คณะกรรมการโรคติดต่อ เคาะแล้วฉีดวัคซีนเข็ม 1-2 ต่างชนิดกัน เข็มแรก Sinovac เข็มสอง AstraZeneca สำหรับคนไทยทั่วไป พร้อมฉีด แอสตร้าฯ-ไฟเซอร์ ให้บุคลากรทางการแพทย์
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข แถลงผลการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติครั้งที่ 7/2564 ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีมติเห็นชอบ 4 ประเด็นต่อการควบคุมโรคโควิด-19 คือ
1.) การให้ฉีดวัคซีนโควิดสลับ 2 ชนิด เข็ม 1 เป็นวัคซีนซิโนแวค และเข็ม 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า โดยห่างจากเข็มแรกนาน 3-4 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา ซึ่งจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสให้อยู่ในระดับที่สูงได้เร็วมากขึ้น เป็นประโยชน์ต่อผู้รับวัคซีน
2.) การฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Booster dose) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า โดยห่างจากเข็ม 2 นาน 3-4 สัปดาห์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันให้สูงและเร็วที่สุด เพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ปฏิบัติงานด่านหน้า และธำรงระบบบริการสาธารณสุขของประเทศไทย เนื่องจากส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนซิโนแวค ครบแล้วนานมากกว่า 3 เดือน จึงควรได้รับการกระตุ้นในเดือนกรกฎาคมได้ทันที อาจเป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าหรือไฟเซอร์
3.) แนวทางการใช้ Antigen Test Kit ในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงการตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยใช้ Antigen Test Kit ที่ผ่านการรับรอง และขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ปัจจุบันขึ้นทะเบียนแล้ว 24 ยี่ห้อ โดยอนุญาตให้ตรวจในสถานพยาบาล และหน่วยตรวจที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการตรวจ RT-PCR ที่มีมากกว่า 300 แห่ง ช่วยลดระยะเวลารอคอย และในระยะต่อไปจะอนุญาตให้ประชาชนตรวจเองได้ที่บ้าน โดยจะมอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อ จังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร กำกับการดำเนินงานตามแนวทางปฏิบัติ
4.) แนวทางการแยกกักที่บ้าน (Home isolation) และการแยกกักในชุมชน (Community isolation) สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีเงื่อนไขเหมาะสม หรือไม่สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลได้ รวมทั้งการแยกกักในชุมชน ในกรณีการติดเชื้อโควิด-19 ในชุมชนเป็นจำนวนมาก โดยมีกระบวนการติดตามอาการอย่างใกล้ชิด จากสถานพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อความปลอดภัยและเป็นมาตรฐานในการดูแลรักษา เช่น มีเทอร์โมมิเตอร์วัดไข้ เครื่อง Oximeter วัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด และยารักษาโรค โดยมอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร นำเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป นอกจากนี้ ยังรับทราบแนวทางการจัดทีมดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียวหรือกลุ่มผู้ป่วยที่ออกจากโรงพยาบาลมาพักฟื้นที่บ้าน ในพื้นที่ กทม.
นายอนุทิน กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นการระบาดที่เกิดจากไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา และมีแนวโน้มแพร่เชื้อไปต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่มีสถานประกอบการ โรงงาน ตลาดค้าส่ง หากไม่มีมาตรการป้องกันควบคุมโรคที่เข้มงวดมีประสิทธิภาพ
คาดการณ์ว่าอาจพบผู้ติดเชื้อสูงถึง 10,000 ราย/วัน หรือสะสมมากกว่า 100,000 ราย ใน 2 สัปดาห์ ส่งผลทำให้มีการเสียชีวิตเกิน 100 ราย/วัน จำเป็นต้องใช้มาตรการยาแรงจะดำเนินการพร้อมกันในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เช่น ห้ามการรวมกลุ่มคนมากกว่า 5 คน จำกัดการเดินทางข้ามจังหวัด ลดจำนวนขนส่งสาธารณะข้ามจังหวัดระยะไกล ปิดสถานที่เสี่ยง ให้พนักงาน Work from home ให้มากที่สุด เพื่อลดโอกาสสัมผัสโรค ลดการเคลื่อนย้าย และลดกิจกรรมของบุคคลให้มากที่สุด
รวมถึงปรับแผนการฉีดวัคซีน ระดมฉีดกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรคทั่วประเทศ ตั้งเป้าฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ในพื้นที่ระบาดรุนแรง เช่น กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ให้ได้ 1 ล้านคนภายใน 1-2 สัปดาห์ เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันมากกว่า 80% เนื่องจากกลุ่มนี้หากติดเชื้อมีความเสี่ยงเสียชีวิตสูง โดยตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์-11 กรกฎาคม 2564 ฉีดวัคซีนไปแล้ว 12,569,213 โดส เป็นเข็ม 1 จำนวน 9,301,407 ราย เข็ม 2 จำนวน 3,267,806 ราย
โปรเด็ด! ถึง 15 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9