“ซินโครตรอน” แสงที่ไขปริศนา...คดีฆาตกรรมน้องชมพู่

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คดีการฆาตกรรมน้องชมพู่ เด็ก 3 ขวบ ในหมู่บ้านกกกอก ต.กกตูม อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร ที่หายตัวออกไปจากบ้าน เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 และหลังจากใช้เวลาตามหา 3 วัน ก็พบว่าเป็นศพเปลือย อยู่ในป่าบนภูเขาเหล็กไฟ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 ซึ่งอยู่ห่างจากตัวบ้านที่น้องอาศัยอยู่เป็นระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร กลับเป็นข่าวดังอีกครั้ง หลังจากตำรวจใช้เวลาในการรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งคาดว่าน่าจะมีจำนวนมาก เป็นระยะเวลากว่า 1 ปี เต็ม 

จากระยะเวลาที่ยาวนาน ฝ่ายตำรวจกับอัยการคงต้องทำงานหนักในเรื่องการส่งฟ้องศาล เพราะทุกความเชื่อมโยงต้องไม่ให้เกิดความน่าสงสัยในพยานหลักฐาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตัวจำเลยในคดีอาญา เป็นเหตุให้ศาลยกฟ้องได้ ตามคำกล่าวที่คนเรียนกฎหมายมักจะได้ยินบ่อย ๆ คือ “ปล่อยคนผิดไป 10 คน ดีกว่าจับผู้บริสุทธิ์มา 1 คน” และมีพยานหลักฐานชิ้นหนึ่งที่ตำรวจค่อนข้างจะมั่นใจ เนื่องจากเป็นพยานหลักฐานที่ใช้นิติวิทยาศาสตร์ในการพิสูจน์ นั่นก็คือการใช้แสง “ซินโครตอน” ในการพิสูจน์ลักษณะความสอดคล้องกันของพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุ ที่เชื่อมโยงกับพยานหลักฐานที่พบในผู้ต้องสงสัย ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว พยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์จะเป็นหลักฐานที่มีน้ำหนักมากที่สุด เนื่องจากเป็นหลักฐานที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เหมือนกับพยานบุคคล ที่อาจะเปลี่ยนแปลงคำให้การได้ตลอดเวลา 

สำหรับวันนี้ จะพาทุกท่านมาดูกันว่า แสงซินโครตรอน คืออะไร และทำไมจึงใช้เป็นเครื่องมือในการพิสูจน์ตัวผู้กระทำความผิดได้ครับ 

แสงซินโครตอนคือแสงชนิดหนึ่ง ทั้งนี้โดยทั่วไปในชีวิตประจำวัน เราจะได้พบเห็นแสงต่าง ๆ มากกมาย เช่น แสงจากดวงอาทิตย์ แสงจากหลอดไฟ แสงจากดวงจันทร์ หรือแม้กระทั่งแสงจากหิงห้อย เป็นต้น แต่แสงซินโครตรอนที่จะพูดถึงนี้เป็นแสงที่มีลักษณะพิเศษกว่าแสงชนิดอื่น คือมีความเข้ม หรือความสว่างสูงกว่าแสงอื่นเป็นอย่างมาก โดยจะมีความเข้มของแสงมากกว่าแสงจากดวงอาทิตย์เป็นล้านเท่าเลยทีเดียว ทั้งนี้เนื่องจากลักษณะของแสงจะเป็นลำกรวยขนาดเล็กทำให้มีความเข้มสูง นอกจากนี้แล้ว เนื่องจากแสงซินโครตรอนถูกปลดปล่อยออกมาจากอิเล็กตรอนอิสระ ค่าความยาวคลื่นของแสงจึงครอบคลุมช่วงความยาวคลื่นกว้างตั้งแต่ย่านอินฟราเรดจนถึงรังสีเอกซ์ ทำให้สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลาย 

