“พอเพียงสู่ความยั่งยืน” (ตอนที่ 3) กลยุทธ์ ของผู้ประกอบการยุคใหม่ ในมุมมองของครูบัญชี

การขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในระยะ 20 ปีข้างหน้า จำเป็นต้องสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้เป็นผู้ประกอบการใหม่ (New entrepreneur) ที่ก้าวทันและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการขับเคลื่อนธุรกิจ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Micro, Small and Medium-Size Enterprises หรือ MSME) เนื่องจากการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการมีบทบาทสำคัญต่อการกระตุ้นให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตและความเข้มแข็งของผู้ประกอบการจะช่วยให้ประเทศสามารถแข่งขันในระดับเวทีการค้าโลกได้โดยผู้ประกอบการใหม่จะต้องมีทักษะแห่งอนาคตที่มีความพร้อมทางด้านทัศนคติ ทักษะความสามารถและความรู้สำหรับการรับมือกับการแข่งขันที่จะรุนแรงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี

แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมยุคใหม่ (พ.ศ. 2561-2580) มีการขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะ 20 ปีข้างหน้า จำเป็นต้องสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้เป็น “ผู้ประกอบการยุคใหม่” ซึ่งหมายถึง ผู้ประกอบการที่มีทักษะและจิตวิญญาณของการเป็นผู้ประกอบการที่มีอัตลักษณ์ชัดเจน มีความสามารถในการแข่งขันและมีนวัตกรรมในการสร้างรูปแบบธุรกิจ นวัตกรรมของสินค้าและบริการ และนวัตกรรมในกระบวนการผลิตสินค้าและการให้บริการ ตลอดจนมีทักษะในการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัลเพื่อการดำเนินธุรกิจ และมีความสามารถในการเข้าถึงตลาดทั้งในและต่างประเทศ อันครอบคลุมถึงผู้ประกอบการทุกระดับ รวมถึงวิสาหกิจรูปแบบต่าง ๆ ทั้งวิสาหกิจระยะเริ่มต้น วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม และเกษตรกรทั้งรายเดิมและรายใหม่ที่ต้องการขยายกิจกรรมหรือธุรกิจ (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2564)

แล้วจะเริ่มต้นธุรกิจอย่างไรดี คงเป็นคำถามในใจสำหรับผู้ประกอบการใหม่เกือบทุกคนที่มองว่าเป็นเรื่องที่ยากในการเริ่มต้นจากตรงไหนก่อนดี แล้วเมื่อเริ่มต้นแล้วจะทำอย่างไรต่อไป ธุรกิจจึงจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ แนวทางในการเริ่มต้นธุรกิจหากผู้ประกอบการนำแนวทางหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานไว้และผู้เขียนได้อัญเชิญมาเขียนอธิบายไว้ในตอนที่ 2 ในเรื่องของความพอประมาณ คือ ความพอดีที่ไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่พอประมาณ ความมีเหตุผลในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดจนผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ รวมถึงการมีภูมิคุ้มกันในการเตรียมตัวให้พร้อมรับต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงรอบตัว มาใช้เป็นแนวทางและข้อมูลพื้นฐานในการวิเคราะห์สภาพปัญหาของผู้ประกอบการใหม่โดยพิจารณากำลังของตนเองเพื่อประเมินว่ามีคุณสมบัติที่จะประกอบธุรกิจนั้นได้หรือไม่ เช่น การเลือกประเภทธุรกิจที่เหมาะสม การสำรวจฐานะทางการเงิน ทำเลที่ตั้ง เป็นต้น พิจารณาตลาดลูกค้าและคู่แข่งขันในธุรกิจเดียวกัน รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งองค์กรต่อไป

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการใหม่ อาจมีการพิจารณานำเครื่องมือในการประเมินสถานการณ์สำหรับองค์การเพื่อวิเคราะห์สภาพแวดล้อมและศักยภาพ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการกำหนดจุดแข็งและจุดอ่อนจากสภาพแวดล้อมภายใน โอกาสและอุปสรรคจากสภาพแวดล้อมภายนอก ตลอดจนผลกระทบที่มีศักยภาพจากปัจจัยเหล่านี้ต่อการทำงานขององค์การ โดยการวิเคราะห์สภาวะแวดล้อม หรือ SWOT analysis 

ซึ่งอัลเบิร์ต ฮัมฟรี (Albert Humphrey) ได้พัฒนาขึ้นมาในระหว่างปี ค.ศ. 1960 - 1970 ในโครงการวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) เพื่อเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ประเมินแผนกลยุทธ์และค้นหาสาเหตุที่การวางแผนขององค์การในยุคนั้นมักจะล้มเหลวและในปัจจุบัน SWOT analysis ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในเครื่องมือวางแผนกลยุทธ์ที่ดีที่สุด และใช้กันแพร่หลายมากที่สุดประกอบด้วยส่วนประกอบที่สำคัญ 4 ส่วน คือ

