ปริศนา กัมพูสิริ (โบว์ลิ่ง) | Click on Clever EP.16

บทสัมภาษณ์ รายการ Click on Clever EP.16
ปริศนา กัมพูสิริ (โบว์ลิ่ง) อาจารย์ นักแสดง พิธีกร นางสาวไทยประจำปี 2555
เปิดเคล็ดลับ สาวเก่งดีกรีนางสาวไทย เรียนดี กิจกรรมเด่น เป้าหมายต้องชัดเจน!!


Q: บทบาทในวงการบันเทิงหลากหลาย ทั้งพิธีกร นักแสดง วันนี้ผันตัวมาเป็นอาจารย์ อะไรคือจุดตัดสินใจให้มาเอาจริงเอาจังในฐานะ “ครู”

A: ตอนเด็กๆ เราเป็นเด็กที่พ่อแม่บอกให้เรียนอะไรแล้วเราก็จะเรียนตามที่พ่อแม่ชอบ แล้วก็ไม่เคยคิดเลยว่าอนาคตโตขึ้นไปฉันจะเป็นอะไร จนเราอยู่ ม.6 ตอนนั้นน่ะเป็นครั้งแรกที่เราได้เป็นกรรมการนักเรียนแล้วก็เป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ พูดหน้าเสาธงที่โรงเรียนครั้งแรกเลย แล้วก็คือช่วงเวลาแรกในชีวิตที่เรารู้สึกว่าเราเจอสิ่งทำได้ดี คือการพูดต่อหน้าคนเยอะๆ แล้วเราก็รู้สึกมีความสุขมากที่สิ่งที่เราพูดออกไปมันมีประโยชน์ มีคนฟัง มันก็เลยทำให้ตอนนั้นเราคุยกับตัวเองว่าจบไปอยากเป็นอะไร 


 

ซึ่งเราก็มองความฝันไว้ 3 อย่าง คือ 1. ฉันจะต้องเป็นพิธีกร หรือ 2. ฉันต้องเป็นอาจารย์สอนภาษาญี่ปุ่น เพราะตอนนั้นอินภาษาญี่ปุ่นมาก 3. ทำงานเกี่ยวกับในวงการ ที่เป็นการนำเสนออะไรบางอย่าง คือตอนนั้นเรายังไม่รู้หรอกว่ามันจะไปทางไหน แต่เรารู้ว่าเราชอบที่จะสื่อสาร เราก็เลยมองสามอาชีพนี้ ซึ่งเราก็ไม่รู้นะว่าในวันนี้เราจะได้ทำครบทุกอย่างที่เราเคยคิดเอาไว้ว่าเราอยากทำ

ความเป็นอาจารย์มันหายไปจากชีวิตช่วงนึง พอเรียนจบ ม.6 สอบติด มศว เอกการแสดงและกำกับการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ ตอนนั้นเราก็จอยมากกับการเรียนการแสดง พร้อมๆ กับเริ่มงานพิธีกรในวงการบันเทิง เพราะฉะนั้นความฝันที่มองไว้เราก็ปักธงว่าต้องเป็นนักแสดงกับพิธีกร โชคดีมากที่ตอนนั้นได้เริ่มงานในวงการตั้งแต่อยู่ปี 2 ก็คือเริ่มทำพิธีกร ก็เลยเหมือนเห็นความจริงในอาชีพว่าเราสามารถทำงานตรงนี้ได้ สามารถเติบโตได้ สามารถรับผิดชอบตัวเองได้จากอาชีพพวกนี้ ก็เลยทำให้เริ่มต้นการเป็นพิธีกรมาตลอด จนได้เป็นนางสาวไทยก็เลยได้เป็นนักแสดงด้วย 

แล้วถามว่าอาชีพอาจารย์กลับมาได้เมื่อไหร่ เราเป็นคนชอบการแสดงมาก พอเราได้ทำงานในวงการบันเทิงมันถึงจุดหนึ่งที่เราอิ่มตัว เรายังคงสนุกกับการแสดงมากนะคะ แต่มันไม่เหมือนฟิลลิ่งตอนสมัยเรียน เหตุผลเพราะตอนเรียน เราเรียน Pure Art หมายความว่าคุณสามารถที่จะคิด คุณสามารถที่จะสร้างสรรค์งานอย่างเต็มที่ในความเป็นคุณ มันคือศิลปะการแสดงแท้ๆ 

