ทฤษฎีโดมิโน (Domino Theory) กับความเชื่อ 'ลัทธิคอมมิวนิสต์ครองโลก' และการสิ้นสุดที่หยุดลงตรงราชอาณาจักรไทย

คนที่อายุน้อยกว่าสี่สิบปีอาจไม่รู้ว่า โลกเคยผ่านช่วงของสงครามเย็น (Cold war) อันเป็นยุคสมัยที่ฝ่ายเสรีประชาธิปไตยนำโดยสหรัฐอเมริกากับฟากฝ่ายคอมมิวนิสต์แข่งขันในการเผยแพร่และต่อต้านความเชื่อและลัทธิทางการเมืองอย่างหนัก นับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง และสิ้นสุดลงพร้อมกับความล่มสลายของสหภาพโซเวียต จึงขอเล่าเรื่องราวของทฤษฎีโดมิโนให้ทราบพอสังเขปด้วย บทความนี้

ผลกระทบแบบโดมิโน (Domino effect)

ทฤษฎีโดมิโนเป็นทฤษฎีเกี่ยวกับนโยบายด้านการต่างประเทศ โดยอุปมาขึ้นจากลักษณะของการตั้งเรียงของตัวโดมิโน ซึ่งถ้าตัวโดมิโนตัวแรกล้มลงแล้ว จะทำให้ตัวโดมิโนตัวอื่น ๆ ซึ่งตั้งเรียงถัดมาพลอยล่มด้วยทั้งหมด ทฤษฎีโดมิโนจึงมีความหมายว่า ถ้าประเทศหนึ่งประเทศใดหันไปใช้ระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์แล้ว จะส่งผลให้ประเทศรอบข้างก็จะกลายเป็นระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ตามไปด้วย ซึ่งเรียกว่า "ผลกระทบแบบโดมิโน (Domino effect)” 

ทฤษฎีโดมิโนเกิดขึ้นในช่วงปี 1950 ถึง 1980 จากการขยายตัวของลัทธิและระบอบคอมมิวนิสต์ในทวีปยุโรปจากกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกกลายเป็นคอมมิวนิสต์ ส่วนในทวีปเอเชีย เมื่อจีน เกาหลีเหนือ และเวียตนามเหนือกลายเป็นคอมมิวนิสต์ จึงมีความเชื่อว่า ประเทศอื่น ๆ ทีเหลือ เช่น ลาว กัมพูชา เวียตนามใต้ ไทย มาเลเซีย ฯลฯ ที่สุดจะถูกครอบงำโดยระบบคอมมิวนิสต์ตามไปด้วย การล้มของแต่ละตัว “โดมิโน” จึงหมายถึงการล่มสลายของระบอบประชาธิปไตยในแต่ละประเทศ ทั้ง ๆ ที่ประเทศเหล่านั้นอาจไม่ได้มีความเป็นประชาธิปไตยเลยก็ตาม เพียงแต่รัฐบาลของประเทศนั้น ๆ เห็นดีและเห็นด้วยกับนโยบายต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ของสหรัฐอเมริกา 

ประธานาธิบดี Dwight D. Eisenhower

ทฤษฎีโดมิโนได้ถูกใช้โดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอย่างต่อเนื่องในช่วงสงครามเย็น เพื่อแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการการแทรกแซงประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกของสหรัฐอเมริกา เริ่มต้นจากประธานาธิบดี Dwight D. Eisenhower อธิบายทฤษฎีโดมิโนเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2497 ในการแถลงข่าวเมื่อกล่าวถึงลัทธิคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า “สุดท้ายเรามีข้อพิจารณาที่กว้างขึ้น ซึ่งอาจเป็นไปตามสิ่งที่เราจะเรียกว่า หลักการล้มของตัว "โดมิโน" เมื่อตัวมีโดมิโนที่ตั้งอยู่อันแรกล้มลง และสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับอันสุดท้ายคือความมั่นใจว่า มันจะเกิดขึ้นและผ่านไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงอาจมีจุดเริ่มต้นของการล่มสลายที่จะมีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งที่สุด แต่เมื่อเรามาถึงลำดับเหตุการณ์ที่เป็นไปได้ที่จะมีการสูญเสียอินโดจีน พม่า ไทย คาบสมุทรมาลายา (มาเลเซียและสิงคโปร์) และอินโดนีเซีย ตอนนี้เราพูดถึง…ผู้คนนับล้าน ๆ ๆ” 

