คอร์รัปชั่น...ไหมครับท่าน ตอนที่ 5 การป้องกัน และการปราบปรามการทุจริต

การแก้ปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบในประเทศไทยนั้นยังพอมีหนทางที่จะทำได้ ซึ่งตอนที่ผ่านมานั้น ผู้เขียนได้เสนอแนะในเรื่องการใช้งบการเงินในฐานะเครื่องมือที่ทรงพลังในการส่งสัญญาณที่ผิดปกติของแต่ละองค์กรภาครัฐไปแล้วนั้น สรรสาระ ประชาธรรม ตอนนี้ จะกล่าวถึงองค์ประกอบในการแก้ปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบที่มีองค์ประกอบสำคัญในภาพใหญ่สองด้าน นั่นคือ (1) การป้องกันการทุจริต และ (2) การปราบปรามการทุจริต ซึ่งศาสตราจารย์ ดร. อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ในโอกาสครบรอบ 4 ปีการจัดตั้ง ป.ป.ช. ว่า 

“…มีวิธีใดบ้างที่สามารถแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นให้น้อยลงไปได้นั้น เห็นว่าการแก้ปัญหาดังกล่าวมี 2 วิธี คือ การป้องกันและการปราบปราม สำหรับการป้องกันนั้นถ้าได้ผล การปราบปรามก็จะมีความสำคัญน้อยลง ดังนั้น การแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นจึงควรเน้นหนักที่การป้องกัน แต่การที่จะทำให้การทุจริตลดน้อยลงได้นั้น ในทางปฏิบัติทำได้ยากมาก เพราะการทุจริตคอร์รัปชั่นนั้นฝังรากลึกในระบบราชการ การแก้ปัญหาดังกล่าวให้ได้ผลจึงยากมาก ดังนั้น ก่อนที่จะมีมาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงควรศึกษาอย่างเป็นระบบว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นมีวิธีการอย่างไรบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน…” 

ในประเด็นนี้ นักคิด นักปฏิบัติ และผู้คร่ำหวอดในวงการธรรมาภิบาล เช่น ดร.บัณฑิต นิจถาวร ได้กล่าวไว้ว่า “มี 2 สาเหตุที่ทำให้ปัญหาคอร์รัปชั่นแก้ยาก สาเหตุแรก การบังคับใช้กฎหมายอ่อนแอ อีกเหตุผลหนึ่ง คือ สังคมเองอ่อนแอ” และเมื่อวิเคราะห์บริบทสำคัญย้อนกลับไปในอดีตนั้น จะพบว่า การที่ประเทศไทยมีความสัมพันธ์กับระบบอุปถัมภ์ และระบบอิทธิพลสูง ทำให้ปัญหาคอร์รัปชั่นรุนแรงและแก้ไขยาก ที่น่ากลัวกว่านั้น คือ ดร.บัณฑิต กล่าวว่า “...คนพร้อมจะช่วยกันทำความผิด พร้อมช่วยคนผิดให้พ้นผิด และที่แย่ที่สุด คือ พร้อมสรรเสริญคนผิด เพียงเพราะเขารวย ไม่ตั้งคำถามเกี่ยวกับที่มาที่ไปของความร่ำรวย ยอมรับนับถือ จนกลายเป็นคนมีหน้ามีตาในสังคม ทำให้คนยิ่งกล้าทำผิดเพราะนอกจากจะรวยแล้ว ไม่ถูกจับแล้ว ยังมีคนสรรเสริญ มีหน้ามีตาในสังคม ในสังคมไทยเรื่องนี้ชัดเจน และเป็นความอ่อนแอ ทำให้คอร์รัปชั่นกลายเป็นบันไดไต่เต้าให้กับคน จากที่ไม่มีอะไรเลย กลายเป็นคนที่สังคมรู้จัก ร่ำรวย มีตำแหน่ง แม้จะโกงบ้านโกงเมือง...”

