ล่าฝันคนทำเพลง จนได้เป็น ’โปรดิวเซอร์’ กับ ร้อยตรี จุฑาคุณ รังสรรค์ (คุณแบงค์) | Click on Crazy EP.4

บทสัมภาษณ์ Click on Crazy EP.4 
ร้อยตรี จุฑาคุณ รังสรรค์ (คุณแบงค์)
โปรดิวเซอร์เพลงค่าย KIT MUSIC

Q : แนะนำตัวหน่อยค่ะ
A :
ผมร้อยตรี จุฑาคุณ รังสรรค์ ชื่อเล่นชื่อแบงค์ ตอนนี้ก็เป็นผู้บังคับหมวดดุริยางค์ กองบริหารศูนย์การทหารปืนใหญ่ ค่ายภูมิพล จ.ลพบุรี ครับ และก็เป็นโปรดิวเซอร์ค่าย KIT MUSIC ครับ

Q : ในตอนเด็ก ๆ เด็กชายแบงค์มีความฝันอะไร 
A :
ตอนเด็ก ๆ ความฝันของผมคืออยากเป็นนักฟุตบอล ในตอนนั้น ไม่ได้มีดนตรีในความคิดเลย อยากติดนักฟุตบอลทีมชาติ เล่นกีฬาฟุตบอลอย่างเดียว พยายามไปคัดตัว เราก็เป็นทีมโรงเรียนสลับกันไปครับ 

Q : แล้วจุดเริ่มต้นในแวดวงดนตรีคืออะไร 
A :
จุดเริ่มต้นคือเหมือนพอเราเริ่มโตขึ้น มีกิจกรรมมากขึ้น การเรียนก็เริ่มลดลง ผมสนใจในการทำกิจกรรมมากกว่า เล่นฟุตบอล เล่นดนตรี เกรดผมก็เลยตก ทางครอบครัวก็เลยมองว่าตัวผมไปทางการเรียนวิชาการไม่น่าจะรอด คุณพ่อก็วางแผนให้ไปเรียนที่ดุริยางค์โรงเรียน และรู้สึกว่าตัวเองมีพรสวรรค์ คือทางโรงเรียนก็มีให้คัดตัวไปเล่นทรัมเป็ต เราก็ได้มีโอกาสได้เล่นดนตรีกับผู้ใหญ่ และก็เริ่มมีความรู้สึกชื่นชอบ และ มีความสุขกับการเล่นดนตรี ได้สังคมด้วย มีความสุขมากขึ้นด้วย 

Q : แล้วทางครอบครัวของคุณแบงค์มีความคิดเห็นอย่างไร
A :
ทางครอบครัวก็คิดว่าผมคงเรียนไม่จบแน่ จากเด็กเรียนดี เกรด 4 มาตลอดพอขึ้นช่วงมัธยมแล้วเกรดก็ตก เคยติดศูนย์ด้วย อาจารย์ก็แปลกใจที่การเรียนตก ครอบครัวก็แปลกใจเช่นกัน และช่วงนั้นปี พ.ศ.2540 ก็มีวิกฤติต้มยำกุ้งด้วย ครอบครัวผมเลยหาที่เรียนใหม่เพื่อให้ผมเรียนจบ ก็เลยไปสอบที่ดุริยางค์ทหารบกแล้วก็สอบติดในปีถัดมา ทางครอบครัวก็คาดหวังอยากให้เรียนให้จบ ถ้าเรียนไม่จบก็อาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเยอะ ตอนที่เรียนโรงเรียนทหารบกผมก็ได้รับเงินเดือนด้วยบางส่วน และพอผมเรียนผมรู้สึกชอบและเข้าใจง่ายและสามารถทำได้ ทั้งในการเรียนวิชาการ ทฤษฎีและปฏิบัติ เกรดก็ดีขึ้นด้วย 

Q : ก่อนที่จะเป็นโปรดิวเซอร์ ต้องผ่านการเป็นนักดนตรีมาก่อนใช่ไหมคะ 
A :
ผมมองว่าทุกคนในอดีต ทุกคนต้องเป็นนักดนตรีอาชีพมาก่อน ต้องเริ่มมากจากจุดนั้น สมัยก่อนโซเชียลมีเดียยังเข้าไม่ถึงด้วย ไม่มีสื่ออะไรให้ดูเหมือนสมัยนี้ ต้องไปนั่งซื้อวิดีโอ เทคโนโลยีในปัจจุบันง่ายกว่าสมัยก่อน ห้องอัดแต่ก่อนเข้าทีก็ 2 – 3,000 บาท แต่สมัยนี้เราสามารถมีห้องอัด ห้องแต่งเพลงที่บ้าน ง่าย ๆ 