พลเอก Douglas MacArthur

ยิ่งไปกว่านั้นด้วยความเชื่ออย่างลึกซึ้งของประธานาธิบดี Eisenhower เกี่ยวกับทฤษฎีโดมิโนในเอเชียทำให้เกิด “ต้นทุนการรับรู้ของสหรัฐอเมริกาในการไล่ตามลัทธิพหุภาคี” เนื่องจากเหตุการณ์ในหลายแง่มุมรวมถึง “ชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี  พ.ศ. 2492 (ค.ศ. 1949) การบุกเกาหลีใต้ของเกาหลีเหนือในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2493 (ค.ศ. 1950) วิกฤตการณ์เกาะนอกชายฝั่ง Quemoy ของไต้หวัน ในปี พ.ศ. 2497 (ค.ศ. 1954) และความขัดแย้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งถือเป็นความท้าทายในวงกว้างไม่เพียงแต่เป็นเพียงแค่เรื่องที่เกี่ยวกับประเทศเดียวหรือสองประเทศ แต่เป็นปัญหาของทั้งทวีปเอเชียและภูมิภาคแปซิฟิก” สิ่งนี้สื่อถึงพลังแม่เหล็กที่แข็งแกร่งที่กำลังจะถูกควบคุมโดยคอมมิวนิสต์ ซึ่งสอดคล้องกับคำอธิบายของพลเอก Douglas MacArthur ที่ว่า “ชัยชนะจะเป็นแม่เหล็กที่แข็งแกร่งในตะวันออก” 

ดร. Victor Cha

นอกเหนือจากคำอธิบายของประธานาธิบดี Eisenhower แล้ว ดร. Victor Cha นักวิชาการชาวอเมริกัน อดีตผู้อำนวยการฝ่ายกิจการเอเชียของสภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ยังได้อธิบายทฤษฎีโดมิโนในหนังสือ Powerplay : The Origins of the American Alliance System in Asia ซึ่ง ดร. Cha วิเคราะห์ทฤษฎีโดมิโน โดยอ้างอิงโดยยึดถือเอาภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเขาได้ระบุว่า "การล่มสลายของประเทศเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในเอเชีย อาจทำให้เกิดเครือข่ายของประเทศที่จะเข้าสู่ลัทธิคอมมิวนิสต์"

แม้ว่า ทฤษฎีโดมิโนจะเกิดในทศวรรษ 1950 แต่ประเทศเสรีตะวันตก มีความหวาดระแวงเกี่ยวกับลัทธิคอมมิวนิสต์ และด้วยวาระของความเป็นคอมมิวนิสต์สากลซึ่งมีมานานแล้ว ในช่วงปลายทศวรรษ 1940 ความหวาดระแวงนี้เริ่มก่อตัวขึ้นเป็นทฤษฎีโดมิโน อันเป็นผลมาจากการขยายตัวของพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต ซึ่งขณะนั้นนำโดย Josef Stalin ไปยังยุโรปตะวันออก และชัยชนะของลัทธิคอมมิวนิสต์ในจีน ผู้นำตะวันตกเชื่อว่า เมื่อลัทธิคอมมิวนิสต์ได้ตั้งหลักในประเทศหนึ่ง เพื่อนบ้านของประเทศจะถูกแทรกซึม บุกรุก และยึดครองโดยคอมมิวนิสต์อย่างรวดเร็ว เหมือนกับกลุ่มโดมิโนที่ยืนเรียงกันล้มลง คนหนึ่งล้มทับคนถัดไปจนทั้งหมดพังทลาย ไม่ชัดเจนว่าใครเป็นคนแรกที่ใช้การเปรียบเทียบของโดมิโนที่ล้มลงหรือเป็นผู้บัญญัติศัพท์ ทฤษฎีโดมิโน แต่การกล่าวถึงต่อสาธารณะครั้งแรกเกิดขึ้นโดยประธานาธิบดี Dwight D. Eisenhower ในสุนทรพจน์เมื่อปี พ.ศ. 2497 ซึ่งอธิบายว่า ทำไมอเมริกาจึงให้ความช่วยเหลือฝรั่งเศสในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ในอินโดจีน (เวียดนาม) ตามที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น

Josef Stalin ผู้นำของสหภาพโซเวียตตลอดสงครามโลกครั้งที่สองและช่วงต้นของสงครามเย็น

สองฟากฝ่ายในสงครามโลกครั้งที่สอง “สัมพันธมิตร (Allies)” และ “อักษะ (Axis)”

