คนเราจะมี ‘เพื่อน’ ได้มากที่สุดกี่คน ? “Dunbar’s Number” (ตัวเลขของดันบาร์) ความสัมพันธ์ที่จำกัดจากสมองมนุษย์

มนุษย์คนหนึ่ง ๆ จะสามารถมีเพื่อนจำนวนเท่าใดจึงพอเหมาะต่อการที่จะรู้จักคุ้นเคย รักใคร่ชอบพอกันจนสนิทชิดเชื้อ และสามารถรักษาความเป็นเพื่อนไว้ได้เป็นอย่างดี ? คำตอบนี้ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Dunbar’s Number ขึ้น และตัวเลขจำนวนนี้มีความหมายโยงใยไปถึงหลายเรื่องในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นขนาดของธุรกิจ ขนาดของกลุ่มออกค่าย ขนาดของหน่วยรบ ขนาด Network ของ Social Media ฯลฯ 

ในปี พ.ศ. 2535 ‘Robin Dunbar’ ผู้เป็นศาสตราจารย์ทางมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Oxford ได้นำเสนอตัวเลขจำนวนนี้ต่อสาธารณะ จากการศึกษาทั้ง การแพทย์ จิตวิทยา ประวัติศาสตร์ และมานุษยวิทยา เพื่อหาจำนวนของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่สมองของมนุษย์คนหนึ่งสามารถจัดการได้เป็นอย่างดี Dunbar พบว่ามนุษย์มีทางโน้มที่สามารถจัดการกลุ่มของตน (Self-organize) เองได้ดีเมื่อกลุ่มของตนมีจำนวนไม่เกิน 150 คน ดังนั้นตัวเลข 150 นี้จึงเป็นที่รู้จักกันดีในวงวิชาการและถูกเรียกว่า Dunbar’s Number 

Robin Dunbar ปัจจุบันอายุ 74 ปี ชาวอังกฤษ จบปริญญาตรีด้านจิตวิทยาและปรัชญาที่มหาวิทยาลัย Oxford และเรียนจบปริญญาเอกด้านมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่ง Bristol จากนั้นทำงานวิจัยและสอนให้กับมหาวิทยาลัยหลายแห่งในอังกฤษก่อนที่จะมีชื่อเสียงเพราะการการนำเสนอทฤษฏี Dunbar’s Number

คำจำกัดความอย่างเป็นทางการของ Dunbar’s Number คือ “ตัวเลขของจำนวนคนที่ทำให้เกิดข้อจำกัดเชิงการใช้ความคิดที่บุคคลหนึ่งสามารถทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนได้” พูดง่าย ๆ คือ จำนวนตัวเลขที่สร้างข้อจำกัดในการทำงานของสมองของมนุษย์คนหนึ่ง ที่จะสามารถรักษาความสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี 

Dunbar ไม่ได้ยกเมฆตัวเลขจำนวนนี้ขึ้นเอง หากแต่ได้ทำการศึกษาในเชิงสังคมวิทยาอย่างรอบคอบ บทความของเขาใน Journal of Human Evolution ในปี พ.ศ. 2535 ได้อธิบายว่า การที่คนเรามีสมองขนาดใหญ่ขึ้นทำให้สามารถแก้ไขปัญหาทางสังคมได้ดียิ่งขึ้น การอยู่อาศัยเป็นกลุ่มของมนุษย์ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ทำให้เกิดประโยชน์มหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการป้องกันภัยจากศัตรู อย่างไรก็ดีการอยู่ร่วมกันเป็นเรื่องยากเพราะสมาชิกมักแย่งชิงอาหารและเพศตรงข้ามกัน ต่างต้องระวังการถูกโกงและการถูกกดขี่ข่มเหง แต่ในขณะเดียวกันต่างก็หาช่องทางที่จะข่มขู่และกดขี่คนอื่นเพื่อการอยู่รอดอีกด้วย 

สัตว์เผ่าพันธุ์ Primates

เมื่อขนาดของกลุ่มใหญ่ขึ้น ขนาดของข้อมูลที่สมองของสัตว์เผ่าพันธุ์ Primates ซึ่งครอบคลุมลิงและมนุษย์จะต้องประมวลก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว กลุ่มที่มีคน 5 คน มี 10 คู่ของความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก ถ้ากลุ่มเป็น 20 ก็มี 190 ถ้ากลุ่มเพิ่มเป็น 50 ก็มี 1,225 เมื่อความซับซ้อนของความสัมพันธ์มากขึ้นเช่นนี้สมองก็จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่ขึ้น และมีหลากหลายชั้นของเซลล์สมองเพื่อจัดการความสัมพันธ์ซึ่งสมองเป็นเครื่องมือสำคัญ Dunbar ใช้โมเดลคณิตศาสตร์เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างขนาดของ Neocortex (ส่วนสำคัญของสมอง) ของแต่ละประเภท Primates กับขนาดของกลุ่มที่อยู่ร่วมกัน ยิ่ง Neocortex ใหญ่เท่าใดขนาดของกลุ่มที่สามารถจัดการปัญหาของตนเองได้ก็ใหญ่ขึ้น แม้แต่มนุษย์ซึ่งเป็น Primate ที่ฉลาดที่สุด ก็ไม่สามารถอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่อย่างไม่มีที่สิ้นสุดได้ 