แต่วันนี้พอมาอยู่ในโทรทัศน์ เราว่ามันคือ commercial art มันจะไม่ได้มีกระบวนการขยี้ ค้นหาตัวละคร workshop เยอะๆ เหมือนสมัยเรียน เราก็สนุก มันมีความสนุกของมันอยู่ แต่ถึงวันนึงเราก็รู้สึกโหยหา Pure Art เราก็เลยรู้สึกว่ามันก็สนุกดีนะแต่เราได้เล่นบทกับช่อง 8 กี่เรื่องก็ต้องเรียบร้อย เราอยากเล่นแบบอื่น แต่ตรงเนี้ยมันไม่มีพื้นที่ให้เราทำ ด้วยภาพลักษณ์นางสาวไทยของเราด้วย เราก็รู้สึกว่าชีวิตมันเหี่ยวจังเลย มันมีอะไรที่ท้าทายที่เราอยากทำมากกว่านั้น เราก็เลยคิดว่าฉันก็โตแล้ว จบป.โท แล้ว ถ้าฉันทำไม่ได้ฉันไปสอนเด็กดีไหม มันก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรามองหาอาชีพอาจารย์ 

Q: พอได้ไปสอนจริงมันตอบคำถาม หรือเติมเต็มเราไหม?

A: ดีมาก มีความสุขมาก พอได้มาสอนมันเหมือนเรามีมิชชั่นใหม่ในชีวิต ทุกปีเราก็จะเจอเด็กที่ต่างกันออกไป แล้วก็จะมีกิจกรรมให้เขาทำ ทำโปรเจคละครเวที ตอนนี้สิ่งที่เรากำลังพยายามทำอยู่คือผลักดันเด็กลงประกวดให้เยอะที่สุด มันสนุกมาก ทำให้เรากลับมามีชีวิตชีวาและมีแรง 

Q: เป็นเลิศทางวิชาการ และยังโดดเด่นเรื่องกิจกรรม เคล็ดลับสมัยเรียน ทั้งเรียนดี กิจกรรมเด่นคืออะไร?

A: จริงๆ แล้วเราไม่ได้มองว่าเราเป็นเลิศ แต่เรามองว่าเราเป็นบ้า เรามีความบ้าอะไรบางอย่างอยู่ ที่แบบฉันจะทำและฉันต้องทำให้ได้ อาจจะโชคดีที่เราได้เจอสิ่งที่รัก เราก็เลยรู้สึกไม่เหนื่อยเวลาที่เราทำมัน แล้วก็เลยสนุกกับมันแบบมากๆ เราก็เลยทำมันได้ค่อนข้าง…อาจจะไม่ได้ดีที่สุดหรอก แต่มันดีในระดับที่เราพอใจ

อยากตอบในสองประเด็น ประเด็นแรกคือประเด็นว่าตัวเราเวลาทำงาน เราคิดยังไง กับประเด็นที่สองคือเวลาเด็กเราทำงาน เราคิดกับเด็กยังไง มันไม่เหมือนกัน ถ้าสมมุติเวลาเราทำงาน ทำไมเราทำงานแล้วสำเร็จ อย่างที่บอกว่าเราโชคดี มันเป็นงานที่เราชอบ มันเป็นงานที่เรารัก เพราะฉะนั้นเราไม่ใช่คนเก่ง แต่เราคือคนขยัน ซึ่งคนอื่นจะบอก ไม่จริงอ่ะ เก่ง แต่ความจริงเรารู้ตัวว่ากว่างานมันจะออกมา 1 ชิ้น เราใช้เวลากับมันเยอะมาก คนเห็นมันแค่ปลายทางที่สำเร็จ คนก็เลยตัดสินว่าเราเก่ง ทั้งที่ความจริงเขาไม่มาเห็นกระบวนการว่าเราทำเยอะแค่ไหน 

