดือน เม.ย. พบ 2,426 ราย, พ.ค. เพิ่มขึ้น 6,432 ราย, มิ.ย. 6,023 ราย, ก.ค. 31,377 ราย และ ส.ค. สูงถึง 69,628 ราย จำนวนนี้เป็นคนไทย 90% และชาวต่างชาติ 10% ผู้เสียชีวิตสะสม 15 ราย ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว
โดยจังหวัดที่พบการติดเชื้อสูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร รองมาเป็นปริมณฑล และจังหวัดชายแดนใต้ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มผู้ติดเชื้อในกลุ่มเด็กวัยเรียนวัยรุ่น แม้ว่าไม่เปิดเรียน แต่ยังพบการติดเชื้อ นั่นหมายถึงส่วนหนึ่งเกิดการติดเชื้อในครอบครัว และการสัมผัสผู้ติดเชื้อยืนยัน รวมถึงการค้นหาเชิงรุกด้วย
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า การรับวัคซีนโควิด-19 ในบุคลากรทางการศึกษา เช่น ครู บุคลากรอื่นในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ข้อมูลรายงานเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 64 พบว่า มีผู้รับวัคซีนเข็มที่ 1 และเข็ม 2 รวมกันทั้งสิ้น 897,423 ราย คิดเป็น 88.3% โดยผู้ยังไม่รับวัคซีนอีก 118,889 รายคิดเป็น 11.7% ขณะที่เด็กอายุ 12-18 ปี ในกลุ่มที่มีโรคประจำตัว ข้อมูลรายงานเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 64 ได้รับวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 1 จำนวน 74,932 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 3,241 ราย
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า กรมอนามัย ร่วมกับ ศธ. ดำเนินมาตรการแซนด์บอกซ์ เซฟตี้ โซน อิน สคูล (Sand Box Safety zone in School) ที่นำร่องในโรงเรียนประจำ สามารถจัดเรียนแบบไฮบริดจ์ ด้วยการเรียนออนไซต์ร่วมกับออนไลน์ คัดเลือกโรงเรียนโดยคำนึงถึง 3 ด้านสำคัญ คือ
1.) การบริหารจัดการ ที่มีความพร้อมจากโรงเรียน ผู้ปกครองและชุมชนโดยรอบ รวมถึงได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด กำหนดว่าต้องเตรียมสถานที่แยกกักตัวในโรงเรียน (School Isolation) จัดแบ่งโซนในโรงเรียนเป็น (1.) โซนคัดกรอง (2.) โซนกักกันผู้ที่มีความเสี่ยง และ (3.) โซนเซฟตี้ เพื่อทำกิจกรรม ทั้งนี้ ทีมตรวจราชการบูรณาการร่วมกัน 2 กระทรวง ต้องติดตามผลการดำเนินการผ่านระบบของกระทรวงศึกษาฯ หรือ MOECOVID และ Thai Stop COVID Plus
2.) ด้านบุคลากรและนักเรียน หากจะเรียนออนไซต์ นักเรียนต้องมีผลการตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท (ATK) เป็นลบ ทำกิจกรรมร่วมกันเป็นกลุ่มและแต่ละกลุ่มต้องไม่สัมผัสกัน การควบคุมกำกับเรื่องการเดินทาง รวมถึงการประเมินความเสี่ยงทั้งประวัติ พฤติกรรมและอาการเสี่ยง เป็นระยะผ่านแอปพลิเคชัน ไทยเซฟไทยและอื่น ๆ ส่วนสำคัญ คือ ทุกคนต้องป้องกันตัวเองเคร่งครัด ครูและบุคลากรต้องฉีดวัคซีนครอบคลุมมากกว่า 85% สุ่มตรวจด้วย ATK เป็นระยะ หากพบผู้ติดเชื้อ จำเป็นต้องปิดเรียนต้องปฏิบัติตามแผนเผชิญอย่างเคร่งครัด โดยต้องเน้นย้ำเรื่องการบริการอาหารตามหลักสุขาภิบาล
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ผลการดำเนินงาน มาตรการแซนด์บอกซ์ เซฟตี้โซนอินสคูล เป็นได้อย่างดี แม้ว่าจะพบผู้ติดเชื้อแต่ไม่ได้เกิดจากปัจจัยของโรงเรียน แต่เป็นการสัมผัสผู้ติดเชื้อนอกโรงเรียน จึงเป็นที่มาของการหารือร่วมกันระหว่าง สธ.และศธ. เพื่อกำหนดแนวทางจัดให้มีมาตรการแซนด์บอกซ์ เซฟตี้โซนอินสคูล ในโรงเรียนไป-กลับ โดยคำนึงเรื่องการระบาดในพื้นที่ตามจังหวัดกลุ่มสี ต้องสอดรับกับมาตรการที่ ศบค. และรัฐบาลกำหนด ได้แก่
