โอกาสในการพัฒนาประเทศ ตอนที่ 1 : การประเมิน ผลลัพธ์ทางสังคม และผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน

หลายปีที่ผ่านมา มีงานหนึ่งที่ผู้เขียนชื่นชอบเป็นการส่วนตัว นั่นคือ การประกันคุณภาพ การประเมินผลกระทบ รวมไปถึงการประเมินผลลัพธ์ทางสังคม และผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน โดยผู้เขียนยึดหลักการง่าย ๆ ที่ครูของผู้เขียนเล่าให้ฟังว่า การประกันคุณภาพนั้น แท้ที่จริงคือ “การทำให้ดีกว่าเดิม” พูดง่าย ๆ คือ ก่อให้เกิดการพัฒนา ยิ่งถ้าคนในองค์กรร่วมมือร่วมใจด้วยหลักง่าย ๆ องค์กรนั้นก็พร้อมที่จะก้าวกระโดด และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ส่วนการประเมินผลกระทบนั้น มีตั้งแต่แบบง่ายจนไปถึงแบบยาก มีทั้งที่ระบุเป็นเงื่อนไขตามกฎหมาย ไปจนถึงหลักการปฏิบัติของธุรกิจทั่วไป กิจการเพื่อสังคม และองค์กรไม่แสวงหากำไร

ในประเทศไทย เรารับวัฒนธรรมการประกันคุณภาพมาหลายแขนง เช่น การประกันคุณภาพ (Quality Assurance-QA) หลักการของ Malcolm Baldrige ที่ใช้รางวัลเป็นแรงผลักดันการพัฒนาและนำมาใช้กับระบบราชการ การบริหารราชการ และการบริหารสถาบันการศึกษาของรัฐและในกำกับของรัฐ ในทางธุรกิจก็อยู่ในรูปแบบของ ISO ซึ่งย่อมาจาก (International Organization for Standardization) คือ องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน เป็นองค์กรที่ออกมาตรฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ และอุตสาหกรรม ส่วนมาตรฐานที่องค์กรนี้ออกมา เช่น ISO 9000 และ ISO 14000 ซึ่งก็เป็นมาตรฐานที่ว่าด้วยระบบบริหารคุณภาพและระบบบริหารสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ลองคิดเล่น ๆ ว่า ในประเทศไทยหากไม่ใช่อุตสาหกรรมหรือองค์กรที่ใช้มาตรฐาน ISO หรือมาตรฐานอื่นของต่างประเทศที่มีผู้ประเมินเป็นคนนอกและเป็นอิสระ โดยเฉพาะระบบราชการและสถาบันการศึกษา ที่ใช้หลักการที่ดัดแปลงมานั้น ทำให้เกิดปัญหาในเชิงผลลัพธ์ แม้ว่าผลผลิตของหน่วยราชการและสถาบันการศึกษาจะเป็นไปตามเกณฑ์และสะท้อนว่ามีมาตรฐานสูงก็ตาม

ปัญหาที่เกิดขึ้น มาจากการบริหารจัดการการประเมิน และการมุ่งผลผลิต (Output) มากกว่าผลลัพธ์ (Outcome) ทั้งสิ้น

ในขณะที่หน่วยงานที่อยู่ในรูปแบบ “องค์การมหาชน” ที่แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ องค์การมหาชนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 และองค์การมหาชนที่จัดตั้งตามกฎหมายเฉพาะนั้น มีพันธกิจในการประเมินผลกระทบจากการดำเนินงาน ซึ่งหลายแห่งใช้การประเมินผลลัพธ์ทางสังคม และ/หรือ ผลตอบแทนทางสังคมจากลงทุน ในขณะที่บางหน่วยงานใช้การประเมินทั่วไปในการประเมินผลกระทบจากการดำเนินงาน ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้ประเมิน ทั้งองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญของผู้ประเมิน และความเป็นอิสระของผู้ประเมิน

อย่างไรก็ตาม บทความนี้จะชี้ให้เห็นว่า การประเมินผลลัพธ์ทางสังคม สร้างประโยชน์ให้ประเทศมากกว่า โดยเฉพาะความคุ้มค่าในการลงทุนเพื่อสังคม 

ตัวอย่างที่ผู้อ่านอาจทราบเป็นระยะคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งมักสร้างประติมากรรมเสาไฟฟ้า โดยมีผู้รับจ้างเป็นเครือข่ายคล้าย ๆ กัน ลักษณะการจัดซื้อจัดจ้างคล้าย ๆ กัน และผลผลิตที่เป็นเสาไฟประติมากรรมแตกต่างกันตามรูปแบบที่หน่วยงานชื่นชอบ คำถามคือ ผลลัพธ์ของการลงทุนดังกล่าวคือ “แสงสว่าง” ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่หน่วยงานที่ให้บริการสาธารณะพึงสังวรณ์ ในขณะที่ ผลลัพธ์ดังกล่าวถูกไปผนวกกับ “ความสวยงาม” ทำให้มีต้นทุนการดำเนินการที่สูง ใช้งบประมาณต่อเนื่อง และแลกมาด้วยพื้นที่ที่ต้องรอ “แสงสว่าง” 

กรณีนี้น่าคิดอย่างยิ่งว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรและตรวจสอบงบประมาณนั้น ไม่ได้นำหลักการผลลัพธ์ไปใช้เพียงแต่ดูผลผลิตเท่านั้น

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ การที่หน่วยงานสร้างมายาคติ โดยเฉพาะอคติเรื่องการกัดเซาะชายฝั่ง เพื่อสร้างกำแพงกันคลื่น เพื่อ “ความสวยงาม” มากกว่า การสร้างผลลัพธ์เรื่องการแก้ปัญหาการกัดเซาะแบบใช้ “ปัญญา” ทำให้เราเห็นโครงการกำแพงกันคลื่นที่สร้างใหม่ สร้างซ้ำ สร้างได้ต่อเนื่องบนพื้นที่เดิม และมี “มือที่มองไม่เห็น” ได้ประโยชน์จากเรื่องดังกล่าว