ความกลัวของสหรัฐฯ ซึ่งอาจได้รับอิทธิพลจากเหตุการณ์ในยุโรปในช่วงทศวรรษที่ 1930 จากการที่ประเทศในยุโรปไม่อาจต้านทาน Adolf Hitler ได้ และสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันที่เกิดขึ้นในเอเชีย ซึ่งการขยายตัวของจักรวรรดิญี่ปุ่นที่แม้แต่จีนก็ไม่สามารถต้านทานได้ จนกระทั่งกลายเป็นการรุกรานของกองทัพญี่ปุ่นไปทั่วทั้งเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งยังมีปัจจัยเพิ่มเติมคือความกังวลที่บางประเทศไม่สามารถต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการยึดครองในภูมิภาคของตน ในขณะนั้นประเทศในยุโรปส่วนใหญ่เหนื่อยล้า และอ่อนล้าทางเศรษฐกิจหลังจากสงครามอีกหลายปี รัฐบาลอ่อนแอและประชาชนต่างก็ หดหู่ สิ้นหวัง และหิวโหย สิ่งนี้ทำให้ตกเป็นเหยื่อของการแทรกซึมและการโฆษณาชวนเชื่อของคอมมิวนิสต์ได้โดยง่าย

เอเชียอ่อนแอพอ ๆ กับการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ รัฐบาลและกองกำลังทหารของประเทศในเอเชียส่วนใหญ่ค่อนข้างอ่อนแอ ประชากรส่วนใหญ่เป็น ชาวไร่ ชาวนา ซึ่งอ่อนไหวต่อการโฆษณาชวนเชื่อ และง่ายต่อการชักจูงให้เป็นแนวร่วมและสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์ ทั้งขบวนการชาตินิยม และการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชในเอเชียถือเป็น "ที่หลบซ่อน" ในอุดมคติสำหรับผู้แทรกซึมของคอมมิวนิสต์ พรมแดนในเอเชียไม่ได้รับการดูแลอย่างดี และส่วนใหญ่ไม่ปลอดภัย ดังนั้นคอมมิวนิสต์จึงสามารถย้ายเข้าและออกจากประเทศเป้าหมายได้โดยแทบจะไม่มีความยากลำบากเลย ทั้งยังมีความเสี่ยงและความอ่อนแอต่อการรับมือของลัทธิคอมมิวนิสต์ในทวีปแอฟริกาและทวีปอเมริกาใต้

การขยายตัวของจีนทำให้ทฤษฎีโดมิโนได้รับแรงหนุนจากสมมติฐานจากการขยายตัวของจีน นักยุทธศาสตร์ตะวันตกเชื่อว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนจะกลายเป็นแนวหน้าในการขยายลัทธิคอมมิวนิสต์ในเอเชีย เช่นเดียวกับที่สหภาพโซเวียตเคยทำในยุโรปตะวันออก เหตุการณ์สงครามเกาหลี (พ.ศ. 2493-2496) ดูเหมือนจะเป็นสนับสนุนความเชื่อนี้ จีนสนับสนุนการรุกรานเกาหลีใต้ของคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือ และขณะเดียวกันปักกิ่งก็ให้การสนับสนุนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์และการขนส่งผ่านจากสหภาพโซเวียตแก่ Ho Chin Minh และขบวนการเวียตมินห์ที่เกิดขึ้นในภาคเหนือของเวียดนามอีกด้วย และเมื่อความสามารถทางเศรษฐกิจและการทหารของจีนเพิ่มมากขึ้น ทางตะวันตกเชื่อว่า ปักกิ่งจะขยายลัทธิคอมมิวนิสต์เพื่อสร้างกันชนระหว่างตัวเองและภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น สิ่งนี้ทำให้หลายประเทศเสี่ยงต่อการรุกรานของคอมมิวนิสต์ ได้แก่ เกาหลีใต้ เวียดนาม ไต้หวัน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ไทย พม่า ทิเบต มาลายา สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

Harry S. Truman, Dwight D. Eisenhower และ John F. Kennedy / Lyndon B. Johnson (ขวา) และ Richard M. Nixon