1.) จังหวัดสีเขียว เน้นให้เข้ม 6 มาตรการหลักและเสริม โดยมี 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษา ครูและบุคลากรต้องฉีดวัคซีนมากกว่า 85% มีการประเมินความเสี่ยงนักเรียน ครู บุคลากรที่เกี่ยวข้องอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
2.) จังหวัดสีเหลือง ให้เพิ่มการสุ่มตรวจด้วยชุดตรวจ ATK สัปดาห์ละ 1 ครั้ง
3.) จังหวัดสีส้ม ให้เพิ่มการตรวจ ATK และประเมินความเสี่ยงบุคคลให้ถี่มากขึ้น อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
4.) จังหวัดสีแดง จำเป็นต้องกำหนดมาตรการเพิ่ม 3 ข้อ คือ ให้สถานประกอบการรอบสถานศึกษาในระยะ 10 เมตร ต้องผ่านการประเมินจาก Thai Stop COVID Plus ตามแนวทาง COVID Free Setting มีการทำ School Pass ของบุคคลในโรงเรียน เพื่อประเมินความเสี่ยงของบุคคลผ่านไทยเซพไทย สัปดาห์ละ 3 วัน ผลตรวจ ATK ประวัติรับวัคซีนหรือประวัติการติดเชื้อโควิดใน 1-3 เดือน และต้องจัดกลุ่มนักเรียนห้องละไม่เกิน 25 คน สุ่มตรวจ ATK ใน 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์
และ 5.) จังหวัดสีแดงเข้ม ให้ทำเหมือนจังหวัดสีแดงโดยเพิ่มการประเมินความเสี่ยงบุคคลผ่านแอป ไทยเซฟไทย ให้ถี่ขึ้นเป็นทุกวัน ด้วยสุ่มตรวจ ATK สัปดาห์ละ 2 ครั้ง
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สำหรับ 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษาโรงเรียนไป-กลับ ได้แก่
1.) สถานศึกษาประเมินความพร้อมผ่าน Thai Stop COVID Plus และรายงานผลผ่าน MOECOVID
2.) ให้ทำกิจกรรมในโรงเรียนเป็นกลุ่มย่อย ลดการสัมผัสข้ามกลุ่ม
3.) เน้นสุขาภิบาลอาหาร
4.) จัดการสิ่งแวดล้อมให้เป็นตามมาตรฐาน เนื่องจากพบการติดเชื้อของรักเรียนเพราะไปอยู่แออัดในห้องเรียน โดยเฉพาะห้องปรับอากาศ และต้องมีการจัดให้มีห้องแยกกักในโรงเรียน
5.) มีแผนเผชิญเหตุร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ และมีการซักซ้อมกรณีพบการติดเชื้อในโรงเรียน
6.) โรงเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนต้องควบคุมการเดินทางจากบ้านมาโรงเรียน ให้มีความปลอดภัย
และ 7.) จัดให้มี School Pass
“โดยรวมของมาตรการเป็นไปตามที่ ศธ.และสธ. กำหนดร่วมกันโดยต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เน้นย้ำว่าหากจำเป็นต้องเปิดเรียนอีกครั้ง การจำกัดคนเข้าออก การคัดกรองด้วยชุดตรวจ ATK การจัดกิจกรรมเป็นกลุ่มย่อย การประเมินความพร้อม การสุ่มตรวจหาเชื้อบุคลากรเป็นระยะ ก็จะเป็นการหารือกันระหว่างหน่วยงานสาธารณสุขและโรงเรียน” นพ.สุววรณชัยกล่าว
เมื่อถามถึงเหตุการณ์ติดเชื้อในโรงเรียนประจำ และสิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษ นพ.สุวรรณชัย กล่าว รายงานดังกล่าวเกิดจากบุคคลส่วนหนึ่งที่ไปกลับ แล้วมีการติดเชื้อจากภายนอก ดังนั้น เราจึงให้ความสำคัญกับมาตรการและเข้มข้นว่าต้องคัดกรองความเสี่ยง ได้รับวัคซีน สุ่มตรวจด้วย ATK และการจัดการสิ่งแวดล้อมให้มีความเสี่ยงน้อยลง รวมถึงการเดินทางแบบซีลรูท (Seal Route)
เมื่อถามถึงการสนับสนุนการตรวจ ATK นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า การตรวจจะถี่ตามสถานการณ์ระบาด ซึ่งการสนับสนุนจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 8.5 ล้านชุด ที่แจกผ่านสถานพยาบาลในพื้นที่โดยเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลประชาชน ดังนั้น ครู นักเรียน สามารถติดต่อรับชุดตรวจได้ และ กองทุนสุขภาพระดับพื้นที่ท้องถิ่น สามารถจัดหาเพื่อแจกประชาชนได้ รวมถึงระดับโรงเรียนที่หารือร่วมกันกับประชาชน ผู้ปกครองเพื่อจัดหาชุดตรวจได้