นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก หัวข้อ "โลกกำลังอยู่ในช่วงผันผวนรุนแรง ถ้าระบบราชการยังช้า ไทยจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง!"
นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก หัวข้อ "โลกกำลังอยู่ในช่วงผันผวนรุนแรง ถ้าระบบราชการยังช้า ไทยจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง!" โดยยกงานเขียนของนาย Bill Gates เคยเตือนภัยต่อโลกไว้ก่อนที่จะเกิดแพร่เชื้อโควิด 2 ปี ว่าจะมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเกิดขึ้นแน่นอน และภาวะโลกร้อน จะมีผลต่อชีวิตของมนุษย์มากกว่านี้หลายเท่าว่า...
ในช่วงที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสร่วมวงเสวนากับ Bill Gates ซึ่งจัดโดย บริษัทเก่าของผม เครือธนาคาร JP Morgan Chase มีประเด็นสำคัญหนึ่งที่เป็นยุทธศาสตร์หลักต่อโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยเป็นอย่างมาก
ผมขอชวนถกประเด็นพูดคุยกันได้ในโพสต์นี้นะครับ
ก่อนอื่นผมขอเล่าเกริ่นให้ฟังก่อนว่า Bill Gates เขากล่าวไว้ว่าอย่างไรบ้าง และมุมมองขยายความของผมต่อโอกาส และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของไทย หลังยุคโควิดควรมีโฉมหน้าอย่างไร
หากใครได้อ่านงานเขียนของ Bill Gates จะทราบว่า ท่านเคยเตือนภัยต่อโลกไว้ก่อนที่จะเกิดแพร่เชื้อโควิด 2 ปี โดยเขาขอให้ทั่วโลกเตรียมตัวรับมือ ว่าจะมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเกิดขึ้นแน่นอน ซึ่งมันเกิดขึ้นจริงตามที่เขาพูด นั่นแสดงให้เห็นว่า Bill Gates จับกระแส และพยากรณ์ความเปลี่ยนแปลงในเรื่องใหญ่ๆ ที่จะมีผลกระทบต่อมนุษยชาติได้ค่อนข้างแม่นยำ
ในวันนั้นเอง เขาได้พูดเรื่องผลกระทบที่ต่อโลกของเราโดยมองข้ามช็อตจาก โควิดไปสู่ภาวะโลกร้อน โดยระบุว่า "ไม่ว่าการแพร่เชื้อโควิดเที่ยวนี้จะรุนแรงแค่ไหน จะมีผลต่อชีวิตประชากรชาวโลกไปแล้วกี่คนก็ตาม แต่สุดท้ายแล้ว ผลจากภาวะโลกร้อน จะมีผลต่อชีวิตของมนุษย์มากกว่านี้หลายเท่า”
วันนี้ทั้งโลกกำลังมุ่งไปที่ปัญหาเฉพาะหน้า แล้วก็คิดเพียงว่าจะทำอย่างไรกับเรื่องนั้น ทั้งที่จริงๆ แล้วมันอาจจะมีวิกฤตการณ์ที่รอเราอยู่ ซึ่งจะมีผลต่อเรา มากกว่าวิกฤตการณ์เฉพาะหน้านี้อีกหลายเท่า เรื่องเฉพาะหน้าก็ต้องดูแลให้ดี เรื่องในอนาคตก็ต้องวางแผนให้ทัน
นั่นหมายความว่า สิ่งที่เราต้องทำคือ เตรียมแผนไว้ว่ามันอาจจะมีความเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ที่จะได้รับผลกระทบมากกว่า ศัพท์ใช้กันอย่างแพร่หลายในระยะหลังคือ VUCA V-Volatility ความผันผวนรวดเร็ว, U-Uncertainty ความไม่แน่นอนว่าจะเกิดอะไรอีก, C-Complexity ความสลับซับซ้อน และ A-Ambiguity ความคลุมเครือ ซึ่งพวกเราส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเห็นภาพว่ามันจะเป็นจะเป็นอย่างไร มันจะเกิดขึ้นกับเราหรือเปล่า จะมีผลกระทบกับประเทศไทยหรือไม่ เพราะดูเหมือนไม่ค่อยมีอะไรเปลี่ยนแปลงกับประเทศเรา
[ผมคิดว่าโควิดเป็นตัวเปลี่ยนแปลงที่บ่งชี้ชัดที่สุดว่า ตอนนี้ทั้งโลกอยู่ในภาวะ VUCA อย่างแท้จริง]
Bill Gates ยังให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจนั่นคือ "ความร่วมมือระหว่างประเทศติดลบ ขาดความร่วมมืออย่างสิ้นเชิงในทุกระดับ" ทั้งยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาและการรับมือ ดูได้จากมีการแก่งแย่งวัคซีนกัน
