สำนักงานอาหารและยาแห่งชาติสหรัฐฯ (เอฟดีเอ) เพิ่มเติมคำเตือนบนเอกสารข้อเท็จจริงของวัคซีนโควิด-19 จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ระบุข้อมูลบ่งชี้ว่า มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับอาการระบบประสาทที่เกิดขึ้นยากมาก ๆ ในช่วง 6 สัปดาห์หลังฉีดวัคซีน

เมื่อวันจันทร์ (12 ก.ค. 64) ทางสำนักงานอาหารและยาแห่งชาติสหรัฐฯ (เอฟดีเอ) เพิ่มเติมคำเตือนบนเอกสารข้อเท็จจริงของวัคซีนโควิด-19 จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ระบุข้อมูลบ่งชี้ว่า มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับอาการระบบประสาทที่เกิดขึ้นยากมาก ๆ ในช่วง 6 สัปดาห์หลังฉีดวัคซีน

ในหนังสือที่ส่งถึงบริษัท ทางเอฟดีเอจัดให้โอกาสเกิดโรคกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร (Guillain Barre syndrome) หรือโรคระบบประสาทและกล้ามเนื้อที่ทำให้กล้ามเนื้ออัมพาตอ่อนแรงอย่างเฉียบพลัน ยังคงอยู่ในระดับ 'ต่ำมาก ๆ' และแนะนำว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ควรรีบไปพบแพทย์หากเกิดอาการต่าง ๆ ในนั้น รวมถึงอ่อนแรงหรือเป็นเหน็บชา เดินลำบากและเคลื่อนไหวใบหน้าลำบาก

มีประชาชนฉีดวัคซีนโดสเดียวของจอห์นสันแอนด์จอห์นสันแล้วราว ๆ 12.8 ล้านคนในสหรัฐฯ และทางเอฟดีเอระบุว่า ได้รับรายงานในเบื้องต้นเกี่ยวกับกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร ในบุคคลที่ฉีดวัคซีน 100 ราย ในนั้น 95 รายเป็นเคสอาการสาหัส ที่จำเป็นต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและเสียชีวิต 1 ราย

จอห์นสันแอนด์จอห์นสันระบุในถ้อยแถลงว่าพวกเขาอยู่ระหว่างพูดคุยหารือกับทางคณะผู้ควบคุมกฎระเบียบเกี่ยวกับเคสอาการกิลแลง-บาร์เร

อย่างไรก็ตาม พวกเขาเน้นย้ำว่าเคสอาการกิลแลง-บาร์เร ที่ได้รับรายงานในบุคคลที่ฉีดวัคซีนของจอห์นสันแอนด์จอห์นสันนั้นถือเป็นอัตราที่เล็กน้อยมาก ๆ

สำหรับกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร หรืออาการระบบประสาท จัดอยู่ในภาวะภูมิคุ้มกันแปรปรวนที่พบได้ค่อนข้างยาก เกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติและผลิตสารภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีออกมาทำลายเซลล์ประสาทของระบบประสาทรอบนอกจนอักเสบและสูญเสียการทำงาน ส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกอ่อนแรง มึนงง เกิดเหน็บชาตามร่างกายในระยะแรก และอาการอาจรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นอัมพาตในที่สุด

ทั้งนี้ เคสกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร เกิดขึ้นหลังจากติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส ไม่มียาหรือวิธีรักษาเฉพาะ แต่ร่างกายคนเราสามารถเยียวยาตนเองให้หายได้ เพียงแต่ต้องใช้ระยะเวลา แนวทางการรักษาจึงทำโดยประคับประคองอาการไม่ให้แย่ลง เพื่อช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วขึ้น และคนส่วนใหญ่มักฟื้นตัวโดยสมบูรณ์จากอาการกิลแลง-บาร์เร

ที่ผ่านมา อาการดังกล่าวเคยถูกโยงกับวัคซีนต่าง ๆ นานา ที่เด่นชัดที่สุดคือ โครงการฉีดวัคซีนระหว่างการแพร่รระบาดของไข้หวัดหมูในสหรัฐฯ ช่วงปี 1976 และอีกหลายทศวรรษก็ถูกโยงกับวัคซีนที่ใช้ระหว่างโรคระบาดใหญ่ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 ปี 2009

จากถ้อยแถลงของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ (ซีดีซี) พบว่า เคสส่วนใหญ่เกิดกับผู้ชาย ในนั้นจำนวนมากมีอายุ 50 ปีขึ้นไป และซีดีซีพบว่ามันไม่สูงไปกว่าเคสอาการกิลแลง-บาร์เร ที่คาดหมายว่าจะเกิดกับบุคคลที่ได้รับวัคซีนเทคโนโลยี mRNA ของไฟเซอร์ อิงค์/ไบโอเอ็นเทค และโมเดอร์นา อิงค์

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คณะผู้ควบคุมกฎระเบียบยุโรปแนะนำออกคำเตือนแบบเดียวกันกับวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งใช้พื้นฐานเทคโนโลยีเดียวกับวัคซีนของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน

คำเตือนนี้ถือเป็นอีกหนึ่งความผิดหวังสำหรับวัคซีนของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ซึ่งถูกคาดหวังว่าจะเป็นเครื่องไม้เครื่องมือสำคัญสำหรับฉีดวัคซีนแก่ประชาชนในพื้นที่ที่ยากเข้าถึงและในหมู่ผู้คนที่ลังเลฉีดวัคซีน เพราะมันใช้เพียงแค่โดสเดียว และสามารถเก็บรักษาในอุณหภูมิตู้เย็นปกติ ต่างจากวัคซีนของไฟเซอร์และโมเดอร์นา

แต่วัคซีนตัวนี้มีอันต้องสะดุดลง จากการถูกโยงกับอาการลิ่มเลือดอุดตันที่เกิดขึ้นน้อยมาก แต่เสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิต และปัญหาการผลิตที่ล่าช้า ณ โรงงานผลิตหลัก

อย่างไรก็ตาม คณะผู้ควบคุมกฎระเบียบของสหรัฐฯ สรุปในเดือนเมษายน ว่า ประโยชน์ของวัคซีนมีมากกว่าความเสี่ยงจากประเด็นลิ่มเลือดอุดตัน

 

 

(รอยเตอร์)

ที่มา : https://mgronline.com/around/detail/9640000068027


โปรเด็ด! ถึง 15 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9