กลับมาที่การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น เมื่อการป้องกันสำคัญกว่าการปราบปราม และหากสังคมเข้มแข็ง มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อกรณีการทุจริตประพฤติมิชอบ ปัญหาคอร์รัปชั่นจะเบาบางลง ดังนั้น หากเรามองไปดูประเทศอื่นที่แต่เดิมปัญหาคอร์รัปชั่นรุนแรง ว่าประเทศเหล่านั้นแก้ปัญหาได้อย่างไร และสามารถนำมาปรับใช้กับประเทศไทยได้อย่างไร เราจึงควรพิจารณากลุ่มประเทศที่ได้รับคะแนน ดัชนีการรับรู้เรื่องคอร์รัปชั่น (Corruption Perception Index--CPI) จัดทำโดย องค์กรความโปร่งใสสากล (Transparency International) ซึ่งประเทศที่มีค่า CPI-2020 เกินครึ่งมีเพียง 57 ประเทศเท่านั้นจากการเปิดเผยข้อมูลใน 180 ประเทศและประเทศไทยได้คะแนนดังกล่าวที่ 36 คะแนนอยู่ในลำดับที่ 104 โดยที่ประเทศที่มีคะแนนเกินครึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศในทวีปยุโรป สำหรับประเทศในแถบเอเชีย สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีคะแนนสูงที่สุด 85 คะแนน อยู่ในลำดับที่ 3 ของโลก ในขณะที่ฮ่องกง และญี่ปุ่นอยู่ในลำดับที่ 11 และ 19 ตามลำดับ (77 และ 74 คะแนน) องค์กรนี้ตั้งขึ้นมาในปี 2536 โดยมีพันธกิจสำคัญ คือการหยุดการคอร์รัปชั่น และส่งเสริม ความโปร่งใส ความรับผิดรับชอบ ความซื่อสัตย์ในทุกภาคส่วน ทุกระดับในสังคม (Our mission is to stop corruption and promote transparency, accountability and integrity at all levels and across all sectors of society.)

ความน่าสนใจก็คือ หากย้อนเวลากลับไปในช่วงทศวรรษ 1960-1970 ทั้งสิงคโปร์และฮ่องกง ประสบปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบอย่างหนัก มีคำกล่าวของคนฮ่องกงในยุคนั้นว่า แค่ก้าวขาออกจากบ้านก็ต้องโดนรีดไถแล้ว แต่ประมาณ 30-40 ปีต่อมาทั้งสองกลับมีการพัฒนาอย่างยิ่งยวด ทั้งที่หากมองจุดตั้งต้นทางเศรษฐกิจนั้นประเทศไทยมีจุดเริ่มต้นทางการเงินและทรัพยากรสูงกว่าประเทศสิงคโปร์ และฮ่องกง จุดพลิกผันสำคัญประการหนึ่งที่ทั้งคนสิงคโปร์และฮ่องกงยอมรับคือ การแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นทำให้ประเทศทั้งสองมีความเจริญก้าวหน้ามีการพัฒนาเช่นทุกวันนี้ สอดคล้องกับคำกล่าวที่เป็นแคมเปญรณรงค์ขององค์กรความโปร่งใสสากลในปี 2547 ที่ว่า เมื่อมีคอร์รัปชั่นทุกคนเป็นผู้จ่าย (With corruption everyone pays)

น่าสนใจอย่างยิ่งละครับ

งานศึกษาจำนวนมากสรุปว่า “ความตั้งใจของคนในชาติ และผู้นำ” มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับการทุจริตประพฤติมิชอบ โดยที่สิงคโปร์และฮ่องกงจัดตั้งหน่วยงานพิเศษสำหรับการต่อสู้กับการคอร์รัปชั่นโดยเฉพาะ (ก็คล้าย ๆ ป.ป.ช. บ้านเรา) และหน่วยงานดังกล่าวเต็มไปด้วยคนหนุ่มสาวที่ไฟแรงและมีอุดมการณ์ในการต่อสู้กับคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ เป็นทั้งผู้นำการเปลี่ยนแปลงและเป็นที่พึ่งให้กับผู้ชี้เบาะแสการทุจริตประพฤติมิชอบ รายงานของ Transparency International เองก็ให้ข้อเสนอแนะในแนวทางเดียวกัน คือ ผู้นำรัฐบาลมีบทบาทสำคัญ และจะต้องแสดงออกชัดเจนถึงพันธกรณี โดยมีกำหนดระยะเวลาแน่นอนในการต่อต้านคอร์รัปชั่น

