Berlin Airlift ปฎิบัติการขนส่ง 'ข้ามเวหา' สะท้านโลก แผนสุดแสบ!! ดัดหลังโซเวียต ยุคสงครามเย็น

Berlin Airlift ถือเป็นอีกปฎิบัติการขนส่งทางอากาศครั้งใหญ่ของโลกที่มักจะถูกพูดหยิบยกมาเป็นกรณีศึกษาด้านโลจิสติกส์ทางอากาศอย่างน่าสนใจ

เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ทำข้อตกลงพอทสดัม (Potsdam Agreement) แบ่งเยอรมนีออกเป็น 4 ส่วน และแบ่งกันควบคุมส่วนละประเทศ ซึ่งได้แก่สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อังกฤษ และโซเวียต ถึงแม้กรุงเบอร์ลินจะอยู่ใจกลางเขตปกครองของโซเวียตที่อยู่ทางตะวันออกของเยอรมนี แต่ก็ถูกแบ่งการปกครองออกเป็น 4 ส่วนเช่นกัน จึงทำให้เบอร์ลินเป็นเหมือนไข่แดงที่อยู่ท่ามกลางกองกำลังของโซเวียต

ต่อมามีความเห็นที่ไม่ตรงกันระหว่างสองขั้วอำนาจที่ทางฝ่ายตะวันตกประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส ที่ต้องการฟื้นฟูเยอรมนีขึ้นมาใหม่และพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของยุโรปแต่โซเวียตไม่เห็นด้วยกับแผนการนี้ เมื่อทางฝ่ายตะวันตกได้ออกเงินสกุลเงินใหม่เพื่อใช้ในเยอรมันตะวันตก เพราะต้องการตัดขาดทางเศรษฐกิจกับเยอรมันตะวันออกในการครอบครองของโซเวียต 

ในวันที่ 25 มิถุนายน 1948 โซเวียต จึงตอบโต้ด้วยการปิดเส้นทางการจราจรเข้าออกเบอร์ลินทั้งทางถนน ทางราง และทางน้ำ คงเหลือไว้แต่เพียงเส้นทางการบินเท่านั้น เพื่อเป็นการกดดันให้ฝ่ายตะวันตกถอนกองกำลังออกจากเบอร์ลิน

ฝ่ายพันธมิตรตะวันตก ซึ่งมีภารกิจเร่งด่วนในการจัดส่งอาหาร เวชภัณฑ์ และของใช้ที่จำเป็นให้แก่ประชาชนและทหารที่อาศัยในอยู่ในเบอร์ลินตะวันตกมากกว่าสองล้านคน (คาดการณ์ว่าจะต้องจัดส่งสินค้าวันละไม่น้อยกว่า 4,500 ตัน) จึงประสบปัญหาโดยทันที

อย่างไรก็ตาม ทางกองทัพสหรัฐฯ ก็ได้เข้ามาช่วยเหลือปัญหานี้ โดยมอบหมายภารกิจให้แก่ พลตรี วิลเลียม เอช. ทันเนอร์ (William H. Tunner) ผู้ที่มีผลงานการจัดส่งยุทธภัณฑ์จากอินเดียไปยังจีนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ภารกิจนี้อาจไม่ใช่เรื่องยากสำหรับปัจจุบัน แต่หากย้อนกลับไปเมื่อกว่า 60 ปีที่แล้ว ที่เทคโนโลยีต่าง ๆ ยังไม่ทันสมัยเท่ากับในวันนี้ จึงจัดได้ว่าสะท้านวงการโลจิสติกส์กันเลยทีเดียว เพราะด้วยพาหนะหลักที่ใช้ในการขนส่งคือ เครื่องบิน Douglas C-54 นั้น สามารถขนได้มากสุดครั้งละ 10 ตัน จึงต้องมีเที่ยวบินไปส่งสินค้าที่เบอร์ลินไม่น้อยกว่า 450 เที่ยวต่อวัน 

หลังรับภารกิจดังกล่าวมา นายพลทันเนอร์ ได้ออกแบบระบบการขนส่งสินค้า โดยให้มีเที่ยวบินห่างกันทุกๆ 3 นาที ซึ่งเป็นระยะเวลาต่ำสุดที่ยังคงไว้ซึ่งความปลอดภัย เท่ากับ 24 ชั่วโมงจะมีเที่ยวบินลงจอดที่เบอร์ลินมากสุด 480 เที่ยว และทุกเที่ยวบินต้องดำเนินงานตามเวลาที่กำหนดเพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับเครื่องบินลำอื่นที่ตามมา

เริ่มจากเครื่องบินออกที่สนามบินต้นทางตรงเวลา ใช้ความเร็วและบินไปตามเส้นทางที่กำหนด และมีโอกาสในการนำเครื่องบินลงที่เบอร์ลินเพียงครั้งเดียว หากนักบินทำไม่สำเร็จต้องขนสินค้ากลับไปยังต้นทางเพราะหากบินวนอีกครั้งจะส่งผลกระทบต่อเที่ยวบินที่ตามมา