1.) จุดเด่นหรือจุดแข็ง (Strengths) 

เป็นสิ่งที่มีอยู่ภายในองค์การและสามารถทำได้ดีเป็นพิเศษสร้างความได้เปรียบเหนือองค์การอื่น ๆ ทำให้องค์การมีความแตกต่างและองค์การสามารถควบคุมการเปลี่ยนแปลงได้ เช่น ฐานะการเงินที่แข็งแรง เทคโนโลยี สิทธิบัตร บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ แรงจูงใจในการทำงานของพนักงาน ข้อได้เปรียบในการเข้าถึงวัสดุหรือกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น

2.) จุดด้อยหรือจุดอ่อน (Weaknesses)

เป็นปัญหาหรือข้อบกพร่องที่เกิดจากภายในองค์การ เช่น ความสามารถเชิงเทคโนโลยีและนวัตกรรม ความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ความสามารถทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ความสามารถในการดำเนินกิจกรรมทางการตลาด ศักยภาพของแรงงานและทรัพยากรมนุษย์ ข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เป็นต้น

3.) โอกาส (Opportunities)

เป็นผลจากการที่สภาพแวดล้อมภายนอกองค์การเอื้อประโยชน์หรือส่งเสริมต่อการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการใหม่ เช่น นโยบายของรัฐบาลในการให้ความสำคัญและสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเนื่องจากมีบทบาทที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ การขยายตัวของตลาดส่งออกสินค้าจากการทำข้อตกลงการค้าเสรี แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงรสนิยมและรูปแบบการบริโภคของลูกค้าที่หันมานิยมสินค้าที่เป็นภูมิปัญญาไทยมากขึ้น การเคลื่อนย้ายแหล่งเงินลงทุนระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นมีการสนับสนุนให้เกิดการใช้แหล่งเงินทุนร่วมกัน เป็นต้น

4.) อุปสรรคหรือภัยคุกคาม (Threats)

เป็นปัจจัยภายนอกที่องค์การไม่สามารถกำหนดหรือควบคุมได้รวมถึงสิ่งที่อาจจะส่งผลเสียต่อธุรกิจได้ เช่น ปัญหาของห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) การเปลี่ยนแปลงความต้องการของตลาด การขาดแคลนแรงงานฝีมือ เป็นต้น องค์การจะต้องคาดการณ์สิ่งที่จะเป็นภัยคุกคามที่อาจจะเกิดขึ้นและดำเนินการป้องกันก่อนที่จะเกิดความเสียหายที่ส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจ

จากการวิเคราะห์สภาวะแวดล้อม หรือ SWOT analysis แล้วผู้ประกอบการใหม่คงมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจได้ว่าจะเริ่มต้นดำเนินธุรกิจได้อย่างไร ธุรกิจมีจุดแข็งหรือจุดอ่อนอะไรบ้าง และหากดำเนินธุรกิจไปแล้วมีช่องทางหรือโอกาสใดบ้างในการที่จะทำให้ธุรกิจมีการเติบโต รวมถึงปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ที่ทำให้ธุรกิจไม่ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ในการเริ่มต้นการเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อม ความพร้อม ความรู้ ความสามารถ เงินทุน และโอกาส เช่น

1.) การเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่มีอยู่เดิมของครอบครัว (Family business) 

เป็นกิจการที่ความเป็นเจ้าของส่วนใหญ่จำกัดภายในวงศ์ตระกูลมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยเนื่องจากเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญในการสร้างเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศและยังมีบทบาทในการเชื่อมโยงการผลิตกับผู้ผลิตและคู่ค้าอื่น ๆ ขณะเดียวกันธุรกิจครอบครัวยังมีความสามารถในการปรับตัวได้ดีกว่าธุรกิจโดยทั่วไป จากการสำรวจเหตุผลการทำธุรกิจวิสาหกิจรายย่อยและวิสาหกิจขนาดย่อม พบว่า วิสาหกิจรายย่อยและวิสาหกิจขนาดย่อมทั้ง 3 ภาคธุรกิจ (ภาคการผลิต ภาคการค้า ภาคการบริการ) มีเหตุผลหลักการทำธุรกิจ คือ เป็นแหล่งรายได้หลัก ส่วนเหตุผลรองลงมาสำหรับวิสาหกิจรายย่อย คือการทำธุรกิจเป็นการหารายได้เสริม ขณะที่วิสาหกิจขนาดย่อมมีเหตุผลรองในการทำธุรกิจเพราะต้องการสืบทอดธุรกิจเดิมของครอบครัวและมีแนวโน้มในการพัฒนาและต่อยอดธุรกิจของครอบครัวเพื่อให้เกิดการเติบโตต่อไปในอนาคต (สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, 2563)  

2. การเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ก่อตั้งขึ้นใหม่ (New entrepreneurship)  

การเริ่มต้นธุรกิจใหม่เป็นวิธีการที่ผู้ประกอบการจะต้องใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ กล้าเสี่ยง กล้าตัดสินใจ และพยายามที่จะก่อตั้งธุรกิจใหม่ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมมากที่สุด เนื่องจากเป็นวิธีที่มีความอิสระในการเลือกองค์ประกอบของธุรกิจให้เป็นไปตามแนวคิดของผู้ประกอบการได้ การเป็นผู้ประกอบการใหม่ อาจทำได้โดยการนำผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่และวางขายในตลาดอื่นอยู่แล้วมาเข้าสู่ตลาดใหม่ (New market) หรือการนำผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาด หรือนำผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมที่มีอยู่เดิมมาปรับปรุงให้มีคุณภาพดีกว่าเดิมเข้ามาขายในตลาดเดิม เป็นต้น

3.) การเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ซื้อต่อจากผู้ประกอบการอื่น (Takeover)

เป็นการเริ่มต้นธุรกิจโดยใช้วิธีรุก เข้าซื้อกิจการอื่นเพื่อความเป็นเจ้าของแล้วนำธุรกิจนั้น ๆ มาเป็นของตนเอง มีการควบคุมการบริหารงานต่าง ๆ รวมถึงใช้ประโยชน์จากความสามารถหลักของธุรกิจที่ซื้อมา เช่น ทรัพย์สิน ทักษะการดำเนินงาน เทคโนโลยี ขอบข่ายทางการตลาด สายสัมพันธ์ทางธุรกิจ รวมถึงชื่อเสียงของสินค้าและบริการที่มีอยู่เดิม การเริ่มต้นธุรกิจด้วยวิธีนี้จะทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องใช้เวลาหรือความสามารถมากในการพัฒนาขีดความสามารถและทรัพยากรหลัก ๆ ขณะเดียวกันหากผู้ประกอบการเลือกการเริ่มต้นธุรกิจด้วยวิธีนี้อาจจะส่งผลให้สูญเสียความเป็นผู้ประกอบการที่แท้จริงไปส่วนหนึ่งเนื่องจากขาดการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ด้วยตนเอง แต่ก็จะสามารถลดความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจและมีต้นทุนในการเริ่มต้นธุรกิจน้อยกว่าธุรกิจที่สร้างขึ้นใหม่

4.) การเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้วยการขอรับสิทธิทางการค้าจากเจ้าของสิทธิหรือธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchise)

เป็นการประกอบธุรกิจที่เจ้าของสิทธิ (Franchisor) ตกลงอนุญาตให้ผู้รับสิทธิ (Franchisee) ดำเนินธุรกิจภายใต้ชื่อการค้า การบริหาร และระบบธุรกิจของเจ้าของสิทธิ ซึ่งเป็นผู้พัฒนาขึ้น ผู้รับสิทธิจะต้องดำเนินธุรกิจตามรูปแบบและระบบธุรกิจของเจ้าของสิทธิ และจ่ายค่าตอบแทนแก่เจ้าของสิทธิ เจ้าของสิทธิจะให้ความช่วยเหลือผู้รับสิทธิในการดำเนินงาน เลือกทำเลที่ตั้ง อบรมวิธีปฏิบัติงาน สร้างระบบการเงินช่วยเหลือในการจัดตั้งธุรกิจ เป็นต้น

จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นหากผู้ประกอบการมีการพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในการเตรียมตัวให้พร้อมรับต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเริ่มต้นสำหรับการเป็นผู้ประกอบการแล้วก็จะสามารถเลือกธุรกิจที่เหมาะสมในการดำเนินงานได้ไม่ยากนัก ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจที่เหมาะสมกับตนเองด้วยความพอประมาณ คือ ความพอดีที่ไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นให้เดือดร้อนก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จหรือเกิดปัญหาน้อยกว่าผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจที่ไม่ถนัด ไม่มีความชำนาญ หรือไม่เหมาะสมกับข้อจำกัดที่มีอยู่

ในคราวหน้าซึ่งจะเป็นตอนที่ 4 ผู้เขียนจะกล่าวถึงปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้นั้นจะต้องมีองค์ประกอบใดบ้าง ที่จะทำให้ภารกิจขององค์การสำเร็จตามวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป

 

เอกสารอ้างอิง

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม.  (2563).  รายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปี 2563.  กรุงเทพฯ : สำนักงาน
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2564) แผนแม่บทประเด็นผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมยุคใหม่. สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2564, จากเว็บไซต์ : http://nscr.nesdb.go.th/


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9