"ปฏิรูปตำรวจ" อย่างไรให้เห็นผลจริง? ไม่ใช่เป็นเพียงวาทกรรมและกระแส

กรณีผู้กำกับดังในจังหวัดนครสวรรค์ ทำการทารุณข่มขู่ เพื่อรีดเงินจากพ่อค้ายาเสพติด จนผู้ต้องหาเสียชีวิตบน สน.นั้น กลายมาเป็นประเด็นร้อนที่ทำให้คนพูดถึงการปฏิรูปตำรวจกันอีกครั้ง

แต่การ "ปฏิรูป" ที่ว่า มักจะไม่มีคำตอบว่าจะปฏิรูปเรื่องอะไร เพราะหลายคนที่พูด ก็ไม่รู้ว่าปัญหาที่แท้จริงอยู่ตรงไหนของระบบ บ้างก็แยกไม่ออกระหว่าง "ปัญหาตัวบุคคล" กับ "ปัญหาเชิงระบบ" บางเรื่องระบบไม่ได้มีปัญหา แต่เป็นเรื่องตัวบุคคลที่ไม่ดี

แต่หากมีบุคคลไม่ดีในระบบเยอะ ๆ ก็ย่อมเชื่อได้ว่าเพราะระบบมีปัญหาในการตรวจสอบควบคุม จนคนไม่ดีย่ามใจและทำสิ่งไม่ดี เพราะไม่เกรงกลัวต่อการตรวจสอบ

ทั้งนี้การปฏิรูปตำรวจมีการศึกษาวิจัยจากนักวิชาการและภาคประชาสังคมเป็นระยะเวลายาวนานและมีงานวิจัยหลายชิ้นมาก แต่หากจะให้สรุปใจความสำคัญสั้น ๆ พอสังเขป คงแบ่งได้เป็นประเด็นหลัก ดังนี้

1.) ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของตำรวจ
2.) โครงสร้างองค์กรที่ตำรวจสังกัด
3.) การได้มาซึ่งบุคลากรตำรวจในหน่วยต่าง ๆ
4.) โครงสร้างค่าตอบแทนและสวัสดิการตำรวจ

โดยข้อ 3-4 เป็นเรื่องที่มีรายละเอียดปลีกย่อย แต่การจะได้มาซึ่งข้อ 3-4 จำเป็นจะต้องวิเคราะห์ลงไปในประเด็นที่ 1-2 ซึ่งเป็นหัวใจหลักของระบบการตรวจสอบตำรวจเสียก่อน

ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของตำรวจ

สิ่งที่ทำให้ตำรวจมีการทุจริต คอร์รัปชัน ใช้อำนาจโดยมิชอบที่สุด คือ การที่ตำรวจ "มีอำนาจมากเกินไป" ทั้งการจับกุม, สืบสวน, สอบสวน และทำสำนวนส่งอัยการ

ซึ่งเปิดช่องให้ตำรวจที่ไม่ดี ใช้อำนาจในการต่อรองหรือกดดันผู้ต้องสงสัยให้สินบนเพื่อให้หลุดคดี หรือแม้แต่ใช้อำนาจในการยัดข้อหาให้กับใครก็ได้ เพราะทำได้ทั้งการจับกุม สืบสวน สอบสวน และเขียนสำนวนส่งอัยการ

ตำรวจในหลายประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา มีหน้าที่ในการจับกุมเท่านั้น ในขณะที่การสืบสวน (Investigation) สอบสวน (Inquiry) เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนที่ขึ้นตรงสำนักงานอัยการบ้าง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบ้าง ต่อผู้ว่าการรัฐบ้าง ต่อรัฐบาลกลางบ้าง ก่อนจะทำสำนวนให้อัยการพิจารณาและยื่นฟ้องต่อศาล

การแยกอำนาจเช่นนี้ เพราะเขาเข้าใจความจริงว่า ตำรวจทุกประเทศใกล้ชิดกับพื้นที่ บุคคล (ทั้งดีและไม่ดี) ซึ่งอาจทำให้มีส่วนเกี่ยวหรือมีผลประโยชน์ร่วมกับบุคคลในพื้นที่

ดังนั้น จึงต้องให้หน่วยงานอื่นจากภายนอกมาทำคดี เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และคานอำนาจ/ตรวจสอบไขว้กันไปมา ตำรวจจะไม่สามารถเป็นผู้จับกุม และใช้อำนาจข่มขู่ผู้ต้องหาให้รับสารภาพ หรือใช้อำนาจในการยัดข้อหา หรือเปิดช่องให้มีการติดสินบนหรือรีดส่วยจากผู้ทำผิดได้ หรือถึงทำก็ทำได้ยาก

และเพราะตำรวจมีหน้าที่แค่จับกุม แต่คนสืบสวนสอบสวน และสั่งฟ้องเป็นอีกหน่วยงาน หากจะยัดเงินเพื่อให้หลุดคดีก็ต้องยัดเงินทั้ง ตำรวจ สืบสวนสอบสวน อัยการ ศาล ซึ่งเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก (ไม่ใช่ทำไม่ได้ แต่มันยุ่งยากและโอกาสถูกจับได้ เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานมีสูง)