จากประธานาธิบดี Henry S. Truman จนถึงประธานาธิบดี Richard M. Nixon ต่างก็สนับสนุนทฤษฎีโดมิโน แม้ว่าประธานาธิบดี Truman จะไม่เคยใช้การกล่าวเปรียบเทียบแบบโดมิโน แต่ก็ยอมรับหลักการทั่วไปของทฤษฏีโดมิโน และใช้เป็นพื้นฐานในหลักการของ Truman (Truman doctrine) ประธานาธิบดี John F. Kennedy ได้กล่าวถึงทฤษฎีโดมิโน และบอกใบ้ถึงทฤษฎีนี้ในสุนทรพจน์เปิดตัวโดยเตือนว่า “ความปลอดภัยของเราอาจสูญหายไปทีละประเทศทีละประเทศ” ประธานาธิบดี Lyndon B. Johnson และประธานาธิบดี Richard Nixon ต่างยอมรับว่า ทฤษฎีโดมิโนเป็นความจริง ซึ่งเป็นจุดยืนในการสนับสนุนความต่อเนื่องและการลุกลามของสงครามเวียดนาม ความพ่ายแพ้ราคาแพงของอเมริกันในเวียดนามทำให้ทฤษฎีโดมิโนเป็นกลายเป็นเรื่องที่น่าอดสูอย่างยิ่ง ซึ่งทุกวันนี้ยังคงเป็นประเด็นความคิดที่มีการถกเถียงกันอยู่ทั่วไป โดยผู้คัดค้านจะมีจำนวนมากกว่าผู้สนับสนุน บางคนอ้างว่า ทฤษฎีโดมิโนนั้นถูกต้อง และได้รับการตรวจสอบ โดยการแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ในเอเชีย การแทรกแซงของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้เท่านั้นที่สามารถหยุดความคืบหน้า บ้างก็ว่า ทฤษฎีโดมิโนเป็นแนวคิดที่เรียบง่าย แต่ไม่เข้าใจธรรมชาติที่แท้จริงของขบวนการปฏิวัติในเอเชีย ซึ่งเป็นพวกชาตินิยมและสังคมนิยมมากกว่าคอมมิวนิสต์หัวรุนแรง

แนวคิดของทฤษฎีโดมิโนในระหว่างสงครามเย็น

1.) ทฤษฎีโดมิโนเป็นความเชื่อที่ว่า ลัทธิคอมมิวนิสต์จะแพร่กระจายจากประเทศหนึ่งไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เปรียบเหมือนตัวโดมิโนที่ล้มลงไล่เรียงต่อกันไป และเริ่มเป็นที่รู้จักและใช้อ้างอิงในการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1950 กระทั่งสงครามเย็นสิ้นสุด

2.) ทฤษฎีดังกล่าวเกิดจากอุดมการณ์ของ Vladimir Lenin ผู้ซึ่งเรียกร้องให้มี “การปฏิวัติระหว่างประเทศ” และพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตจะเป็นแกนในการสนับสนุนการปฏิวัติของกลุ่มคอมมิวนิสต์ในต่างประเทศ

3.) การใช้การเปรียบเทียบแบบโดมิโนครั้งแรกเกิดขึ้นโดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ Dwight D. Eisenhower ซึ่งเตือนว่า ลัทธิคอมมิวนิสต์สามารถแพร่กระจายไปทั่วเอเชีย และเข้าควบคุมครอบงำผู้คนนับล้าน ๆ ได้

4.) ประเทศในเอเชียถูกมองว่า มีความอ่อนแอต่อการรับมือกับลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นพิเศษ ด้วยรัฐบาลและกองทัพอ่อนแอ สังคมไร้การศึกษา และพรมแดนของประเทศเหล่านี้ไม่มีความมั่นคงแข็งแกร่ง

5.) ทฤษฎีโดมิโน ได้รับการยอมรับว่าเป็นความจริง โดยประธานาธิบดีสหรัฐฯหลายท่าน ด้วยความเชื่อจากการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งสนับสนุนต่อหลักการของ Truman รวมถึงองค์ประกอบอื่น ๆ ตามนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา

หลักการ Truman (Truman doctrine)

นายพล Lon Nol / เจ้าสุวรรณภูมา / นายพล Dương Văn Minh

หลังจากการล่มสลายของรัฐบาลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สหรัฐฯให้การสนับสนุนซึ่งพ่ายแพ้แก้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ อันได้แก่ รัฐบาลสาธารณรัฐกัมพูชานำโดยนายพล Lon Nol เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2518 ต่อกองกำลังเขมรแดง รัฐบาลสาธารณรัฐเวียตนามนำโดยนายพล Dương Văn Minh เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2518 ต่อกองทัพปลดปล่อยประชาชนเวียตนามและกองลำลังเวียตกง และรัฐบาลราชอาณาจักรลาวนำโดย เจ้าสุวรรณภูมา เมื่อ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2518 ต่อกองกำลังของขบวนการปลดปล่อยประเทศลาว ทั่วทั้งโลกต่างจับจ้องมายังราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของทั้งลาวและกัมพูชา และเวียดนามก็อยู่ถัดไปจากทั้งสองประเทศดังกล่าว ยิ่งไปกว่านั้นแล้วรัฐบาลไทยยังอนุญาตให้กองทัพสหรัฐฯ ใช้ฐานทัพในประเทศส่งเครื่องบินรบไปทิ้งระเบิดทำลาย สร้างความเสียหายแก่ทั้งสามประเทศดังกล่าวมากมายจนเหลือคณานับ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและพระบรมวงศานุวงศ์ทรงงานเพื่อพสกนิกรอย่างหนัก

