"คณะก้าวหน้า" จับมือ "บริษัท ส้มจี๊ด เอนเตอร์ไพรส์" สนับสนุนเกษตรกรภาคใต้ ซื้อ "นมแพะมาจู" ช่วยเหลือผู้ประสบภัยโควิด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะก้าวหน้า พร้อมด้วย บริษัท ส้มจี๊ด เอนเตอร์ไพรส์ ได้เดินทางไปยังโรงพยาบาลสนามเอราวัณ 2 ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ในพื้นที่เขตหนองจอก เพื่อมอบ "มาจู" นมแพะคุณภาพสูงจากเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 500 ขวด เพื่อสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้กับผู้ป่วยที่กำลังเข้ารับการรักษาและเจ้าหน้าที่ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อย่างหนัก ซึ่งคุณประโยชน์ของนมแพะจะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ดีขึ้น และย่อยง่ายกว่านมวัวทั่วไป และนมแพะก็ประกอบด้วยวิตามินจำเป็นหลายชนิด เช่น วิตามินเอ วิตามินบี และแร่ธาตุอีกหลายชนิด จึงเป็นอาหารที่เหมาะสำหรับดื่มเพื่อบำรุงร่างกายในช่วงการระบาดโควิด-19

ด้าน น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกและกรรมการบริหารคณะก้าวหน้า กล่าวว่า การมอบนมแพะให้กับผู้ป่วยและบุคลากรที่กำลังต่อสู้กับโควิด เป็นการช่วยเหลือทั้งสองทาง ทางแรก คือ การช่วยให้เกษตรกรนมแพะในชายแดนใต้ยังมีรายได้ เพราะในภาวะที่เกิดการระบาดรุนแรง ชายแดนใต้เป็นพื้นที่สีแดงเข้มเช่นเดียวกับกทม. ทำให้เศรษฐกิจที่ย่ำแย่อยู่แล้วจากความขัดแย้งในพื้นที่เลวร้ายลงอีก บริษัทส้มจี๊ดจึงตัดสินใจรับซื้อนมแพะจากเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่สามารถจำหน่ายนมได้เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์และกำลังซื้อในพื้นที่ลดลง เพื่อพยุงรายได้ของเกษตรกรและนำนมที่ผลิตได้มาแจกจ่ายให้กับผู้เดือดร้อน ซึ่งเป็นการช่วยทางที่สอง ให้คนที่ลำบากหรือป่วยไข้ได้อิ่มท้อง มีอาหารที่คุณค่าทางโภชนาการสูง นมแพะถือเป็นอาหารที่นิยมใช้เยี่ยมไข้ หรือให้ผู้ฟื้นไข้ และแม่ลูกอ่อนรับประทานเพื่อบำรุงกำลัง เนื่องจากนมแพะย่อยง่าย ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้ไว และโปรตีนสูง จึงเหมาะกับผู้ที่มีร่างกายไม่แข็งแรง

น.ส.พรรณิการ์ กล่าวอีกว่า นอกจากการสนับสนุนเฉพาะหน้าในครั้งนี้ คณะก้าวหน้า และ บริษัท ส้มจี๊ด เอ็นเตอร์ไพรส์ มีความเห็นร่วมกันถึงอนาคตหลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ว่า จำเป็นที่จะต้องจัดเตรียมพัฒนาทักษะอาชีพให้กับประชาชนที่ประสบปัญหาจากพิษเศรษฐกิจ ตกงาน กลับคืนสู่บ้านเกิดตามจังหวัดต่างๆ โมเดลนมแพะมาจู ซึ่งเป็นการตั้งโรงงานผลิตนมแพะ รับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยคาดหวังให้โรงงานและเกษตรกรเติบโตไปพร้อมๆกัน และให้เกษตรกรได้ร่วมกันเป็นเจ้าของโรงงานในอนาคต ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางการสนับสนุนภาคประชาชน ให้พี่น้องเกษตรกรมีรายได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับวิถีชีวิตและต้นทุนทรัพยากรในพื้นที่ และในอนาคตจะสร้างงาน สร้างอาชีพ รองรับคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบการศึกษา รวมถึงคนวัยทำงานที่ตกงานจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำช่วงโควิด-19