โครงสร้างองค์กรที่ตำรวจสังกัด

นอกจากอำนาจหน้าที่ที่มีมากเกินไปแล้ว การที่ตำรวจทั้งประเทศขึ้นตรงต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำให้ไม่มีการตรวจสอบไขว้กันเองระหว่างหน่วยงานด้วย

ในขณะที่ตำรวจในหลายประเทศขึ้นตรงต่อการปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น ในสหรัฐอเมริกา หากประชาชนมีข้อสงสัยในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในท้องที่หรือในระดับรัฐ เจ้าหน้าที่ตำรวจจากรัฐบาลกลางหรือ FBI ก็จะเป็นผู้เข้าไปดำเนินการสอบสวน เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบกันระหว่างตำรวจท้องถิ่นกับตำรวจส่วนกลาง 

และเพราะทั้งสองหน่วยไม่ได้ขึ้นตรงต่อผู้มีอำนาจคนเดียวกัน จึงไม่ต้องเกรงใจหรือกลัวว่าจะมีใครมาสั่งอีกฝ่ายได้ ทุกหน่วยงานล้วนแต่ทำงานตรวจสอบกันเอง ตั้งแต่ตำรวจท้องที่ เจ้าหน้าที่สิบสวนสอบสวน/นักสืบ อัยการ ศาล ตำรวจรัฐบาลกลาง (FBI)

นอกจากนี้การที่ตำรวจขึ้นตรงต่อท้องถิ่น ซึ่งสัมพันธ์กับอำนาจของผู้ว่าการรัฐหรือผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้ง 

หากมีเรื่องฉ้อฉลในวงการตำรวจในระดับเมืองหรือรัฐ ย่อมทำให้ผู้ว่าฯ เสื่อมความนิยม และอาจทำให้แพ้การเลือกตั้ง กลับกันผู้ว่าฯ เองก็ต้องพยายามเอาใจประชาชนที่อยากให้มีการดำเนินการตรวจสอบให้โปร่งใส 

จึงเป็นที่มาว่า 'เสียงของประชาชน' จะช่วยให้การคานอำนาจและตรวจสอบการทำงานของตำรวจที่ขึ้นตรงกับการปกครองส่วนท้องถิ่น 

การกระจายอำนาจตำรวจลงไปยังส่วนภูมิภาค ให้ขึ้นตรงต่อผู้ว่าราชการจังหวัด หรือ ผู้ว่าการตำรวจภูมิภาค แล้วใช้วิธีการตรวจสอบไขว้กันระหว่างตำรวจต่างภูมิภาคที่มีศักดิ์และอำนาจเท่ากัน จะช่วยทำให้อำนาจในองค์กรตำรวจถูกแบ่งออกเป็นหลายส่วน และเมื่อมีปัญหาก็ให้ตรวจสอบไขว้กันเอง

Andrew Mark Cuomo ผู้ว่าการรัฐ New York แถลงการณ์ร่วมกับตำรวจประจำรัฐนิวยอร์ค (N.Y.P.D)

เพราะธรรมชาติของมนุษย์ คือ หากไม่มีกฎเกณฑ์และระบบตรวจสอบคานอำนาจที่ชัดเจน จะทำให้คนลุแก่อำนาจ และไม่กลัวการกระทำผิด 

แม้แต่ประเทศที่เราเชื่อกันว่าระบบตำรวจถูกออกแบบมาดีประมาณหนึ่งแล้วก็ตาม ก็ยังพบเห็นความฉาวโฉ่ได้อยู่ไม่เว้นแต่ละวันไม่ว่าจะการทุจริต ยัดข้อหา กระทำรุนแรง และอื่น ๆ 

ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการมีระบบที่ดี ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีการฉ้อฉลหรือทุจริต แต่ระบบที่มีการคานอำนาจกันระหว่างหน่วยงานจะช่วยลดการลุแก่อำนาจของบุคคลที่มีอำนาจ และช่วยทำให้บุคคลที่ไม่ดีนั้นถูกเปิดโปงได้ง่ายกว่าการรวมอำนาจหน้าที่ไว้ที่บุคคลหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเสมอ

นี่คือหัวใจเบื้องต้นในการปฏิรูปตำรวจที่ต้องเข้าใจกันให้ถูกต้องเสียก่อน มิฉะนั้นแล้วจะเป็นการวนเวียนอยู่กับวาทกรรม “ปฏิรูป” โดยไม่เข้าใจปัญหาที่ต้องการจะปฏิรูป ไปจนถึงการหลงทิศหลงทางไปถกในรายละเอียดปลีกย่อยที่เป็นส่วนประกอบมากกว่าจะเข้าใจแก่นกลางของปัญหาอย่างแท้จริง


Q : ประกันอะไร? ได้ตั้ง 4 ต่อ!!
A : ก็ประกันภัยรถยนต์จาก @THESHOPTIMES ไง!! 
>> ฟรี!!! ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) 100,000 บาท
>> รับคอมมิชชั่นหรือส่วนลดทันที ในอัตราที่สูงกว่า แถมได้สิทธิซื้อประกัน พ.ร.บ.ราคาถูกตลอดชีพ
>> สามารถผ่อนได้สูงสุด 6 งวด ดอกเบี้ย 0% โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต
>> แถมขายดีมีรายได้เพิ่มให้กับตัวเองด้วย
***สนใจติดต่อ Line@ THE SHOPS TIMES คลิก???? https://lin.ee/vfTXud9