พม. จับมือสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ จัดสัมมนาวิชาการระดับชาติด้านคนพิการ ปี 2564 หัวข้อ "โควิด 19 สู่การพัฒนานวัตกรรมเพื่อคนพิการ" 

นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานเปิดงานสัมมนาวิชาการระดับชาติด้านคนพิการ ครั้งที่ 13 ประจำปี 2564 หัวข้อ "โควิด 19 สู่การพัฒนานวัตกรรมเพื่อคนพิการ" (From COVID-19 to Development of Innovation for Persons with Disabilities) ผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวง พม. โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ร่วมกับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ โดยมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เป็นเจ้าภาพหลัก 

นางพัชรี กล่าว่า ด้วยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ร่วมกับสถาบันการศึกษา องค์กรด้านคนพิการ และหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้จัดทำบันทึกความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการบูรณาการความร่วมมือในการพัฒนางานวิชาการ วิจัย นวัตกรรม เทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวก และการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design) เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานด้านวิจัย งานวิชาการ นวัตกรรม และการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ รวมทั้งจัดงานสัมมนาวิชาการระดับชาติด้านคนพิการมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา โดยได้นำเสนอผลงานวิชาการ งานนวัตกรรม และนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มากกว่า 250 เรื่อง  

นางพัชรี กล่าวต่อไปว่า สำหรับปี 2564 กระทรวง พม. โดย พก. จึงได้ดำเนิน "โครงการบูรณาการความร่วมมือทางวิชาการในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ" ภายใต้งานสัมมนาวิชาการระดับชาติด้านคนพิการ ครั้งที่ 13 ประจำปี 2564 หัวข้อ "โควิด 19 สู่การพัฒนานวัตกรรมเพื่อคนพิการ" (From COVID-19 to Development of Innovation for Persons with Disabilities) ด้วยรูปแบบออนไลน์ (Fully online) ลักษณะ Hybrid and Virtual Conference ตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุข ในการป้องการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือภาคีเครือข่าย ในการผลิตผลงานวิชาการด้านคนพิการ และเป็นช่องทางการสนับสนุนงานพัฒนางานวิจัยที่มีมาตรฐานสูง และสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง รวมทั้งนำนวัตกรรมองค์ความรู้มาต่อยอดทางความคิดและสร้างผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ และขยายผลสู่การใช้ประโยชน์ในสังคม รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนอาจารย์ นักวิจัย บุคลากร นิสิต นักศึกษาในสถาบันการศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไป ได้ร่วมศึกษา ค้นคว้า วิจัย วิชาการเพื่อพัฒนางานด้านคนพิการ

นางพัชรี กล่าวเพิ่มเติมว่า งานสัมมนาวิชาการฯ ปี 2564 มีกิจกรรมที่สำคัญ คือ พิธีการลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ระหว่างกระทรวง พม. โดย พก. กับสถาบันการศึกษา และหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง รวมจำนวน 72 แห่ง อีกทั้งพิธีการมอบธงเจ้าภาพการจัดงานสัมมนาวิชาการฯ ปี 2565 ให้แก่มหาวิทยาลัยนเรศวร นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาทางวิชาการ หัวข้อ "โรงพยาบาลสนามเพื่อคนพิการ" รูปแบบออนไลน์ โดย พก. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ และองค์กรด้านคนพิการ และการบรรยายพิเศษ ได้แก่ 1) หัวข้อ "Hone Isolation สำหรับคนพิการ" โดย สถาบันสิรินธรฯ และ 2) หัวข้อ "อาชีพที่ใช่สำหรับคนพิการหลังโควิด 19"  โดยมหาวิทยาลัยนเรศวร