มันเป็นสิ่งที่คนอื่นตัดสินเรา แต่ความจริงเรารู้ตัวว่าเราแค่ทุ่มเทกับมัน อย่างที่บอกว่าเราเป็นคนบ้า เวลาเราบ้าอะไรสักอย่างเราจะอินมันมาก เพราะฉะนั้นเรามองว่างานมันไม่มีคำว่าดีที่สุดหรอก มันมีแค่ดีที่สุดเท่าที่เราทำได้ ณ เวลานั้น เราเลยไม่ตัดสินว่าดีที่สุดคืออะไร แต่เราแค่คิดว่าดีที่สุดเท่าที่เราทำได้ ณ เวลานั้น มันก็คือคอมพลีทในความรู้สึกเราแล้ว เราก็เลยไม่อยากให้ทุกคนคาดหวังกับคำว่าดีที่สุด เริ่ดที่สุด เรารู้สึกว่าถ้าคุณเต็มที่แล้วมันดีที่สุดเท่าที่ทำได้ มันคือจบ

แต่กลับกันพอพูดถึงเรื่องเด็ก มันมีประเด็นหนึ่งที่เราคุยกับเด็กบ่อยมาก แล้วเราอยากแชร์ เด็กหลายๆ คนจะบอกว่า อาจารย์โชคดี ได้ทำสิ่งที่รัก อาจารย์เจอว่าชอบอะไร แต่หนูไม่มี แล้วถ้าหนูไม่ชอบจะทำดีที่สุดได้ยังไง เราก็เลยมานั่งคิด สิ่งที่เราพูดกับเด็กเสมอคือ คนทุกคนนะอุดมคติมันจะบอกว่า เฮ้ย เราต้องเรียนสิ่งที่เราอยากจะเป็น เราต้องเรียนจบไปแล้วได้ทำในสิ่งที่ฝันเอาไว้ เราต้องประสบความสำเร็จ นั่นคืออุดมคติ แต่ในความเป็นจริงชีวิตมนุษย์ทุกคนไม่ได้เป็นแบบนั้น 

เราก็เลยรู้สึกว่าอุดมคติคือให้หาความฝันให้เจอ ถ้าคุณเจอแล้วคุณได้ทำ คุณคือคนโชคดี แต่ถ้าเกิดคุณไม่เจอล่ะ เราก็จะบอกเด็กกลุ่มนั้นว่า ไม่ผิด เพราะในชีวิตความเป็นจริงมันไม่ใช่อุดมคติแบบนั้น ถ้าคุณไม่รู้ว่าคุณชอบอะไร ไม่รู้ว่าจบไปแล้วจะสำเร็จไหม คุณคือคนส่วนมากค่ะ

เราคิดว่าสิ่งที่สำคัญนอกเหนือจากความฝันคือ เป้าหมาย ในชีวิตคนเราควรจะมีเป้าหมายบางอย่าง เพราะถ้าเกิดคุณไม่มีเป้าหมายเลยคุณจะใช้ชีวิตลอยไปเรื่อยๆ แต่กลับกันเมื่อไหร่ที่คุณเริ่มตั้งเป้าหมาย มันจะทำให้คุณรู้ว่าคุณต้องเดินไปที่ไหน แล้วจะเดินไปยังไง เราก็เลยบอกเด็กว่า ถ้าจบไปแล้วตอนนี้คุณไม่รู้ว่าคุณอยากเป็นอะไร ไม่ผิดเลยค่ะ แต่คุณต้องตั้งเป้าหมาย 

Q: ทำงานมาเยอะ และกำลังศึกษาปริญญาเอก เป็นว่าที่ ดร. คิดว่าดีกรี มีความสำคัญมากน้อยขนาดไหนในการหางาน? 