และไทยเองยังคงมีปัญหาความไม่สงบในประเทศจากการต่อสู้ระหว่างรัฐบาลและกองกำลังติดอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในแทบทุกภาคของประเทศนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 พอปี 2518 เมื่อกัมพูชาถูกเขมรแดงยึดครอง และเวียตนามใต้ก็พ่ายแพ้แก่เวียตนามเหนือและเวียตกง ผู้สังเกตการณ์ต่างชาติจำนวนหนึ่งคิดว่าไทยจะต้องกลายเป็นคอมมิวนิสต์ตามทฤษฏีโดมิโน แต่คนไทยมีชื่อเสียงในด้านการโอนอ่อนไปตามลมที่พัดผ่าน เช่นเดียวกับไม้ไผ่ที่จะไม่แตก และจะโค้งงอลู่ไปตามแรงของลมพายุ นักธุรกิจต่างชาติบางคนคิดว่า ประเทศไทยอยู่ในช่วงเวลาที่เลวร้ายถึงขนาดยอมขายบริษัทของตนในราคาที่ถูกมาก การลงทุนของต่างชาติในไทยซึ่งเป็นศูนย์กลางทางภูมิรัฐศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลง ชาวอเมริกันเคยได้รับการบอกเล่าจากเหล่าบรรดาผู้นำของตนว่า ประเทศไทยจะล่มสลายหากเพื่อนบ้านในอินโดจีนกลายเป็นคอมมิวนิสต์ 

โดยที่ผู้นำอเมริกันได้ยืนยันซ้ำแล้วซ้ำเล่าในช่วงสงครามเวียดนามว่า จีนอยู่เบื้องหลังเวียดนามเหนือ และเรียกร้องให้ทำสงครามต่อไป ดังที่ Lyndon B. Johnson แถลงที่มหาวิทยาลัย John Hopkins ในปี พ.ศ. 2508 ว่า หากจีนและเวียดนามเหนือชนะในเวียดนามใต้ ''การต่อสู้จะเกิดขึ้นใหม่ในประเทศหนึ่งและจากนั้นอีกประเทศหนึ่ง” ทำให้ขณะนั้นเกิดปรากฏการณ์ “ฝันร้ายเกิดซ้ำในทุกวันของทั้งนักลงทุนต่างชาติและเหล่าคหบดีชาวไทยคือ พวกเขาอาจจะต้องต่อสู้แย่งกันเพื่อที่จะขึ้นเฮลิคอปเตอร์อพยพเที่ยวสุดท้ายที่ออกจากกรุงเทพฯ'' Jeffrey Race, นักวิชาการชาวอเมริกัน จาก Institute of Current World Affairs กล่าวในเดือนเมษายน พ.ศ. 2519 แต่เขาคาดว่าเรื่องเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งเขาคาดการณ์ได้ถูกต้อง 

ฐานที่มั่นของกองกำลังติดอาวุธพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

การที่ไทยไม่เป็นโดมิโนตัวต่อไป อันเนื่องปัจจัยภายในประเทศดังนี้ : 
(1) เพราะการทรงงานเพื่อพสกนิกรอย่างหนักในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและพระบรมวงศานุวงศ์ “ด้วยในแผ่นดินประเทศไทยนี้ไม่มีจังหวัดใด อำเภอไหน ที่ไม่เคยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยือนอาณาประชาราษฎร์ของพระองค์” การเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรทุกเชื้อชาติศาสนา ถือเป็นพระบรมราโชบายที่จะได้ทรงทำความรู้จักกับราษฎร ทรงรับฟังความทุกข์ และทอดพระเนตรสภาพปัญหาที่แท้จริงของราษฎรด้วยพระองค์เอง และเมื่อทรงทราบถึงปัญหาแล้วจะพระราชทานความช่วยเหลือ ทั้งพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ หรือพระราชทานพระราชดำริถึงวิธีแก้ปัญหา บางปัญหาทรงทดลองหาทางแก้ไขด้วยพระองค์เอง ก่อนจะพระราชทานเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในด้านต่างๆ 