Q : เหตุการณ์หรือประสบการณ์ที่ประทับใจในการทำงานดนตรี 
A :
 จริง ๆ แล้วผมประทับใจในทุกงานที่เราทำ งานที่เข้ามาแล้วเราสามารถทำได้ดี ทุกงานที่ผ่านมือเราไป ถือว่าเป็นหนึ่งบทเรียน ทุกงานไม่ว่าจะงานเล็ก งานใหญ่ เป็นประสบการณ์ที่ดีที่สุด ทุกงานมีความพิเศษ เราไม่รู้หรอกว่าจะมีโอกาสเข้ามาทางไหนบ้าง ทุกเรื่องอาจจะเป็นสิ่งที่ดี ถ้าเราไม่ทำงานให้มันดีทุกงาน มันก็ไม่ดี เราควรเต็มที่กับทุก ๆ งาน

Q : มีงานไหนที่เรารู้สึกเสียใจ หรือ พลาดในบางโอกาส ที่อยากจะกลับไปแก้ไขบ้างไหม 
A :
 ถ้าพูดตรง ๆ ก็พลาดทุกงานและครับ ทุกคนเป็นมนุษย์ก็ต้องมีการพลาดกันบ้าง งานเล็ก งานน้อยขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ถ้าเราแก้ไขได้ก็เป็นเรื่องที่ดี ทำอย่างไรให้มันพลาดน้อยที่สุด พยายามไม่ให้มันพลาดมากที่สุด เราจะต้องมีการเตรียมตัวอยู่แล้ว อย่างถ้าคนทำงานเดินทุกวันก็ต้องมีคนสะดุดบ้าง ฉะนั้นเรื่องนี้ยิ่งคนทำงานยิ่งเจอข้อผิดพลาด ยิ่งทำให้เรามีประสบการณ์มากยิ่งขึ้น

อย่างการทำงานแต่ก่อนก็มีการร้องเพลงหลาย ๆ ชาติ เราก็อาศับประสบการณ์เข้าช่วย อย่างในอดีตผมเคยเกิดเหตุการณ์ลืมเนื้อเพลงตอนร้องเพลง แต่ด้วยความประสบการณ์ก็สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ โชคดีที่มีฟีดแบ็คที่ดีกลับมา เป็นการเรียนรู้จากความผิดพลาด ผมมองว่าข้อผิดพลาดเป็นครูของผม ผมไม่ได้รู้สึกนอยน์ เสียใจ แต่จะเก็บไว้เป็นบทเรียนในคราวหน้า พลาดบ่อย ๆ ก็สนุกดีแต่อย่าพลาดเยอะ ถ้าเกิดเหตุการณ์ก็ให้คำว่าช่างมันกับตัวเอง แล้วเริ่มใหม่ 

Q :  ความแตกต่างระหว่าง “นักดนตรี” และ “นักแต่งเพลง” คืออะไร 
A :
มีความแตกต่างกันครับ นักดนตรี จะมีหน้าที่ในการ Performance ให้ดี และต้องเล่นให้ดี เขาเรียกว่า Player จะต้องมีทักษะและสามารถถ่ายทอดออกมาให้ดี แต่นักแต่งเพลงจะต้องคิดภาพรวมทั้งหมดว่าก่อนที่จะออกมาจะเป็นอย่างไร และยิ่งนักแต่งเพลงจะต้องฟังเพลงเยอะมาก ๆ ก่อนที่ผมจะแต่งเพลง ผมก็เล่นดนตรี ฟังเพลงมาเยอะ จะต้องมีความรู้ในระดับหนึ่ง 

Q : เพลงไหนที่เมื่อแต่งแล้วมีความประทับใจที่สุด หรือมีความท้าทายมากที่สุด
A :
เพลงทุกเพลงมีความท้าทาย ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแต่งเพลง ๆ หนึ่ง มันไม่มีอะไรง่ายเลย เพลงทุกเพลงพอได้ทำออกมาผมมีความประทับใจในทุก ๆ เพลง จะมีความภาคภูมิใจ เวลาเรามานั่งฟัง มันให้ความรู้สึกพิเศษในทุกเพลง ผมมองว่าเป็นเพลงทุกเพลงเป็นเหมือนลูก ๆ ของผม เพราะเราสร้างมากับมือ เวลาที่เราทำงานชิ้นหนึ่งแล้วมีคนสนใจ พอสักพักความสนใจก็จะหายไป

แต่พอเราได้นึกย้อนกลับมา จะให้ความรู้สึกคิดถึง และอารมณ์ตอนนั้นก็จะลกับมา เหมือนเป็นความทรงจำดี ๆ ให้ได้นึกถึง อย่างเพลงเชียร์ยูโร พอย้อนกลับมาก็ให้ความรู้สึกถึงช่วงเวลานั้น ทำให้เรานึกถึงตอนแต่ง อารมณ์คนฟัง ในช่วงนั้น อย่างเพลงไหนที่คนจำได้แค่ช่วงสั้น ๆ แต่ติดหูก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว

