หลาย ๆ คนคงมีประสบการณ์ในการโดยสารเครื่องบินนาน ๆ ทำให้เกิดความเหนื่อยล้า และอยากให้เครื่องบินมีความรวดเร็วในการโดยสารมากขึ้น สายการบิน United Airlines ก็มีการวางแผนในการให้ทุกคนสามารถโดยสารบนเครื่องบินได้รวดเร็ว ลดระยะเวลาเดินทางไปถึงครึ่ง !

หลายท่านที่เคยนั่งเครื่องบินข้ามทวีปที่ต้องใช้เวลาบินนาน ๆ คงรู้สึกเมื่อยล้า และอ่อนเพลียจากการเดินทาง หากสามารถลดระยะเวลาเดินทางได้ครึ่งหนึ่ง ด้วยค่าโดยสารที่ไม่สูงจนเกินไป คงเป็นสิ่งที่นักเดินทางหลายคนใฝ่ฝัน

สายการบิน United Airlines กำลังจะทำให้ความฝันนั้นกลายเป็นจริง ด้วยการประกาศแผนการสั่งซื้อเครื่องบิน Supersonic รุ่น Overture จำนวน 15 ลำ จาก Boom Supersonic ผู้ผลิตเครื่องบินรายใหม่ในสหรัฐอเมริกา และคาดว่าจะพร้อมให้บริการได้ในปี 2029

โดยปกติเครื่องเจ็ทสำหรับโดยสาร บินด้วยความเร็วประมาณ 900 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่เครื่องบินแบบ Supersonic มีความสามารถในการบินได้ความเร็วเหนือเสียง โดยเครื่อง Overture ถูกออกแบบให้บินได้ที่มัค 1.7 หรือ 1.7 เท่าของความเร็วเสียง นั้นคือประมาณ 1,805 กิโลเมตร/ชั่วโมง ความเร็วเป็นสองเท่าของเครื่องบินเจ็ทปกติ

การใช้เครื่องบินพาณิชย์ที่มีความเร็วเหนือเสียงไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในปี 1976 สายการบิน British Airways และ Air France เปิดตัวการให้บริการด้วยเครื่องบิน Concorde เครื่องบินโดยสารความเร็วเหนือเสียง โดยเส้นทางการบินหลักคือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเพื่อเชื่อมโยงลอนดอนและปารีสกับนิวยอร์ก ใช้เวลาบินเพียงครึ่งเดียวของการบินปกติ แต่ข้อจำกัดของเครื่องบินคอนคอร์ดคือการบริโภคเชื้อเพลิงและค่าซ่อมบำรุงที่สูง จึงจำเป็นต้องขายตั๋วโดยสารไปกลับเมื่อเทียบกับค่าเงินปัจจุบันด้วยราคา 20,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 620,000 บาทต่อคน !!!!! ด้วยราคานี้จึงไม่ใช่การเดินทางปกติ แต่เป็นสิ่งที่บางคนอยากทำสักครั้งในชีวิต จึงเป็นการยากที่จะหาผู้โดยสารให้เต็ม 100 ที่นั่งในแต่ละเที่ยว

นอกจากนั้นยังมีประเด็นเรื่องของเสียง เนื่องจากหากเครื่องบินทำความเร็วเกินความเร็วเสียง จะก่อให้เกิดช็อคเวฟ ที่มีเสียงดังคล้ายฟ้าร้องที่เรียกกันว่า โซนิคบูม (Sonic Boom) ดังนั้นในหลายประเทศจึงห้ามการบินด้วยความเร็วเหนือเสียง บนแผ่นดินหรือพื้นที่ที่มีผู้คนอยู่อาศัย จึงเป็นข้อจำกัดของเส้นทางการบินที่จะทำความเร็วได้เฉพาะเมื่อบินเหนือทะเล จากข้อจำกัดดังกล่าว และประกอบกับภาวะขาลงของธุรกิจการบินหลังเหตุการณ์ 9/11 จึงทำให้เครื่องบินคองคอร์ดหยุดให้บริการในปี 2003   

ทาง Boom Supersonic จึงได้ศึกษาบทเรียนจากคองคอร์ด และข้อกังวลของการแพร่ระบาดของโรคติดต่อที่อาจเกิดขึ้นอีก นำมาใช้ในการออกแบบเครื่องบิน Overture ที่สามารถจุผู้โดยสารได้ 65-88 คน และที่นั่งเป็นแบบสองแถว แถวละหนึ่งที่นั่ง เพื่อลดการสัมผัสในห้องโดยสาร และออกแบบเน้นเรื่องของสุขอนามัยแทนสิ่งอำนวยความสะดวกบนเครื่องสำหรับการเดินทางระยะนาน ๆ

นอกจากนั้นยังมีการออกแบบตัวเครื่องและเครื่องยนต์ เพื่อลดระดับการเกิดโซนิคบูม รวมถึงการเป็นอากาศยานไร้มลพิษ (net-zero carbon aircraft) โดยออกแบบให้เครื่องยนต์สามารถใช้เชื้อเพลิงทางเลือกได้

เป้าหมายระยะไกลของ Boom คือการพัฒนาเครื่องบินให้มีความเร็วสูงขึ้น เพื่อบินไปทุกแห่งทั่วโลกโดยใช้เวลาไม่เกิน 4 ชั่วโมง และออกแบบเครื่องบินให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อลดค่าใช้จ่ายต่อที่นั่ง โดยตั้งเป้าให้มีค่าโดยสารต่อเที่ยวไม่เกิน 1,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 32,000 บาท ซึ่งเป็นราคาเดียวกับค่าโดยสารชั้นธุรกิจ

แต่นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมการบินหลายท่านให้ความเห็นว่าต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่าสิบปีในการพัฒนาเครื่องบิน เพื่อลดเสียงที่เกิดขึ้นจากการบิน และใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 20 ปี ในการพัฒนาวัสดุเพื่อใช้กับเครื่องยนต์ให้ทนกับความร้อนที่เกิดขึ้นเมื่อเครื่องบินทำความเร็วสูงเป็นระยะเวลานาน

คงต้องติดตามกันว่าเครื่องบินความเร็วเหนือเสียงที่คนทั่วไปสามารถนั่งได้จะเป็นจริงหรือไม่ เพราะหากเกิดขึ้นจริงจะส่งผลให้รูปแบบการเดินทางของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการเดินทางไกลข้ามทวีป

.

เขียนโดย : อาจารย์ ศรัณย์ ดั่นสถิตย์
อาจารย์ประจำหลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา 


ข้อมูลอ้างอิง
https://edition.cnn.com/travel/article/boom-supersonic-four-hours-100-bucks/index.html
https://www.businessinsider.com/boom-supersonic-interview-overture-concorde-ceo-2020-10
https://www.cnbc.com/2021/06/03/united-will-buy-15-ultrafast-airplanes-from-start-up-boom-supersonic.html
https://www.nbcnews.com/science/science-news/supersonic-airliners-hit-turbulence-jet-developer-shuts-rcna1044?utm_source=morning_brew
https://www.bbc.com/news/technology-57361193