“ประวิตร" สั่ง “กอนช.” ติดตามสถานการณ์น้ำ ช่วงครึ่งปีหลังเร่งบริหารจัดการน้ำ -วางแผน ลดผลกระทบปชช.

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) กล่าวว่า  จากการคาดการณ์ประมาณฝนของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงครึ่งปีหลัง พบว่าเดือนส.ค.จะน้อยกว่าปกติถึงปลายเดือน ส่วนเดือนก.ย.นี้ ฝนจะมากกว่าปกติ ยกเว้น ภาคตะวันออก ขณะที่เดือนต.ค.ฝนจะมากกว่าปกติค่อนข้างมากตั้งแต่ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ครอบคลุมภาคใต้ จึงสั่งการให้ทุกหน่วยงานภายใต้กอนช. ติดตามประเมินสถานการณ์ฝนอย่างใกล้ชิด นอกจาก 10 มาตรการรับมือฤดูฝนที่เคยสั่งการไปแล้ว ให้ทุกหน่วยลงไปถึงในพื้นที่เฉพาะเพิ่มเติม โดยช่วงเดือนส.ค-ก.ย.ให้หน่วยปฏิบัติปรับแผนระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ และเก็บกักน้ำทั้งในอ่างเก็บน้ำแก้มลิงและในแหล่งน้ำสาธารณะไว้เป็นน้ำต้นทุนในช่วงฤดูแล้ง จากนั้นช่วงเดือนก.ย-ต.ค.ให้เฝ้าระวังเกี่ยวกับภัยที่จะเกิดจากฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่มในพื้นที่ลาดเชิงเขาและพื้นที่ลาดชัน และน้ำท่วมในพื้นที่เฉพาะ ในภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและภาคตะวันตก 

รวมถึงกทม. โดยเร่งสำรวจพื้นที่เสี่ยงจะเกิดน้ำหลาก ดินถล่ม และน้ำท่วมขัง จำแนกพื้นเสี่ยงภัย เช่นเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ที่อยู่อาศัยของชุมชนเมือง ชุมชนชนบท และพื้นที่เกษตร และเตรียมความพร้อมกำหนดมาตรการรองรับภัยให้เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะรอยต่อช่วงเดือนส.ค.ถึงก.ย.ให้เตรียมพร้อมระบบระบายน้ำพื้นที่กรุงเทพฯให้วางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมรอการระบาย เช่น ตรวจสอบอุโมงค์ระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ ให้พร้อมใช้งาน และการลดระดับน้ำในคลองให้อยู่ในระดับควบคุมอยู่เสมอ ส่วนพื้นที่ภาคใต้ให้เตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัยในเดือนพ.ย.-ธ.ค.

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ให้สทนช. ติดตามสำรวจและเตรียมความพร้อมของทุกจังหวัดอย่างใกล้ชิด วิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ หากมีโอกาสเกิดอุทกภัยเป็นวงกว้างครอบคลุมมากกว่า 1 จังหวัด ต้องประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย เพื่อวางแผนเตรียมรับสถานการณ์ที่คาดว่ามีความรุนแรงจะเกิดขึ้น เพื่อป้องกันผลกระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด นอกจากนั้นให้ กอนช. ติดตามสถานการณ์พายุในช่วงปลายฤดู พายุโซนในมหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย ที่คาดว่าจะมีอย่างน้อย 2-3 ลูก เพื่อวางแผนเชิงป้องกัน แจ้งเตือน การอพยพเพื่อลดผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สินของประชาชนล่วงหน้าได้ทันต่อสถานการณ์