(2) การต่อสู้ระหว่างรัฐบาลและกองกำลังติดอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในแทบทุกภาคของประเทศ ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมให้กองกำลังต่างชาติเข้ามายุ่งเกี่ยวหรือมีบทบาทในการสู้รบ กองทัพไทยได้รับความช่วยเหลือด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ และการฝึกฝนอบรมจากรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATO) แต่ไม่อนุญาตหรือยินยอมให้กองทหารหรือเจ้าหน้าที่ต่างชาติใด ๆ เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในปฏิบัติการต่อต้านความไม่สงบในประเทศเลย เช่นเดียวกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็ได้รับความช่วยเหลือด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ปละการฝึกฝนอบรมจากพรรคคอมมิวนิสต์ต่างชาติ แต่ก็ไม่ยินยอมให้กองกำลังต่างชาติเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการสู้รบกับรัฐบาลไทยด้วยเช่นกัน 

(3) คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 66/2523 เรื่อง “นโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์” คำสั่งนี้ได้วางแนวปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์หรือผู้หลงผิดที่เข้ามอบตัว หรือที่จับได้ อย่างเพื่อนประชาชนร่วมชาติ โดยไม่มีการดำเนินคดีย้อนหลัง ยกเว้นบางคนที่มีคดีอาญาร้ายแรง รวมทั้ง ช่วยเหลือให้ใช้ชีวิตใหม่ร่วมกันต่อไปในสังคมอย่างเหมาะสม อันเป็นแนวคิดของ พล.ต.เปรม (พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีต นายกรัฐมนตรี ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ) ตั้งแต่เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 2 ต่อมาได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็น พล.ท. เป็นแม่ทัพภาคที่ 2 ระหว่างปี พ.ศ. 2517-2520 และต้องเผชิญสงครามแย่งชิงมวลชนกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เมื่อท่านเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 พล.อ.เปรม และคณะทำงานคือ พล.ต.ปฐม เสริมสิน, พ.อ.หาญ ลีนานนท์, พ.อ.เลิศ กนิษฐะนาคะ เริ่มตระหนักว่าวิธีการปราบปรามอย่างเดียวไม่น่าจะได้ผล เพราะชาวบ้านก็ไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่ จำเป็นต้องใช้วิธีต่อสู้ทางความคิด และดึงเอาประชาชนมาเป็นฝ่ายเดียวกับราชการ เดือนมีนาคม พ.ศ. 2523 พล.อ.เปรม ได้รับแต่งตั้งจากรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมกับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก หลังจากนั้น 1 เดือน ในวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2523 จึงมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 หลังจากนั้นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์และมวลชนที่เข้าป่าไปจับปืนต่อสู้ทยอยเดินทางออกจากป่าในฐานะผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ประเทศไทยจึงรอดพ้นจากการยึดครองของลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการหยุดทฤษฎีโดมิโนไปอย่างถาวร

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีต นายกรัฐมนตรี ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ผู้ริเริ่มคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 66/2523 เรื่อง “นโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์”

กองกำลังเวียดนามในกัมพูชา

ไม่พียงแต่ปัญหาอันเป็นปัจจัยภายในที่ได้กล่าวมาเท่านั้น ยังมีปัจจัยภายนอกซึ่งเป็นปัญหาที่ใหญ่หลวงที่ไทยต้องประสบพบเจอคือ แผนตัดขาดและยึดภาคอีสานของไทยตามยุทธการตัว L (L Operation) และรวมภาคอีสานของไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เป็นสหพันธ์อินโดจีน โดยมีเวียดนามเป็นผู้นำ โดยมีลักษณะภูมิประเทศรูปตัวแอลใหญ่ (L) คือพื้นที่ป่าภูเขาบริเวณรอยต่อจังหวัดพิษณุโลก จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดเลย ทอดตัวยาวลงมาทางใต้ตามแนวเทือกเขาเพชรบูรณ์ มาบรรจบกันบริเวณเขาใหญ่ บริเวณรอยต่อ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนครนายก และจังหวัดสระบุรี ซึ่งทอดตัวยาวมาจากทิศตะวันตก ตั้งแต่จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดบุรีรัมย์ ตามแนวเทือกเขาพนมดงรัก เขาบรรทัด เขากำแพง และบรรจบกันที่เขาใหญ่ อ.ปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา 