A: สาบานเลยนะไม่เคยคิดว่าตัวเองจะเรียน ป.เอก เป็นสิ่งที่เราไม่อยากทำ แต่เรารู้ว่าถ้าอยากเป็นอาจารย์ สิ่งนี้จำเป็น เราจึงต้องทำ ถึงแม้เบื้องต้นเราจะไม่อยากทำ แต่เราก็ทำมันอย่างเต็มที่นะคะ แล้วก็ตั้งใจทำมันมากๆ ด้วย เพราะมันคือเป้าหมาย คือความจำเป็นในชีวิตของหน้าที่การงานทางสายวิชาชีพครู 

การศึกษาที่เป็นวุฒิมันไม่ได้สำคัญเท่ากับประสบการณ์ชีวิต เรามองว่าความฉลาด ความเก่งของเด็กมันมีหลายทาง เพียงแต่ประเทศไทยของเราหรือวงการการศึกษามันอาจจะยังมีกรอบของเรื่องวุฒิ แต่จริงๆ เรามองว่า คุณค่าความฉลาดของคนมันไม่ได้วัดกับการศึกษาอย่างเดียว เด็กบางคนเรียนไม่เก่ง แต่ว่าเขาอาจจะมีความพิเศษบางอย่างซึ่งเก่งมากก็ได้ การศึกษามันไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียน ไม่มีประโยชน์เลยถ้าคุณเรียนเก่งมาก แต่ใช้งานมันไม่เป็น เราเป็นสายปฏิบัติ เลยไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะต้องเรียนป.เอก แต่อย่างที่บอกว่ามันคือความจำเป็นในสายวิชาชีพ เราก็เลยต้องเรียนแล้วเราก็ต้องตั้งใจทำ

Q: ตอนนี้เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่ไหนคะ?

A: ตอนนี้เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่ วิทยาลัยนานาชาติเซนต์เทเรซาค่ะ สาขาวิชาสื่อดิจิตอล เป็นสาขาเปิดใหม่ก็เลยยังรู้สึกสนุกกับการทำหลักสูตรและท้าทายมาก

Q: ทำงานทั้งในวงการบันเทิงและวงการการศึกษา ในยุค Digital Disruption และถูกเร่งด้วยโควิด-19 ทำงานยากขึ้นมากไหม?

A: เราว่าทั้ง 2 วงการถูก Disruption ทั้งคู่ เพียงแต่ช่วงเวลาของการ Disrupt อาจจะแตกต่างกัน จริงๆ มันมีบทความวิจัยเกี่ยวกับ Digital Disruption ของต่างประเทศอยู่ เขาบอกว่าอย่างแวดวงสื่อสารมวลชนมันจะอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า short fuse big bang หมายความว่า พอเกิด Digital ขึ้นเนี่ย ชนวนมันสั้นมาก ติดแปบเดียว ผลกระทบระเบิดรุนแรงมาก สื่อสารมวลชนถูก Disruption เร็วและแรงมาก ก่อนโควิดจะมาแล้วด้วยซ้ำ ถามว่า Covid มามันกระทบมากไหม มันกระทบแหละ กองถ่ายละครอะไรก็หยุดหมด มันรุนแรงแต่ว่ามันเกิดมาพักใหญ่ๆ แล้ว และมันก็มีหลายคนที่เขาเริ่มปรับตัวได้ เพราะฉะนั้นเรามองว่ามันแรงมันเร็ว แต่มันก็มีกลุ่มคนที่ปรับตัวได้ คนที่ปรับตัวช้าหน่อยอาจจะลำบาก

แต่กลับกันวงการการศึกษา จากงานวิจัยเขาบอกว่า วงการการศึกษาเป็น long fuse big bang หมายความว่า หลังเกิด Digital Disruption ขึ้นมาเนี่ยกินเวลาเป็น 10 ปี นานกว่าเราจะได้รับผลกระทบ แต่เขาบอกว่า เมื่อได้รับผลกระทบแล้ว อนาคตการศึกษาจะเป็นยังไง เด็กจะไม่ต้องมาเรียนที่มหาลัย เด็กจะเรียนออนไลน์ อยากเรียนอะไรก็เรียน ไม่ต้องจบปริญญา พอโควิดมามันเหมือนบังคับมาเขย่าวงการการศึกษาว่าทุกคนต้องโดดลงไปในแพลตฟอร์มเดี๋ยวนี้ มันกระทบทุกวงการ แต่การศึกษากระทบหนักมาก 

