รู้ลึกเส้นทาง Landbridge ขนส่งสินค้า เชื่อมต่อโลก!!

ครั้งที่แล้วได้เล่าเกี่ยวกับที่มาและเส้นทางแลนด์บริดจ์ในอดีตกันไปแล้ว ในสัปดาห์นี้ก็ขอมาเล่าเกี่ยวกับเส้นทางที่ได้รับความนิยมในการขนส่งสินค้ากันบ้าง

เริ่มต้นจากเส้นทางยอดนิยม คือ แลนด์บริดจ์ในทวีปอเมริกาเหนือ ที่เชื่อมระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิคกับแอตแลนติก โดยขนสินค้าขึ้นฝั่งที่ท่าเรือทางตะวันตก เช่น ท่าเรือลองบีช หรือท่าเรือลอสแองเจอริสในประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วขนสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟมายังฝั่งตะวันออกของประเทศ ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในสามเส้นทางหลักในการส่งสินค้าจากเอเชียมายังทางตะวันออกของอเมริกาที่มีประชากรอยู่หนาแน่นและเป็นตลาดนำเข้าสินค้าที่สำคัญ ส่วนคู่แข่งอีกสองเส้นทางคือ การแล่นเรือผ่านทางคลองสุเอซและคลองปานามา ในปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาดการขนส่งสินค้าใกล้เคียงกันทั้งสามเส้นทาง แต่โครงการการขยายคลองปานามาที่แล้วเสร็จในปี 2016 ก็คาดว่าจะส่งผลต่อปริมาณสินค้าที่ลดลงในเส้นทางนี้

นอกจากนั้น มีการคาดการณ์ว่าหากส่งสินค้าจากโตเกียว ไปยังท่าเรือรอตเทอร์ดาม ในประเทศเนเธอร์แลนด์ด้วยเส้นทางนี้ จะใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ ถึงแม้ใช้ระยะเวลาน้อยกว่าเส้นทางที่ผ่านคลองสุเอซที่ใช้เวลาถึง 5 - 6 สัปดาห์ แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมเนื่องจากต้นทุนการขนส่งสินค้าสูงกว่าการขนส่งทางเรือผ่านทางคลองสุเอซ

เส้นทางต่อมา คือ  Trans-Asian Railway หรือ Eurasian Landbridge ที่เป็นหนึ่งในโครงการ OBOR (On belt one road) หรือในปัจจุบันเรียกกันว่า BRI (Belt and Road Initiative) เป็นเส้นทางรถไฟเชื่อมระหว่างเอเชียตะวันออกกับยุโรป โดยใช้เส้นทางรถไฟสายทรานไซบีเรียเป็นเส้นทางหลักในการเชื่อมกับยุโรป แล้วแยกได้ 3 เส้นทาง คือ ผ่านทางประเทศมองโกเลียในเส้นทางทรานส์มองโกเลียก่อนเข้าประเทศจีน หรือมาทางเมืองวลาดิวาสต็อกของรัสเซีย แล้วเข้าทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน และเส้นทางสุดท้ายคือมาทางประเทศคาซัคสถานก่อนเข้าทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ซึ่งเป็นเส้นทางที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน

ถึงแม้จะมีอุปสรรคหลายอย่างในเส้นทางนี้ เช่น เส้นทางนี้ผ่านถึง 7 ประเทศจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกประเทศ รวมถึงกฎระเบียบศุลากากรของแต่ละประเทศที่ต้องอำนวยความสะดวกให้แก่สินค้าผ่านแดน และยังมีประเด็นเรื่องขนาดรางที่มีความแตกต่างกันในประเทศอดีตสหภาพโซเวียตที่ใช้รางกว้าง 1.52 เมตร แต่ในจีนและยุโรปใช้รางกว้าง 1.435 เมตร  ปัญหาเหล่านั้น ทางรัฐบาลจีนก็สามารถแก้ไขปัญหาได้ และมีรถไฟขบวนแรกที่เปิดให้บริการจากปักกิ่งไปยังฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมันในปี 2018

เส้นทางนี้ ช่วยย่นระยะเวลาการเดินทางจากปกติที่ส่งสินค้าทางเรือ จากท่าเรือเซี่ยงไฮ้ไปท่าเรือรอตเทอร์ดาม ใช้เวลา 27-37 วัน เป็น 18 วัน แต่ก็ต้องแลกมาด้วยค่าขนส่งที่สูงขึ้นเป็นเท่าตัว และคาดการณ์ว่ารัฐบาลจีนให้เงินอุดหนุนโครงการนี้ไม่น้อยกว่า 50% เพื่อดึงดูดใจให้ผู้ส่งสินค้าเลือกใช้เส้นทางนี้ และใช้โครงการนี้เพื่อดำเนินนโยบายทางการต่างประเทศ เพราะมีการให้กู้ยืมเงินแก่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ เพื่อใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับโครงการนี้

จากที่เล่ามาจะเห็นได้ว่าถึงแม้เส้นทางบางเส้น จะใช้ระยะเวลาการขนส่งที่น้อยกว่า แต่ผู้ส่งสินค้ากลับไม่เลือกใช้เพราะมองเรื่องต้นทุนเป็นสิ่งสำคัญ และบางโครงการรัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงินมาอุดหนุนเพื่อส่งเสริมให้เกิดการขนส่งในเส้นทางนั้น ดังนั้นโครงการลงทุนต่าง ๆ ทางด้านโครงสร้างพื้นฐานการขนส่ง จึงจำเป็นต้องพิจารณาให้รอบคอบเพราะผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการอาจไม่เป็นไปตามผลการศึกษาที่ทำไว้

เขียนโดย อาจารย์ ศรัณย์ ดั่นสถิตย์ อาจารย์ประจำหลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา 


ข้อมูลอ้างอิง 
https://transportgeography.org/contents/applications/transcontinental-bridges
https://iit.adelaide.edu.au/ua/media/609/Discussion%20Paper%202020-04%20AESCON.pdf
https://www.forbes.com/sites/salvatorebabones/2017/12/28/the-new-eurasian-land-bridge-linking-china-and-europe-makes-no-economic-sense-so-why-build-it/?sh=39be641c5c9c