“ธิษะณา" ชี้ ร่างแก้ไขรธน.พปชร. หวังแก้ระบบเลือกตั้งเอื้อพรรคใหญ่ก่อนยุบสภา อัด ส.ว. ไม่จำเป็นต่อการเมืองไทย ทำประชาชนเปลืองภาษี เลี้ยงเสียข้าวสุก

น.ส.ธิษะณา ชุณหะวัณ แกนนำกลุ่ม Re-solution กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 22-23 มิ.ย. เพื่อพิจารณาญัตติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ว่า ขณะนี้มีร่างที่เสนอโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่มีหลักการสำคัญ คือ การเปลี่ยนระบบเลือกตั้งแต่ไม่มีเรื่องการตัดอำนาจ ส.ว.ในการโหวตนายกรัฐมนตรี รวมถึงนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ได้ระบุว่า หากร่างของพรรคพลังประชารัฐได้รับความเห็นชอบวาระรับหลักการจากรัฐสภา จะเข้าสู่ขั้นตอนตั้งคณะกรรมาธิการมาพิจารณาวาระ 2 ซึ่งคาดว่าใช้เวลาประมาณ 1 เดือนน่าจะได้ข้อสรุป เพราะเป็นการแก้แค่รายมาตรา และนำเข้าสู่การโหวตวาระ 3 ได้ในเดือน ส.ค. ซึ่งอาจจะพิจารณาเสร็จก่อนร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 65 นอกจากนี้ยังมีสมาชิกวุฒิสภาประกาศว่า ส.ว.จะไม่ให้ผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอตัดอำนาจ ส.ว.ในการร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีตาม มาตรา 272

น.ส.ธิษะณา กล่าวต่อว่า การเร่งดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐยิ่งตอกย้ำว่าไม่ได้มีเจตนาเพื่อขจัดการสืบทอดอำนาจของ คสช. และระบอบประยุทธ์ ซึ่งเป็นต้นตอปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 เพราะเป็นการแก้ในประเด็นรายละเอียดยิบย่อย ไม่ใช่สาระสำคัญและอาจเอื้อผลประโยชน์ให้กับพรรคของตนเอง ทำให้ตีความได้ว่าบันไดขั้นต่อไปหลังจากนี้ คือ การแก้ไขระบบเลือกตั้ง เพื่อให้เป็นระบบที่จะได้ประโยชน์ต่อพรรคการเมืองของพวกเขาและพันธมิตรภายใต้ร่มเดียวกันมากที่สุด เพื่อทำให้ระบอบประยุทธ์มีกติกาที่ได้เปรียบในทุกประตูก่อนจะยุบสภาเพื่อการเลือกตั้งในครั้งถัดไป การพยายามจะอธิบายอย่างรวบรัดว่าเป็นเพียงการเปลี่ยนระบบเลือกตั้งจากบัตร 1 ใบ เป็นบัตร 2 ใบ ก็เป็นการจงใจที่จะให้รายละเอียดไม่ครบ เพราะถึงแม้สังคมบางส่วนอาจเห็นด้วยกับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แต่ระบบเลือกตั้งที่มีบัตร 2 ใบ ก็มีหลายรูปแบบ แต่นายไพบูลย์เลือกเสนอรูปแบบที่เอื้อต่อพรรคการเมืองใหญ่ให้ได้สัดส่วน ส.ส. ในสภาที่สูงกว่าสัดส่วนคะแนนที่ได้จากการเลือกตั้ง และทำให้อาจมีคะแนนตกน้ำกว่า 20 ล้านเสียง

น.ส.ธิษะณา กล่าวต่อว่า ปัญหาหลักของการเมืองไทยปัจจุบัน รวมถึงปัญหาที่สืบเนื่องมาจากการเลือกตั้งปี 2562 ไม่ใช่เรื่องระบบเลือกตั้ง แต่คือการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ถูกสังคมตั้งคำถามว่าได้ปฏิบัติงานด้วยความเป็นกลางหรือไม่ ฉะนั้น เรื่องที่เร่งด่วนกว่าการแก้ระบบเลือกตั้ง คือ การแก้ที่มาของ กกต. รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการองค์กรอิสระทุกคน ซึ่งข้อเสนอนี้มีอยู่ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ Re-solution ในขณะที่ร่างแก้ไขฉบับอื่นไม่ได้พูดถึง และยิ่งเห็นความพยายามของ ส.ว. ที่ประกาศกร้าว ไม่เห็นหัวประชาชนว่าจะโหวตไม่ให้ผ่านร่างที่เสนอตัดอำนาจ ส.ว.ในการร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 272 ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้ผ่านสนามเลือกตั้งมา ไม่ได้ยึดโยงจากประชาชน แต่ยึดโยงกับคณะรัฐประหาร คสช. พวกเขายังจะไร้ยางอายมาลดทอนเสียงของเจตจำนงประชาชนทั้งประเทศ เป็นสภาที่เลี้ยงเสียข้าวสุกจากภาษีของประชาชนอย่างแท้จริง แม้ว่าประชาชนจะไม่ได้อยากเลี้ยงก็ตาม สิ่งที่ ส.ว.ทำมาตั้งแต่เข้าสู่อำนาจ จนได้รับฉายาว่าเป็น “สภาปรสิต” คือ การถูกใช้เป็นเครื่องมือของระบอบประยุทธ์ในการสืบทอดอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ ในแต่ละปีงบประมาณจากภาษีประชาชนถูกผลาญไปกับสภาปรสิตจำนวนมหาศาล ส.ว.อาจไม่มีความจำเป็นต่อการเมืองไทยอีกต่อไป 

“แนวคิดที่ว่า ส.ว.คือสภาพี่เลี้ยงเป็นสมมติฐานที่ไม่ถูก เพราะสถานการณ์ของประเทศไทยและของโลกเปลี่ยนไปมากแล้ว ประชาชนตื่นตัวทางการเมืองและรู้จักเรียกร้องเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนและสังคม อีกทั้งประเทศไทยก็เป็นรัฐเดี่ยว ไม่ใช่มลรัฐ จึงไม่จำเป็นต้องมี ส.ว.เพื่อเป็นตัวแทนของมลรัฐเข้ามาอยู่ในสภา และที่ผ่านมา ส.ว. ที่แต่งตั้งหลังการรัฐประหาร มักมีหน้าที่สำคัญเพียงอย่างเดียวคือการสืบทอดอำนาจให้คณะรัฐประหาร อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ปัจจุบันการตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ เพียงอย่างเดียวอาจไม่พอ เพราะ ส.ว. ยังมีอำนาจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการโหวตกฎหมายปฏิรูป ขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงมีอำนาจชี้ขาดในการแต่งตั้งองค์กรอิสระและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องพิจารณาการยกเลิก ส.ว. แล้วมีสภาเดี่ยวซึ่งเป็นข้อเสนอที่มีอยู่ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่ม Re-Solution เช่นกัน” น.ส.ธิษะณา กล่าว