ซึ่งต่อมากำลังทหารเวียดนามบุกเข้ากัมพูชาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2521 เพื่อล้มล้างระบอบเขมรแดง กำลังทหารกัมพูชาส่วนใหญ่ได้อพยพมาอยู่ทางด้านตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศที่ติดกับชายแดนไทย โดยมีกลุ่มชาวกัมพูชาที่ต่อต้านการยึดครองของเวียดนามอยู่ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มกัมพูชาประชาธิปไตย (Democratic Kampuchea) หรือกลุ่มเขมรแดงของ พล พต และ เขียว สัมพันธ์ มีสมาชิกประมาณ 40,000 คน มีฐานที่ตั้งอยู่บริเวณพนมกระวันและบริเวณตะวันตกของจังหวัดพระตะบอง กลุ่มแนวร่วมปลดแอกแห่งชาติของประชาชนเขมร (Khmer People’s National Liberation Front - KPNLE) ภายใต้การนำของซอนซาน มีสมาชิกประมาณ 4,000-12,000 คน และกลุ่มแนวร่วมแห่งชาติเพื่อเอกราช ความเป็นกลาง และสันติภาพในกัมพูชา (Front d"union national pour un Cambodge independant, pacifiaue et cooperatif : FUNCINPEC) ภายใต้การนำของสมเด็จนโรดม สีหนุ การที่กลุ่มต่อต้านทั้งสามกลุ่มนี้มีฐานกองกำลังใกล้กับชายแดนไทยเพื่อเป็นง่ายต่อการหลบหนีเมื่อกำลังเวียดนามบุกเข้ามา กำลังกัมพูชาก็หลบหลีกเข้าสู่ดินแดนไทย ในการนี้เวียดนามเห็นว่าไทยยินยอมให้ชาวกัมพูชาฝ่ายต่อต้าน ใช้พื้นที่เป็นที่หลบหนีและคุ้มกันการโจมตีของกำลังเวียดนามและกำลังของ เฮง สัมริน 

ขณะนั้นกองทัพไทยเมื่อเปรียบเทียบกับเวียดนามแล้วนั้นถือได้ว่าเทียบกันไม่ติด ในขณะนั้นมีการจัดอันดับความเข้มแข็งทางทหารของเวียดนามว่า อยู่ในอันดับที่ 4 ของโลก ในขณะที่กองทัพไทยไม่ติดอันดับหนึ่งในยี่สิบเลย เนื่องจากกองกำลังทางทหารของฝ่ายไทยไม่เคยผ่านการรบมาก่อนหรือถ้าผ่านก็เป็นการรบแบบสมัยใหม่ ซึ่งมีแนวการรบแบบสหรัฐอเมริกาอันแตกต่างกับเวียดนามซึ่งกองกำลังของเวียดนามมีทักษะในการรบที่ดีกว่าและรู้วิธีการรบแบบกองโจร 

นอกจากนี้ทหารของเวียดนามก็ยังมีประสบการณ์รบจากสงครามเวียดนาม ขณะที่เวียดนามบุกกัมพูชานั้น กองกำลังทางทหารของเวียดนามมีจำนวนมากถึง 875,000 คน โดยที่ยังไม่รวมกำลังทหารของฝ่ายเฮง สัมริน ที่ไม่ทราบจำนวนที่แน่นอน ด้วยการรบทั้งแบบกองโจรและการรบแบบสมัยใหม่ ขณะที่ฝ่ายไทยนั้นมีประสบการณ์เพียงเรื่องการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ และมีกำลังทหารที่ผ่านสงครามในลาวและเวียดนาม ซึ่งชำนาญการรบตามหลักนิยมของกองทัพสหรัฐอเมริกา ซึ่งต้องมีอำนาจการยิงที่เหนือกว่าจึงจะทำการรบได้ นอกจากนี้เวียดนามยังมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เหลือจากสงครามเวียตนามอยู่มาก รวมทั้งในระหว่างปี พ.ศ. 2521 - 2531 นี้เวียดนามได้รับความช่วยเหลือทางทหารจากสหภาพโซเวียตเป็นจำนวนมหาศาล เพื่อพัฒนากองทัพให้ทันสมัยและเพื่อการปราบปรามฝ่ายต่อต้านในการกัมพูชา จึงกล่าวได้ว่า ขณะนั้นไทยมีขีดความสามารถที่ด้อยกว่าเวียดนามอยู่มาก