ในอดีตเมื่อนักบินนำเครื่องลงแล้วจะลงจากเครื่องเพื่อไปพักผ่อนและรับประทานอาหารว่างพร้อมกับฟังบรรยายสรุปเที่ยวบินขากลับ แต่ในตอนนี้ ทันเนอร์ มองว่าเป็นการเสียเวลา จึงได้ออกแนวทางปฏิบัติใหม่ให้ลูกเรืออยู่บนเครื่องขณะที่สินค้ากำลังถูกขนลงจะมีอาหารว่างเสริฟถึงเครื่องพร้อมกับเจ้าหน้าที่มาบรรยายสรุป จึงทำให้เวลาที่เครื่องลงจอดใช้เวลาเพียง 30 นาที ก็สามารถบินกลับขึ้นไปใหม่ได้

ภารกิจในครั้งนี้ใช้เครื่องบินถึง 300 ลำ โดยสับเปลี่ยนเป็นเครื่องบินปฏิบัติการ 200 ลำ และอยู่ระหว่างการซ่อมบำรุง 100 ลำ 

ทั้งนี้ ทันเนอร์ ได้มีการปรับระบบการซ่อมบำรุงเครื่องบินใหม่ โดยแต่เดิมทีมช่างชุดเดียวซ่อมทุกอย่างในเครื่องที่ตนดูแล แต่ระบบใหม่คือทีมช่างที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านจะอยู่ประจำที่ แล้วเครื่องบินจะถูกส่งต่อไปยังทีมช่างในแต่ละสถานีแทน เพื่อให้การซ่อมบำรุงทำได้รวดเร็วขึ้น 

เมื่อการดำเนินงานทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ เขาจึงได้ขยายจุดรับสินค้าไปยังสนามบินอีกสองแห่ง ซึ่งอยู่ในเบอร์ลินตะวันตก

ยิ่งไปกว่านั้น พอใกล้ถึงฤดูหนาว ความต้องการสินค้าก็เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะถ่านหิน เพื่อใช้สร้างความอบอุ่น ที่คาดการณ์ว่าต้องการสินค้ามากถึง 7,000 ตันต่อวัน 

ดังนั้น ทันเนอร์ จึงได้วางแผนการจัดส่งถ่านหินให้ได้ถึงวันละ 10,000 ตัน เพื่อสร้างประวัติศาสตร์การขนส่งสินค้าทางอากาศครั้งใหญ่ โดยเขากำหนดวันที่ดำเนินงาน คือ วันอีสเตอร์ในปี 1949 ซึ่งในช่วงเวลา 24 ชั่วโมงของวันนั้น ชาวเบอร์ลินจะได้เห็นเครื่องบินต่อแถวยาวเป็นขบวนพาเหรดเข้ามาส่งสินค้า 

การขนส่งครั้งนั้น ได้สร้างสถิติด้วยเที่ยวบินทั้งหมด 1,398 เที่ยว กับถ่านหินจำนวน 12,941 ตัน เทียบเท่ากับการขนส่งด้วยรถไฟจำนวน 600 คัน โดยไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นแม้แต่ครั้งเดียว

ดูเหมือนว่าการปิดล้อมเบอร์ลินของโซเวียตจะไม่ได้ผลตามที่คาดหวัง ในทางกลับกันยังถูกพันธมิตรตะวันตกตอบโต้ด้วยการงดส่งสินค้าไปยังเยอรมันตะวันออก ส่งผลให้เกิดความขาดแคลนและทางโซเวียตเกรงว่าหาปล่อยไว้อาจเกิดการลุกฮือขึ้นต่อต้านของประชาชนได้ จึงจำเป็นต้องยกเลิกการปิดล้อมหลังจากที่ดำเนินการปิดล้อมเป็นเวลา 11 เดือน 

อย่างไรก็ตาม ปฏิบัติการขนส่งสินค้าทางอากาศยังดำเนินงานต่อไปอีก 3 เดือน เพื่อให้มั่นใจว่าโซเวียตจะไม่ทำการปิดล้อมอีก

สำหรับปฏิบัติ Berlin Airlift ได้สิ้นสุดลงในวันที่ 1 กันยายน 1949 โดยมีเที่ยวบินทั้งหมด 276,926 เที่ยว ขนส่งสินค้ามากกว่า 2.3 ล้านตัน ซึ่งภารกิจครั้งนี้ประสบความสำเร็จได้จากการบริหารงานของ พลตรี วิลเลียม เอช. ทันเนอร์ ที่ปรับปรุงกระบวนการทำงานต่าง ๆ และเป็นต้นแบบให้แก่การบินในปัจจุบัน ซึ่งเมืองเบอร์ลินได้ตั้งชื่อถนนตามชื่อของท่านเพื่อเป็นเกียรติต่อเหตุการณ์ในครั้งนี้ด้วย


ข้อมูลอ้างอิง 
https://www.logisticshalloffame.net/en/members/william-h-tunner

https://www.defense.gov/Explore/Inside-DOD/Blog/Article/2062719/the-berlin-airlift-what-it-was-its-importance-in-the-cold-war/

https://history.state.gov/milestones/1945-1952/berlin-airlift

https://www.americanheritage.com/william-h-tunner-berlin-airlift-commander#1