ผมค่อนข้างแปลกใจว่า ตอนนี้ไม่มีบทบาทของอาเซียนเลย ทั้งที่หากเรารวมตัวกันอำนาจการต่อรองกับบริษัทผู้ผลิตจะมากที่สุดในโลก แต่กลับกลายเป็นต่างคนต่างคิด แบบตัวใครตัวมัน ทั้งนโยบายและยุทธศาสตร์การตั้งรับ หรือแม้แต่การสั่งซื้อวัคซีนเอง เราต้องกลับมาทบทวนว่าจะปรับตัวอย่างไรเพื่อรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งในสถานกรณ์การแพร่เชื้อหรือปัญหาอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจาก ภาวะโลกร้อน
อย่างไรก็ตามก็มีมุมดีในแง่การรับมือของภาคเอกชน ส่งผลให้เรามีแนวโน้มโอกาสที่จะออกจากปัญหาเฉพาะหน้าได้เร็วกว่าที่คาดไว้เดิม ซึ่งตามที่นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศไป เมื่อวันก่อนว่า อีก 120 วัน จะเปิดประเทศ นั้นก็เพราะมันมีความเป็นไปได้เพราะตัวแปรสำคัญคือเรามีวัคซีนที่สามารถผลิตได้เร็วๆ และมีแนวโน้มว่าจะสามารถเข้าสู่สภาวะปกติได้ภายในเวลา 1 ปี เป็นเรื่องที่ค่อนข้างมหัศจรรย์มาก เมื่อเทียบกับในอดีตที่จะใช้เวลา 3-4 ปี หรือมากกว่านั้น ซึ่งทำให้มั่นใจว่า ด้วยประสบการณ์ และทรัพยากรที่มีอยู่ของ ภาคเอกชนทำให้เชื่อว่า หากเกิดการแพร่เชื้อชนิดใหม่ขึ้นอีก โลกก็น่าจะมีศักยภาพเพียงพอที่จะค้นหาวัคซีน เพื่อมาต่อกรกับไวรัสได้ในระยะเวลาเพียงไม่เกิน 6 เดือน แต่ในโลกของ VUCA ใครจะเป็นคนที่มีความมั่นใจว่าประเภทปัญหาในระดับวิกฤตที่เราะจะต้องรับมือในอนาคต มันต้องไม่ใช่การรับมือแบบเดิมอย่างแน่นอน
“นี่คือบริบทในการพูดถึง New Normal หากในอนาคตเราจะเจอปัญหาที่เคยประสบมาแล้ว เราต้องมีโครงสร้างและองคาพยพที่มีความฉลาดและยืดหยุ่นเพียงพอในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง
ถามว่าแล้วโครงสร้างสังคมและการบริหารจัดการของเรา ณ วันนี้มันมีความยืดหยุ่น คล่องตัว ว่องไว และมีความสามารถเพียงพอที่จะวิเคราะห์ปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนแล้วหรือไม่ ผมคิดว่าพวกเราทุกคน มีคำตอบเดียวกัน คือยังห่างไกล เพราะระบบบริหารจัดการระดับประเทศของเรา โดยเฉพาะระบบราชการ ที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมายาวนาน ในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมาเห็นชัดเจนว่า ขาดวัฒนธรรมการบริหารข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่ต้องเตรียมการรองรับโลกที่สลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น หากยังเป็นอยู่แบบนี้ โอกาสที่จะปรับตัวเพื่อแก้ปัญหาในอนาคตก็ยังน้อยเหมือนเดิม
[ไทยปรับตัวได้ช้า เพราะติดกับดัก “ระบบราชการ” ล้าหลัง]
เราจะหวังให้ระบบราชการปฏิรูปตัวเองคงเป็นไปไม่ได้ แม้ว่าคนทำงานหรือข้าราชการดีๆ เก่งๆ มีประสิทธิภาพ อยากสร้างความเปลี่ยนแปลงก็ตาม แต่เพราะอำนาจของหน่วยราชการ มาจากการรับหน้าที่ด้วยกฎหมาย ดังนั้น ตราบใดที่กฎหมายยังกำหนดว่าขั้นตอนต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้แม้จะไม่ทั้งหมด เพราะบางอย่างมันก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีขั้นตอนในระบบราชการ แต่หากจะนำไปสู่การยกระดับให้ระบบราชการมีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น