Dunbar พบว่า สำหรับลิงประเภทต่าง ๆ มีขนาดของกลุ่มที่อยู่ด้วยกันตั้งแต่ 5 ถึง 80 ตัว ส่วนลิงเอป (Ape) หรือลิงไม่มีหาง มีขนาดของกลุ่มประมาณ 5 ตัว และขนาดของกลุ่มของมนุษย์คือ 147.8 คน และ Dunbar ยังพบข้อมูลจากประวัติศาสตร์ว่า ขนาดของกลุ่มทหารโรมัน กลุ่มทหารในศตวรรษที่ 16 กลุ่มชนที่เดินทางเร่ร่อนในสมัยโบราณ กลุ่มชนที่อาศัยในถิ่นต่าง ๆ ล้วนมีจำนวนประมาณ 150 คน เช่นเดียวกับที่เขาคำนวณได้จากโมเดลทางคณิตศาสตร์ งานศึกษาของ Dunbar จนได้ตัวเลข 150 สร้างความฮือฮาในทางวิชาการในทศวรรษ 1990’s จนถึงปัจจุบัน มีคนนำไปประยุกต์ใช้ในทางการทหาร ทางธุรกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง Social Media

กองทัพสหรัฐอเมริกาได้ลองผิดลองถูกกับขนาดของหน่วยรบที่มีประสิทธิภาพที่สุดมายาวนานและใช้ตัวเลข 150 เป็นจำนวนของทหารหนึ่งกองร้อยของหน่วยรบในปัจจุบัน สำหรับบริษัทใหญ่ ๆ ในสหรัฐอเมริกา เช่น Gore-Tex นั้น หากสาขามีจำนวนลูกจ้างถึง 150 คน ก็จะแยกออกเป็นอีกสาขาหนึ่ง และสำหรับชุมชนปกครองตนเองในสหรัฐอเมริกา (เช่น พวก Hutterites ซึ่งคล้ายพวก Amish ซึ่งยึดการใช้ชีวิตแบบโบราณดั้งเดิม) หากสมาชิกเกิน 150 คน ก็จะแยกออกเป็นอีกชุมชนหนึ่ง

ชาว Hutterites

ในโลกของ Social Media นั้น Dunbar’s Number ถูกนำมาทดสอบเพื่อยืนยันจำนวนเพื่อนที่สมาชิกคนหนึ่งสามารถมีความสัมพันธ์ได้อย่างยั่งยืน ตัวเลขนี้มีความสำคัญเพราะเป็นขนาดของ Network ที่จะต้องนำเอามาออกแบบเชิงธุรกิจ Facebook สนใจ Dunbar’s Number เช่นเดียวกับ Path ซึ่งช่วยให้สมาชิกโพสต์รูปและความเห็นผ่านสมาร์ทโฟนตลอดจนบอกเวลานอนและตื่นได้อีกด้วย ผู้บริหาร Path พบว่า แต่ละ Network ไม่ควรมีขนาดใหญ่กว่า 150 คน Path ประสบความสำเร็จจากการใช้จำนวนนี้จนปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 5 ล้านคน

ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับ Dunbar’s Number ปัจจุบัน มีนักวิชาการ/นักวิจัยซึ่งทำการวิจัยได้โต้แย้งการสังเกตเชิงประจักษ์ของขนาดกลุ่มมนุษย์พบว่า มีจำนวนประมาณ 150 คนโดยเฉลี่ย โดยนำเสนอการสังเกตเชิงประจักษ์ของขนาดกลุ่ม ซึ่งบ่งชี้ถึงจำนวนอื่น ๆ ที่หลากหลาย (กลุ่มอายุ 46-53) ดังนั้นการวิจัยเชิงนิเวศวิทยาเกี่ยวกับสังคมของ ความเป็นเอกลักษณ์ของความคิดของมนุษย์และการสังเกตเชิงประจักษ์ ล้วนบ่งชี้ว่าไม่มีข้อจำกัดด้านความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับสังคมมนุษย์ การวิเคราะห์ใหม่ของเราให้หลักฐานชิ้นสุดท้ายที่จำเป็นต่อการเพิกเฉยต่อ 'Dunbar's number' โดยสรุปการอนุมานขีดจำกัดการรับรู้ของมนุษย์จากการถดถอยของข้อมูล Primates ที่ไม่ใช่มนุษย์นั้นมีค่าจำกัด ด้วยเหตุผลทั้งทางทฤษฎีและเชิงประจักษ์ เป็นความหวังของเรา แม้ว่าอาจจะไร้ประโยชน์ แต่การศึกษาครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการยุติการใช้ 'Dunbar’s Number' ในวิทยาศาสตร์ และในสื่อยอดนิยมต่าง ๆ ว่า 'Dunbar's number' เป็นแนวคิดที่มีพื้นฐานทางทฤษฎีที่จำกัด ซึ่งยังคงขาดข้อมูลเชิงประจักษ์ในการสนับสนุน ด้วยมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องการมีความสัมพันธ์ที่ดีและมีความต่อเนื่องกับมนุษย์คนอื่น ๆ ถ้ามีจำนวนน้อยเกินไปก็จะไม่เกิดประโยชน์เต็มที่ แต่หากมีมากจนเกินไปก็ไม่สามารถรักษาความสัมพันธ์อย่างดีไว้ได้อย่างยั่งยืน ตัวเลข 150 ของ Dunbar จึงอาจเหมาะสมพอดีกับวัฒนธรรมตะวันตกซึ่งมีลักษณะเฉพาะในการรักษาความสัมพันธ์อันแตกต่างจากวัฒนธรรมอื่น ๆ ก็เป็นได้ ในสังคมตะวันออกโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา การให้ความสำคัญแก่พิธีกรรมเป็นพิเศษเพื่อสร้างและรักษาความสัมพันธ์ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายมิใช่น้อย (เช่น ของฝาก การไปร่วมงานพิธีต่าง ๆ ของขวัญฯ) จึงมีความเป็นไปได้ที่จำนวนตัวเลข 150 นี้อาจไม่ถูกต้องตามบริบทของสังคมตะวันออกก็เป็นได้


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9