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ การปลูกป่า โดยการกล่าวอ้างเทศกาลต่าง ๆ และนับผลผลิตต้นไม้ที่ปลูก ไร่ที่ดำเนินการ มากกว่า “ป่าที่ควรจะได้เพิ่ม” หากย้อนกลับไปดูจึงจะเห็นว่า งบประมาณที่สูญเสียไปนั้นมีทั้งตั้งใจให้เป็น และแหล่งสร้างงบประมาณให้ “มือที่มองไม่เห็น” ดังกล่าว

ปัญหาทั้งหมดคือ การไม่ใส่ใจผลลัพธ์ และการไม่ใช้เครื่องมือ ในกระบวนการจัดสรรและตรวจสอบอย่างเพียงพอ

ในประเทศไทยผู้ที่ศึกษาเรื่องการประเมินผลลัพธ์ทางสังคม และผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุนมาอย่างยาวนานต่อเนื่องคนหนึ่ง คือ คุณสฤณี อาชวานันทกุล และคณะ ด้วยความมุ่งหวังอย่างแรงกล้าที่จะเห็นประเทศไทยพัฒนาในทางที่ถูกที่ควร นั่นคือ มีเครื่องมือ และใช้เครื่องมืออย่างถูกต้องในการบริหารหน่วยงานโดยเฉพาะหน่วยงานราชการและสถาบันที่หน่วยงานราชการกำกับดูแล

การใช้ผลลัพธ์ทางสังคมในฐานะเครื่องมือการบริหารจัดการงบประมาณนั้น เป็นการสะท้อนความคุ้มค่าของเงินที่เสียไปกับประโยชน์ที่ได้มาจากการใช้งบประมาณดังกล่าว หลายหน่วยงานถูกตั้งคำถามว่า หน่วยงานนั้น ๆ โดยเฉพาะองค์การมหาชน สร้างคุณูปการใดแก่ประเทศ การตั้งคำถามดังกล่าวไม่ได้เป็นการจับผิด หากแต่เป็นการให้ระลึกว่าการใช้เงินต้องมีความคุ้มค่า โปร่งใส และตรวจสอบได้

ยิ่งไปกว่านั้น การประเมินผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (Social Return on Investment-SROI) ซึ่งมีกระบวนการที่ยุ่งยากมากกว่านั้น มีประโยชน์ในการตอบคำถามสังคมในเรื่องการใช้เงินโดยเฉพาะงบประมาณของรัฐถึงความคุ้มค่าดังกล่าว 

สำหรับการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม กลุ่มนี้มีทั้ง การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment-EIA) การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการ กิจการหรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อ ทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง (Environmental Health Impact Assessment-EHIA) ซึ่งอยู่ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และ การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment-SEA) ซึ่งการประเมินทั้งสามถูกกำหนดในกฎหมายหลักและกฎหมายรองแล้วแต่ประเภท เครื่องมือเหล่านี้ ในระยะหลังมักจะถูกใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่เจ้าของโครงการ ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชน เพราะปัญหาเรื่องความไม่เป็นมืออาชีพ และเป็นอิสระ

จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยมีเครื่องมือจำนวนมากในการพัฒนาประเทศ ทั้งการพัฒนาหน่วยงานนั้น ๆ ให้มีมาตรฐานและพัฒนาอย่างยั่งยืน การสร้างความมั่นใจในเรื่องการใช้เงิน/งบประมาณอย่างคุ้มค่า การคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนจากการดำเนินโครงการรัฐหรือเอกชนที่อาจส่งผลเสียต่อประชาชน ชุมชน สังคม และทรัพยากร หากแต่การใช้เครื่องมือดังกล่าวยังไม่ได้พัฒนาจนกระทั่งเกิดความเป็นอิสระอย่างแท้จริง สร้างความเชื่อมั่น เชื่อใจให้กับประชาชน รวมไปถึงใช้ความรู้ที่ถูกต้องในการพัฒนาประประเทศ

ผู้เขียนเห็นว่า กรณีเช่นนี้ การให้หน่วยงานที่ที่กำหนดงบประมาณและตรวจสอบการใช้งบประมาณควรเป็นผู้สะท้อนเสียงการใช้เครื่องมือที่จำเป็นในการสร้างผลลัพธ์ที่ดีให้กับสังคม การใช้เครื่องมือที่จำเป็นในการคุ้มครองสิทธิของคนตัวเล็ก และการที่ทุกภาคส่วนเห็นคุณค่าของการพัฒนาที่ยั่งยืนมากกว่าการกอบโกยของกลุ่มผลประโยชน์และการกระจายผลประโยชน์ที่บิดเบี้ยว และเป็นต้นทุนที่ขวางโอกาสการพัฒนาประเทศ


Q : ประกันอะไร? ได้ตั้ง 4 ต่อ!!
A : ก็ประกันภัยรถยนต์จาก @THESHOPTIMES ไง!! 
>> ฟรี!!! ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) 100,000 บาท
>> รับคอมมิชชั่นหรือส่วนลดทันที ในอัตราที่สูงกว่า แถมได้สิทธิซื้อประกัน พ.ร.บ.ราคาถูกตลอดชีพ
>> สามารถผ่อนได้สูงสุด 6 งวด ดอกเบี้ย 0% โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต
>> แถมขายดีมีรายได้เพิ่มให้กับตัวเองด้วย
***สนใจติดต่อ Line@ THE SHOPS TIMES คลิก????https://lin.ee/vfTXud9