แม้จะเป็นความเหมาะสมของแต่ละประเทศ แต่มันก็ได้ใช้แล้วกับหลายประเทศที่มีความหลากหลาย เช่น เกาหลีใต้ เวียดนาม และประเทศอื่นๆ ทางซีกตะวันตก ที่เขาเรียกกันว่า Regulatory Guillotine ปฏิรูปกฎหมาย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รัฐบาลนี้ก็เคย ได้พิจารณาเรื่องนี้ แต่มันก็เงียบหายไป เพราะขาดแรงดัน ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าประเทศไทยมีทั้งกฎหมาย กฎระเบียบ ประกาศกระทรวง เป็นจำนวนมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งมันเป็นค่านิยมที่ทำให้ ระบบราชการมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เพื่อที่จะมารองรับกฎพวกนั้นที่มีความสลับซับซ้อนและมากขึ้นเรื่อยๆ
[การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ต้องเกิด...ไทยต้องเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ เพื่อหาเงินแหล่งให้เข้ากระเป๋าคนไทย]
การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจนี้ คำถามคือ เราจะต้องปรับในประเด็นไหน ความจริงถ้าเราย้อนกลับไปดูวิกฤตต้มยำกุ้ง 20 กว่าปีที่ผ่านมา มันคือตัวเปลี่ยนในหลายๆ เรื่องในภูมิภาคเอเชียของเราเอง หลายประเทศได้รับผลกระทบในระดับเดียวกัน ทั้ง ไทย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ แต่ละประเทศ มีการปรับเปลี่ยนที่แตกต่างกัน แต่ประเทศไทยปรับน้อยมาก สิ่งที่มีความสำคัญต่อระบบโครงสร้างที่เกิดจากวิกฤตต้มยำกุ้ง คือ การลอยตัวค่าเงินบาท นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอื่นๆ แต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เพราะเงินบาทลอยตัว ส่งผลให้การส่งออกของเราไปแข่งกับคนอื่นได้ง่ายขึ้นในด้านของราคา ทำให้การส่งออกโตอย่างรวดเร็ว สัดส่วนการส่งออกเทียบกับจีดีพีต้มยำกุ้งประมาณ 35% หลังต้มยำกุ้ง มาถึงทุกวันนี้มี 70% ซึ่งเป็นเหตุให้ภาคธุรกิจที่เน้นการส่งออกเติบโต แต่การเติบโตเพียงเพราะเรามีขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านราคาที่ดีขึ้น ไม่ได้เติบโตด้วยนวัตกรรม หรือประสิทธิภาพในการผลิตที่ดีขึ้น และไม่ได้ส่งผลต่อโครงสร้างอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่
ตัวชี้วัดที่เห็นชัดๆ คือ ถ้าเราดูรายชื่อบริษัทชั้นนำที่มีอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศ เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน จนถึงวันนี้ ชื่อบริษัทยังไม่เปลี่ยนเลย ชื่อใหม่ๆ ก็เป็นรัฐวิสาหกิจบ้าง แต่ไม่ได้เกิดจากนวัตกรรมใหม่ๆ ถ้าเทียบกับสหรัฐอเมริกายี่สิบปีที่แล้ว ชื่อบริษัทที่ติดอันดับหนึ่งในห้า วันนี้คนรุ่นใหม่แทบจะไม่รู้จัก แต่วันนี้ TOP 5 มีแต่ Tech Company หมด ไม่ว่าจะเป็น Facebook Google Amazon Apple ทั้งๆ ที่ 20 ปีก่อน บริษัทพวกนี้ยังไม่ได้ก่อตั้งเลยด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าโครงสร้างเศรษฐกิจ วิธีการทำมาหากินของประเทศเขาเปลี่ยนแปลงไปมาก ขณะที่ของเรายังแบบเดิม และผู้ที่ประสบความสำเร็จ โดยส่วนใหญ่ ก็คือผู้ที่มีสัมปทานกับรัฐ ผู้ที่ค้าขายกับรัฐ หรือมีใบอนุญาตที่ออกจากรัฐคอยปกป้องคุ้มครอง
[ยุทธศาสตร์ Vaccine Economy เติมแหล่งรายได้ใหม่เข้ากระเป๋าคนไทย ทำได้ ทำไม่ง่าย แต่ไม่ทำ...ไม่ได้!]
เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรับคือ “การเพิ่มความสามารถการแข่งขัน” ซึ่งของไทยมีน้อย ทำให้บริษัทที่มีใบอนุญาตโตวันโตคืน ส่วนแบ่งตลาดก็มากขึ้น แต่บริษัทเล็กจะไม่มีโอกาสที่จะโตมาแข่งขันในฐานะแรงดันหลักทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ ซึ่งมันขาดนวัตกรรม สุดท้ายแล้วทำให้ขาดการลงทุนซึ่งเป็นหัวใจหลัก จากที่เปรียบเทียบให้เห็นแล้วว่า การลงทุนจากต่างประเทศในรูปของ FDI ของเราลดลงอย่างต่อเนื่อง จากการลงทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์
ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนจากต่างประเทศถอนการลงทุนจากตลาดหลักทรัพย์บ้านเราไปแล้วเกือบ 1 ล้านล้านบาท นั่นคือสาเหตุที่ดัชนีตลาดหุ้นของเราก็ยังย่ำอยู่ที่เดิม เราเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ดัชนียังไม่กลับไปอยู่ในระดับเดิมก่อนต้มยำกุ้งด้วยซ้ำไป ตรงนี้เป็นตัวบ่งชี้ให้เห็นว่าต่างประเทศที่เขาเป็นนักลงทุนมืออาชีพ ช่วงนี้เขามองว่าแนวโน้มโอกาสในการทำกำไร ในการลงทุนในประเทศอื่นสูงกว่าการลงทุนในประเทศไทย ซึ่งไม่ผิด เพราะผลตอบแทนจากการลงทุนในสหรัฐอเมริกาที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นเท่าตัวของเอเชียโดยเฉลี่ยก็เพิ่มขึ้นประมาณ 40% แต่ของไทยยังอยู่ที่เดิม หรือแม้แต่เราดูการลงทุนจากบริษัทเอกชนของไทยเอง จะเห็นว่าอัตราการขยายตัวในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ลดลงไปเกือบศูนย์ เหลือเพียง 2-3% เท่านั้น เพราะเขาไปลงทุนในประเทศอื่น ทั้งหมดเป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่า ไม่ใช่เพียงแค่เพิ่มสิทธิประโยชน์ เพื่อที่จะเป็นแรงจูงใจให้คนกลับมาลงทุน แต่เป็นเรื่องของการปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ เพื่อให้ผู้ประกอบการเขามีความรู้สึกว่าเขาอยากจะมาลงทุนที่นี่
“จุดเริ่มต้นในการที่จะดึงดูดความสนใจหรือกระตุ้นให้เศรษฐกิจมีความคึกคักมากยิ่งขึ้นข้อสำคัญ ต้องเริ่มที่ปฏิรูประบบราชการ เพื่อให้เกิดความคล่องตัว และมีทัศนคติในทางบวกมากขึ้น นอกจากนี้ยังต้องเพิ่มการแข่งขัน ซึ่งไม่ว่าจะทำด้วยวิธีใดก็ตามต้องเอาจริง ที่สำคัญเราต้องสร้างโอกาสของธุรกิจใหม่ (New-S-curve) ซึ่งก็ต้องกลับมาที่เรื่องทัศนคติอีก อย่างเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กลต. ออกประกาศสกัดดาวรุ่งเรื่องของการนำเหรียญ คริปโต พวกโทเคิล ประเภทต่างๆ ที่อาศัยเทคโนโลยีบล็อกเชน มาจดทะเบียน ซึ่งมันเป็นประกาศที่สร้างความตกใจให้กับทุกคนที่อยู่ในวงการคริปโต เพราะไม่ได้ส่งผลทางบวกกับใคร ถ้าเป้าหมายเพียงเพื่อต้องการปกป้องนักลงทุน ซึ่งเราก็รู้ๆ กันอยู่ว่านักลงทุนถ้าเขาอยากที่จะลงทุนในโลกคริปโตเขาสามารถที่จะลงทุนข้ามชายแดนได้โดยสะดวกอยู่แล้ว แต่ผลมันคือทำให้แนวโน้มโอกาสที่จะพัฒนาในส่วนของผู้เชี่ยวชาญที่จะพัฒนาทักษะหรือการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบล๊อคเชนในประเทศนั้นมันหมดไป ซึ่งเมื่อถูกปิดโอกาสแบบนี้ คนเก่งๆ ก็จะย้ายไปทำในประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์แทน”
แล้วผมจะมาชวนคุยต่อถึงแนวทางในการสร้างโอกาสที่ยั่งยืนให้ประเทศไทยสำหรับโลกใหม่หลังโควิดนะครับ
ที่มา : https://www.facebook.com/KornGoThailand/photos/a.10151851815469740/10159726945409740/
โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9