เศรษฐีปริศนาจ่ายหนักทัวร์นอกโลก หวังนั่งข้างเจ้าของ Amazon

แม้ใน 190 ประเทศทั่วโลกจะยังมีสถานที่มหัศจรรย์รอให้ค้นหามากมาย แต่ดูเหมือนจะไม่ใช่สำหรับบุคคลปริศนารายหนึ่งที่กำเงินเกือบ 900 ล้านบาท ประมูลซื้อที่นั่งในเที่ยวบินท่องอวกาศของนายเจฟฟ์ เบซอส ซีอีโอของบริษัทแอมะซอน (Amazon) ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทสำรวจอวกาศ บลู ออริจิ้น (Blue Origin) ด้วย

เหตุการณ์ดังกล่าวเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อบุคคลปริศนารายนี้ได้ประมูลซื้อที่นั่งในเที่ยวบินดังกล่าวไปเป็นเงิน 28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 870 ล้านบาท เพื่อนั่งข้างๆ นายเจฟฟ์ เบซอส และ นายมาร์ค เบซอส ผู้เป็นน้องชาย บนเที่ยวบินท่องอวกาศของ Blue Origin ซึ่งจะปล่อยยานออกจากทะเลทรายในรัฐเท็กซัสในวันที่ 20 ก.ค.นี้ เพื่อท่องอวกาศเป็นเวลาเพียงไม่กี่นาที โดยวันที่ 20 ก.ค.นั้น ยังเป็นวันเดียวกับที่นีล อาร์มสตรอง และบัซ อัลดริน ได้กลายเป็นมนุษย์คนแรกที่ได้เดินบนดวงจันทร์เมื่อกว่า 50 ปีที่ผ่านมาด้วย

ผู้ชนะการประมูลดังกล่าวสามารถเอาชนะคู่แข่งคนอื่นๆ ประมาณ 20 รายในการประมูลที่เปิดฉากขึ้นเมื่อเดือนที่แล้ว ก่อนที่จะสิ้นสุดลงในการประมูลรอบสุดท้ายเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (12 มิ.ย.) ซึ่งมีผู้เสนอราคากันอย่างดุเดือดจนทำให้ราคาที่นั่งบนเที่ยวบินนี้พุ่งขึ้นอย่างร้อนแรง ทั้งๆ ที่เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้วมีราคาอยู่ที่เพียง 4.8 ล้านดอลลาร์

Blue Origin เปิดเผยว่า การประมูลครั้งนี้มีผู้ลงทะเบียนประมูลกว่า 7,500 รายจาก 150 ประเทศ แต่บรรยากาศการประมูลได้ดุเดือดขึ้นมาก หลังจากนายเจฟฟ์ เบซอส ประกาศว่าตนเองจะขึ้นบินด้วย พร้อมกับนายมาร์ค เบซอส ผู้เป็นน้องชาย จนทำให้จำนวนผู้เสนอราคาสูงสุดจากหลักหลายพันรายลดลงเหลือประมาณ 20 ราย

เที่ยวบินนี้จะมีผู้โดยสาร 4 รายด้วยกันได้แก่ สองพี่น้องตระกูลเบซอส บุคคลนิรนามผู้ชนะการประมูล และบุคคลที่ 4 ซึ่งยังไม่มีการเปิดเผยชื่อ โดย Blue Origin จะประกาศเปิดเผยตัวบุคคลนิรนามผู้ชนะการประมูลในอีกไม่กี่สัปดาห์นี้

อย่างไรก็ตามราคาตั๋วดังกล่าว เป็นราคาประมูลที่ผู้ซื้อเสนอราคาสูงสุดเท่านั้น และราคาบัตรเมื่อให้บริการจริงในอนาคต อาจจะปรับลดลลงมาให้อยู่ใกล้เคียงกับของ Virgin Galactic (อีกผู้เล่นหลัก) ที่ได้ขายบัตรโดยสารไปแล้วให้แก่ผู้โดยสารประมาณ 600 ราย ในราคาบัตรประมาณคนละ 200,000-250,000 ดอลลาร์ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ต่อไป

ทั้งนี้หากมองตลาดการท่องอวกาศ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นตลาดเล็กๆ แก่บรรดามหาเศรษฐีไม่กี่ราย แต่ผลสำรวจความคิดเห็นของคนรวยโดยบริษัทวิจัย Cowen ได้เปิดเผยให้เห็นว่า ตลาดการท่องอวกาศนี้อาจมีลูกค้าหลักล้านราย และน่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อราคาบัตรโดยสารถูกลง โดยปัจจุบันคาดว่าตลาดท่องเที่ยวอวกาศน่าจะมีผู้ที่สามารถเป็นลูกค้าได้ประมาณ 2.4 ล้านราย ซึ่งตัวเลขที่ว่านี้มาจากการประเมินความต้องการบินกับ Virgin Galactic เท่านั้น เพราะในช่วงเวลาที่ทำผลสำรวจดังกล่าวมีเพียง Virgin Galactic ที่เปิดขายบัตรแล้วจริงๆ แม้จะยังไม่มีการบินก็ตาม

ทว่าเมื่อดูจากตัวเลขที่ว่านี้แล้ว ปัญหาน่าจะอยู่ที่ซัพพลายมากกว่าดีมานด์ เนื่องจากยาน 1 ลำรองรับผู้โดยสารได้เพียง 6 คน ไม่ว่าจะเป็นยานของ Virgin Galactic หรือ Blue Origin และแม้จะเร่งสร้างยานเพิ่มแล้วก็ไม่ใช่ว่าจะสร้างขึ้นได้ง่ายๆ โดย Cowen คาดการณ์ว่า หาก Virgin Galactic สร้างยานได้ 11 ลำภายในปี 2573 บริษัทก็น่าจะส่งผู้โดยสารขึ้นอวกาศได้ประมาณปีละ 3,400 ราย ซึ่งยังคงถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนว่าที่ลูกค้าหลักล้านราย

สำหรับอุตสาหกรรมท่องอวกาศนั้นคาดว่าได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เมื่อมีเศรษฐีรายหนึ่งจ่ายเงิน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐจ้างรัสเซียให้ส่งตัวเองขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ทำให้เขาเป็นนักท่องเที่ยวอวกาศคนแรกที่จ่ายเงินค่าเที่ยวบินเอง และนับตั้งแต่นั้นก็มีคนเดินตามรอยนี้เพียง 7 คน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผลงานของหน่วยงานที่รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุน

แต่การเข้ามาของบริษัทเอกชน ไม่ว่าจะเป็น Blue Origin, Virgin Galactic หรือ SpaceX จะทำให้ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในช่วงแรกๆ ลูกค้าน่าจะจำกัดอยู่ที่เพียงกลุ่มผู้ที่ร่ำรวยมากๆ เพราะราคาบัตรน่าจะอยู่ที่ระดับหลักหลายล้านบาทเพื่อท่องอวกาศในเวลาไม่กี่นาที แต่เมื่อเวลาผ่านไปแล้ว ราคาบัตรอาจถูกลงจนเหลือหลักไม่กี่แสนบาท และเมื่อถึงวันนั้น เราอาจจะได้เห็นคนรู้จักโพสต์ภาพตัวเองบนยานอวกาศลงสื่อโซเชียลกันมากขึ้น

 

ที่มา: https://www.infoquest.co.th/2021/97137


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9