การคงอยู่ในกัมพูชาของกองกำลังเวียดนามในช่วงเวลาระหว่างปี พ.ศ. 2522–2532 ถือเป็นช่วงวิกฤตของไทยเลยทีเดียว การจัดการกับปัจจัยภายนอกในกรณีนี้ รัฐบาลไทยโดยกระทรวงต่างประเทศได้ทำงานอย่างหนักและได้ผล ด้วยการ 

(1) ใช้สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ดำเนินการกดดันเวียดนามในกรณีนี้ในทุกเวทีนานาชาติ ซึ่งประสบผลสำเร็จโดยเวียดนามถูกโดดเดี่ยวในทางการเมืองและเศรษฐกิจ 

(2) ใช้ความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจที่เป็นคู่ขัดแย้งกับเวียดนามเช่น จีนดำเนินการกดดันเวียดนาม และยอมให้จีนส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ผ่านไทยไปสนับสนุนกองกำลังกัมพูชาที่ต่อต้านเวียดนาม (รวมทั้งเขมรแดง) 

(3) สหประชาชาติยังคงให้การรับรองรัฐบาลเขมรสามฝ่าย ซึ่งเป็นฟากฝ่ายที่ต่อต้านเวียดนาม ประกอบกับนโยบายของนานาชาติเกี่ยวกับกัมพูชาส่งผลต่อเศรษฐกิจของเวียดนาม สหรัฐประกาศคว่ำบาตรเวียดนาม และมีหลายประเทศในสหประชาชาติไม่รับรองเวียดนามและสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา และมีการปฏิเสธสมาชิกภาพขององค์กรระดับนานาชาติ เช่น ธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชีย และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ใน พ.ศ. 2522 ญี่ปุ่นได้กดดันโดยลดความช่วยเหลือต่อเวียดนาม ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียต และปัญหาเรือมนุษย์ ทำให้สวีเดนที่เคยสนับสนุนเวียดนามถอนการรับรองด้วย การโดดเดี่ยวในระดับนานาชาติ และปัญหาทางเศรษฐกิจทำให้เวียดนามต้องพึ่งสหภาพโซเวียตมากขึ้น 

โดยเฉพาะหลังจากการทำสงครามกับจีนใน พ.ศ. 2522 สหภาพโซเวียตให้ความช่วยเหลือเวียดนาม 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และสูงที่สุดใน พ.ศ. 2524 – 2528 ใน พ.ศ. 2529 สหภาพโซเวียตประกาศลดความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจต่อเวียดนามลง 20% และลดความช่วยเหลือทางทหารลง 1 ใน 3 ต่อมา ในวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 คณะกรรมการโปลิตบูโรของเวียดนามได้ปรับนโยบายการต่างประเทศโดยจะเปิดประเทศรับการลงทุนและความช่วยเหลือจากต่างชาติ เวียดนามยุติการประณามสหรัฐอเมริกา จีน อาเซียน และเริ่มมีการถอนทหารออกจากกัมพูชาโดยลำดับ รัฐบาลเวียดนามได้ลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพเมื่อ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2534 เพื่อฟื้นฟูสันติภาพในกัมพูชา เวียดนามและจีนได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2533 การสิ้นสุดความขัดแย้งในกัมพูชา ทำให้ประเทศในอินโดจีนได้แก่ ลาว และกัมพูชา เข้าร่วมกับอาเซียน ในช่วง พ.ศ. 2534 – 2535 เวียดนามได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศสมาชิกอาเซียน และการลงทุนของประเทศสมาชิกอาเซียนในเวียดนามระหว่าง พ.ศ. 2534 – 2537 คิดเป็น 15% ของการลงทุนของต่างชาติในเวียดนาม 

ต่อมาในวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 เวียดนามได้เข้าเป็นสมาชิกอันดับที่ 7 ของอาเซียนอย่างเป็นทางการ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2538 เวียดนามได้ประกาศยกระดับจากตัวแทนจากเป็นสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาหลังจากที่มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระดับปกติต่อกันตั้งแต่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 รวมทั้งการเข้าร่วมองค์การการค้าโลกเมื่อปี พ.ศ. 2550 และการเข้าร่วมลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ทำให้การโดดเดี่ยวเวียดนามออกจากสังคมโลกสิ้นสุดลง และทฤษฎีโดมิโน ซึ่งว่าด้วยความเชื่อที่ว่า ลัทธิคอมมิวนิสต์จะครองโลก หยุดลงที่ราชอาราจักรไทยโดยสิ้นเชิง


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9