กรณีของฮ่องกงนั้น ได้ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นภาพยนตร์เรื่อง I Corrupt All Cops (2009) ผลงานการกำกับของ หว่อง จิ้ง (Wong Jing) คำอธิบายของภาพยนตร์ดังกล่าวให้ข้อมูลว่า หว่อง จิ้ง เติบโตทันที่จะเห็นสภาพสังคมฮ่องกงในยุคที่ ตำรวจกับโจรแทบไม่ต่างกัน มาจนกระทั่งในช่วงทศวรรษที่ 80-90 ที่ผู้ปกครองฮ่องกงปราบปรามคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง จนทำให้วันนี้ ฮ่องกงกลายเป็นเมืองที่มีความโปร่งใสมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

I Corrupt All Cops เริ่มต้นด้วยการฉายให้เห็นความฟอนเฟะของสังคมฮ่องกงยุค 50-70 ที่ตำรวจในฐานะผู้รักษากฎหมาย คือ “หัวโจก” ใหญ่ของการรีดนาทาเร้นประชาชน โดยรัฐบาลที่ปกครองเกาะฮ่องกง ทำได้แค่ “หลี่ตา” แถมตัวหัวหน้าตำรวจยังรู้เห็นเป็นใจกับแก็งค์มาเฟีย โดยรับส่วยแลกกับการให้ความคุ้มครองอย่างถูกกฎหมายและไม่ต้องถูกจับ การก่อตั้งหน่วย Independent Commission Against Corruption (ICAC) กลายเป็นความหวังที่เหลือของคนฮ่องกง แม้ว่าช่วงแรก ๆ คนจะมองว่าเป็นเพียงหน่วยงาน “เสือกระดาษ” ที่ตั้งขึ้นมาก็ไม่แตกต่างจากตำรวจทั่วไป แต่โชคดีที่หน่วยงานใหม่นี้เต็มไปด้วย คนหนุ่มไฟแรง นักศึกษาจบใหม่ที่มีอุดมการณ์ต่อต้านคอร์รัปชั่น อยากเห็นสังคมฮ่องกงดีขึ้น ต่างเข้ามาสมัครเป็นพนักงาน ท้ายที่สุด ICAC ได้รับการยกย่องว่าเป็นรูปแบบการต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ดีรูปแบบหนึ่งของโลก

แต่กว่าจะเห็นความสำเร็จ คนที่เคยต่อสู้กับความอยุติธรรม และการคอร์รัปชั่นมาก่อนจะรู้ว่าไม่ง่าย

ความน่าสนใจคือ แล้วจะนำมาปรับใช้กับประเทศไทยอย่างไร และจะฝ่าด่าน “แบบไทย ไทย” ได้หรือไม่ น่าติดตามในตอนหน้านะครับ

อัพเดตข้อมูลข่าวสารเล็กน้อยครับ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีของเล่นใหม่ คือ คลังข้อมูลการป้องกันการทุจริต (Anti-Corruption Toolbox) สำหรับให้ประชาชนและเครือข่ายเข้าไปใช้บริการ ทั้งการเล่นเกม การแจ้งเบาะแส และข้อมูลต่าง ๆ น่าสนใจครับในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชน ก็ขอให้ผู้สนใจลองดาวน์โหลดโปรแกรมดังกล่าวไปทดลองใช้ เพื่อยืนยันว่าอย่างน้อยเราก็พร้อมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเล็ก ๆ ที่จะไม่ทนต่อการทุจริตคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ

คราวหน้าจะมาพูดถึงกรณีศึกษาประเทศสิงคโปร์และฮ่องกงครับ ว่าเค้าประสบความสำเร็จในการต่อสู้คอร์รัปชั่นอย่างไร และการมีส่วนร่วมของประชาชนสำคัญไม่แพ้การมีผู้นำที่ดีอย่างไร