สำหรับแหล่งกำเนิดของแสงซินโครตรอนนั้น เกิดจากการกระตุ้นหรือเร่งให้อิเล็กตรอนที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วใกล้ความเร็วแสง คือความเร็ว 1,080,000,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และบังคับให้เลี้ยวโค้งด้วยความเร็วนั้น ในระหว่างที่เลี้ยวโค้งนั้นจะทำให้เกิดลำแสงที่มีลักษณะเป็นรูปทรงกรวยขนาดเล็ก หลุดออกมาในระหว่างโค้ง เปรียบเทียบได้กับการที่เวลามีอะไรวิ่งมาด้วยความเร็วสูง เมื่อเลี้ยวโค้งจะทำให้มีสิ่งของหลุดออกมาได้ในระหว่างที่เลี้ยวโค้ง เนื่องจากเกิดแรงเหวี่ยงขณะเลี้ยวโค้ง ซึ่งเครื่องที่ใช้กระตุ้นหรือเร่งให้อิเล็กตรอนมีความเร็วสูงนี้ เรียกว่าเครื่องซินโครตรอน จึงเรียกแสงที่เกิดจากกรณีนี้ว่าแสงซินโครตรอน นั่นเอง 

เนื่องจากลักษณะสมบัติของแสงซินโครตรอนที่มีความเข้มสูง และมีความยาวคลื่นกว้าง ทำให้สามารถประยุกต์ใช้งานได้หลายอย่าง ได้แก่การศึกษาองค์ประกอบของธาตุที่มีอยู่ในวัสดุ หรือการวิเคราะห์โครงสร้างของวัสดุต่าง ๆ โดย อาศัยหลักการ ทำให้แสงซินโครตรอนวิ่งผ่านเข้าไปกระตุ้นอะตอม ที่อยู่ภายในวัสดุที่จะวิเคราะห์ ทั้งนี้เนื่องจากแสงเป็นคลื่นชนิดหนึ่ง เมื่อแสงวิ่งผ่านวัสดุหรือสิ่งกีดขวาง จะทำให้เกิดการสะท้อน การหักเห การเลี้ยวเบน หรือเกิดการกระเจิง และการดูดกลืนคลื่นแสงของวัสดุที่แสงวิ่งผ่าน

นอกจากนั้นการที่เรายิงแสงความเข้มสูงไปกระทบกับวัสดุก็ทำให้มีอิเล็กตรอนหลุดออกมาได้ เป็นไปตามทฤษฎีทางฟิสิกส์ของแสง ส่งผลให้มีการปลดปล่อยรังสีเอกซ์ออกมา ซึ่งสมบัติเหล่านี้จะเป็นลักษณะเฉพาะของวัสดุ หรือสสารแต่ละชนิดที่มีพฤติกรรมต่อสมบัติของแสง และเมื่อนำลักษณะเหล่านี้มาวิเคราะห์ผ่านเครื่องมือจะทำให้ทราบลักษณะโครงสร้าง หรือองค์ประกอบของวัสดุ แต่ละชนิดได้ 

ทั้งนี้ในการใช้แสงซินโครตรอนมาช่วยวิเคราะห์พยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ อาศัยหลักการดังกล่าวข้างต้นของแสงซินโครตรอน มาตรวจสอบพยานหลักฐานที่พบในที่เกิดเหตุ และพยานหลักฐานที่พบในตัวผู้ต้องสงสัย ว่ามีความเชื่อมโยงกันหรือไม่ โดยในกรณีคดีการเสียชีวิตของน้องชมพู่นั้น เป็นการพิสูจน์พยานหลักฐานคือเส้นผมของน้องชมพู่ที่พบว่าถูกหั่นในที่เกิดเหตุ แล้วนำมาเปรียบเทียบกับเส้นผมที่พบในรถของผู้ต้องสงสัย ทั้งนี้พบว่าเป็นเส้นผมที่มีองค์ประกอบที่เหมือนกัน แสดงว่าเป็นเส้นผมของคนคนเดียวกัน นอกจากนั้นยังวิเคราะห์ได้ว่าลักษณะโครงสร้างของเส้นผมที่พบในทั้งสองจุด มีโครงสร้างที่เหมือนกันย่อมแสดงให้เห็นได้ว่าเป็นเส้นผมของคนเดียวกัน ที่มาจากจุดที่เกิดเหตุเดียวกันอีกด้วย ทำให้ตำรวจมีพยานหลักฐานที่ชัดเจนอีกชิ้นหนึ่ง ที่ทำให้ศาลอนุมัติออกหมายจับผู้ต้องสงสัยได้นั่นเอง 

โดยในปัจจุบันประเทศไทยมีหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อศึกษา และวิจัย รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากแสงซินโครตรอน คือสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ซึ่งตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา ครับ


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9