Q: คำแนะนำเพื่อการปรับตัวของคนทั้งในวงการบันเทิงและวงการการศึกษา 

A: มันก็กลับไปที่เรื่องเดิม อะไรที่เราต้องทำ ในฐานะที่เราเป็นนักแสดงในวงการ เรามองว่าเราอาจจะเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ ไม่ใช่คนที่จะสามารถขับเคลื่อนทั้งหมดได้ แต่เราพร้อมที่จะสนับสนุนให้ความร่วมมือ หมายความว่าถ้ากองถ่ายขอความร่วมมืออะไร เรายินดีที่จะให้ความร่วมมือแล้วก็เดินไปกับเขา แต่เราไม่ใช่ตัวเฮด เพราะฉะนั้นเราอาจจะเป็นแค่ฟันเฟืองเล็กๆ ในการที่จะขับเคลื่อนมัน เราอาจจะมีบทบาทในส่วนนี้ไม่มากเท่าไหร่ 

แต่กลับกันในวงการการศึกษา ในฐานะที่เป็นอาจารย์ เราเป็นเหมือนหัวเรือที่จะต้องวางแผน คิด ทำอะไรบางอย่างเพื่อให้เด็กเดินตามไปกับเรา ตอนนี้เราค่อนข้างจะโฟกัสกับเรื่องกระบวนการศึกษามากกว่า 

Q: เป้าหมายในการทำงานในวงการการศึกษาคืออะไร?

A: ณ วันนี้ด้วยความที่สาขาเราใหม่ เด็กยังไม่เยอะ เครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์เราอาจจะไม่มีเท่ากับมหาลัยที่เขาเปิดมานานแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือเด็กที่จบไปของเรา เขารู้สึกว่าเขาสู้สถาบันใหญ่ๆ ไม่ได้ ทั้งๆ ที่เรารู้สึกว่า อาจารย์ที่สาขาเราเจ๋งนะ อย่างคนที่เป็นหัวหน้าสาขาก็เป็นผู้กำกับจริง ที่ตอนนี้ก็ยังทำงานกำกับอยู่ในแวดวงโฆษณา เพราะฉะนั้นคนที่มาสอนคุณน่ะคือคนที่มีประสบการณ์ทำงานจริง เป็นผู้กำกับจริง ทุกวันนี้ก็ยังอยู่ในวงการจริง ก็เลยวางเป้าหมายปีนี้เอาไว้เลยว่า จะส่งเด็กทุกคนประกวด ถ้าเราผลักดันให้เขาประกวด แล้วเขาได้รางวัลกลับไป อันนี้คือสิ่งที่อาจจะสร้างความมั่นใจให้เขามากขึ้น 

Q: อะไรที่เป็นแรงผลักดันในการใช้ชีวิตให้มีคุณภาพมากขึ้นในทุกๆ ย่างก้าว? 

A: จากใจเลย ไม่เคยคิดว่าฉันจะใช้ชีวิตที่มีคุณภาพ ไม่เคยคิดเลยว่าฉันจะต้องประสบความสำเร็จ แค่ตอนนี้เราทำอะไรอยู่ และอยากทำให้มันดีที่สุด อาจจะเพราะมีความ perfectionist นิดนึง เราจะรู้สึกมีความสุขเวลาเราทำอะไรบางอย่างสำเร็จ แล้วมันดี มีคนชมหรือเห็นคุณค่า เราจะรู้สึกว่านี่แหละ! 

ด้วยความที่ธรรมชาติเราอาจจะเป็นคนแบบนี้อยู่แล้ว ก็เลยรู้สึกสนุกกับสิ่งต่างๆ ที่มันเข้ามาในชีวิต แล้วทำให้รู้สึกว่าเราอยากทำ แล้วด้วยความที่เราไฮเปอร์ อะเลิทด้วย เราก็เหมือนมีแรงที่จะทำอะไรตลอดเวลา

.

.

.

.