Q :  โปรดิวเซอร์จริง ๆ แล้วมีหน้าที่อะไร 
A :
โปรดิวเซอร์มีหน้าที่ดูภาพรวม ภาพรวมของพาร์ทดนตรีทั้งหมด ทิศทางของอัลบั้ม เหมือนโปรดิวเซอร์รายการที่ต้องดูภาพรวมของรายการทั้งหมด 

Q : มีช่วงเวลาที่หมดไฟบ้างหรือไหม 
A :
มีครับ มีตลอดเวลา อารมณ์คล้าย ๆ กับการเล่นละครเวที พอเราทำเพลงเสร็จ อารมณ์ก็จะดึงออกมาไม่ได้ เราเล่น เราฟังเป็นหลาย ๆ รอบ ฟังหลาย ๆ ครั้ง เอาอารมณ์ช่วงนั้นไม่ออก ก็ต้องไปนอนหรือใช้เวลาเอาอารมณ์ออก พอะเริ่มต้นใหม่ก็จุดไฟมันขึ้นมาใหม่ ลงมือทำใหม่ได้เลย แต่ก่อนช่วงหมดไฟก็หากิจกรรมอื่น ๆ ทำ พอเราทำกิจกรรมไอเดียก็จะขึ้นมาใหม่ จากการดูซีรีส์ เล่นเกม เล่นฟุตบอลก็มี 

Q : ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบอะไรบ้าง
A :
จริง ๆ ก็กระทบทุกอาชีพครับ นักดนตรีนี่ยิ่งกระทบเลย ไม่ได้เล่น ไม่ได้มีงานเข้ามาเลย เราก็อยู่อย่างพอเพียง อยู่อย่างประหยัด ในความคิดของผมก็อยู่ได้ ช่วงนี้ทุกอย่างก็แย่หมด กว่าจะฟื้นตัวก็อีกนาน ก็ต้องอยู่อย่างประหยัด

Q :  คุณแบงค์ชอบมีการวางแผนในการทำงานบ้างไหมคะ ทำให้เกิดประโยชน์อะไรบ้าง
A :
ส่วนตัวชอบการวางแผนครับ แต่ก่อนไม่ได้เป็นคนวางแผนอะไรเลย แต่มีอาจารย์ก็ได้มาสอนให้เราลองวางแผนล่วงหน้าว่าในวันพรุ่งนี้จะทำอะไร ทำให้เกิดประโยชน์มาก ๆ ก่อนจะนอนก็มีการวางแผนและมีเป้าหมายในชีวิต ทำให้เราเดินตามเป้าหมายที่เราวางไว้ได้ กว่าจะถึงจุดนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

หลาย ๆ คนอาจจะมองคนที่ผลลัพธ์ไม่ได้มองระยะทาง ชอบมองคนที่สำเร็จแล้ว จริง ๆ แล้วไม่ได้ง่าย จริง ๆ แล้วชีวิตของคนมีความท้าทายตลอดเวลา จริง ๆ แล้วผมเป็นคนไม่ชอบอยู่นิ่งด้วย อย่างตอนโควิด-19 มาแรก ๆ ก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไร ก็เล่นเกม หากิจกรรม อย่างตอนนี้ ก็อยากเรียนเกี่ยวกับการเป็นผู้กำกับหนัง อยากรู้ว่าสายอาชีพนั้นมีอะไร การถ่ายภาพ ต่าง ๆ อยากเรียนที่เกาหลี อยากเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ถ้าอยากรู้ก็ให้ลงมือเรียนเลยดีกว่า อยากรู้ก็ต้องเริ่มเลย 

Q : อยากให้คุณแบงค์ฝากถึงผู้คนที่อยากประสบความสำเร็จในเส้นทางดนตรีหน่อยค่ะ
A :
การเป็นนักดนตรีหรือการเป็นนักแต่งเพลง มันล้มลุกคลุกคลาน เขียนมาร้อยเพลงอาจจะดีไม่กี่เพลง อย่าไปท้อ เพราะท้อเอาไว้ให้ลิงถือ อย่าท้อ ให้ลงมือทำ อันไหนที่เราทำไม่ได้ก็ไม่ต้องไปทำ ถ้าเราอยากทำอะไรให้ทำไปเลย อย่ารอ เริ่มเสียตั้งแต่ตอนนี้ อยากเขียนเพลงก็เริ่มเลย บางคนเขียนเพลงแรกก็ประสบความสำเร็จเลย 

.

.

.