เปิดมุมมองการลงทุนอย่างยั่งยืน ในโลก ‘การเงินสีเขียว’

ในมุมมองของนักลงทุนรุ่นใหม่ที่ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมและรับผิดชอบต่อสังคม การตัดสินใจลงทุนและการพิจารณาผลตอบแทนที่ต้องการจึงไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในรูปของตัวเงินและความมั่งคั่งสูงสุดเท่านั้น หากแต่มีวัตถุประสงค์ของการลงทุนเพื่อผลตอบแทนในระยะยาวและสร้างผลกระทบเชิงบวก หรือลดผลกระทบเชิงลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง ด้วยการลงทุนตามแนวคิดการลงทุนแบบยั่งยืน (Sustainable Investment) ผ่านการลงทุนในตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม หรือ หุ้นกู้สีเขียว หรือ กรีนบอนด์ (Green Bond) 

ตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นตราสารทางการเงินที่มุ่งเน้นระดมเงินทุนเพื่อใช้ในโครงการที่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้การส่งเสริมจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ใน 3 รูปแบบ ได้แก่ 

(1) ลดและแก้ไขปัญหามลภาวะ 

(2) ส่งเสริมอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ 

(3) ลดและแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ 

โดยมีมาตรฐานตราสารหนี้ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 3.0 (Climate Bond Standard) เพื่อรับรองว่าตราสารหนี้จะให้เงินทุนสำหรับโครงการที่มีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม และสอดคล้องกันโดยสมบูรณ์กับหลักการตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Bond Principles)

ประเภทของกรีนบอนด์ ประกอบด้วย 

1.) Standard Green Bond ได้แก่ Green Bond ที่มุ่งตอบโจทย์สิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้ถือตราสารหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ออกตราสารหนี้ชําระหนี้และจ่ายผลตอบแทนตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงกัน

2.) Green Revenue Bond ได้แก่ Green Bond ที่มีกระแสเงินสดเป็นหลักประกันการชําระหนี้ เช่น รายได้ ค่าธรรมเนียม ภาษีจากโครงการเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ เงินที่จะได้รับจากการออกตราสารหนี้ลักษณะนี้จะนําไปใช้ในโครงการที่ก่อให้เกิดกระแสเงินสดนั้นเองหรือโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมอื่นด้วยก็ได้

3.) Green Project Bond ได้แก่ Green Bond ที่ออกเพื่อระดมทุนให้แก่โครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะโครงการเดียวหรือหลายโครงการซึ่งผู้ลงทุนเป็นผู้รับความเสี่ยงโดยตรงในผลสำเร็จของโครงการนั้น

4.) Green Securitized Bond ได้แก่ Green Bond ที่มีการนําโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมโครงการเดียว หรือหลายโครงการมาเป็นหลักประกัน เช่น Covered Bonds Asset-Backed Securities และ Mortgage-Backed Securities โดยการออกตราสารหนี้ดังกล่าวนั้นต้องสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่มุ่งตอบโจทย์สิ่งแวดล้อมด้วย

ตลาดกรีนบอนด์ในไทยในปีนับจากปี 2562 มีมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท โดยที่ผ่านบริษัทมหาชนจำกัดที่ประสบความสำเร็จจากการจำหน่ายกรีนบอนด์ อาทิเช่น 

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ออกและเสนอขายกรีนบอนด์ อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.25% ต่อปี มูลค่า 2,000 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ลงทุนในโครงการเพื่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ โครงการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศและลดภาวะโลกร้อน เพื่อดูแลป่าในระยะยาว และศูนย์เรียนรู้ของสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. 

บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ออกและเสนอขายกรีนบอนด์ ชนิดไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน มูลค่าของหุ้นกู้ที่จะเสนอขายรวม 5,000 ล้านบาท เพื่อนำเงินจากการระดมทุนไปใช้ในพัฒนาโครงการไฟฟ้าสะอาดสู่ความยั่งยืน ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และโครงการบริหารจัดการขยะครบวงจร (Waste-to-Energy) 

บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ออกและเสนอขายกรีนบอนด์ 3 ครั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา เพื่อนำเงินจากการระดมทุนไป ใช้ลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนด้วยพลังงานไฟฟ้า ลดการใช้รถยนต์ และจะช่วยลดการปล่อยมลภาวะในเขตกรุงเทพมหานคร

โดยการประเมินผลตอบแทนในกรีนบอนด์ จะคำนึงถึง “Greenium” (การผสมคำระหว่าง Green และ Premium) หรือผลต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond) กับตราสารหนี้ทั่วไป (Conventional Bond) ทั้งนี้ผลจากศึกษาที่ผ่านมา พบว่ามีทั้งในกรณีที่ที่สูงกว่า และ ต่ำกว่า) ตราสารหนี้ทั่วไป


ข้อมูลอ้างอิง 

https://www.setsustainability.com/page/sustainable-investment

http://www.pddf.or.th/upload/article/file_200921095754.pdf


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9