‘ปรีดี พนมยงค์’ เป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญที่ต้องถูกบันทึกลงในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย เนื่องจากเป็นหนึ่งในคณะการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รวมถึงยังเคยเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย และในวันนี้ ถือเป็นวาระครบรอบ 38 ปี ของการถึงแก่อสัญกรรมของบุคคลท่านนี้

นายปรีดี พนมยงค์ เป็นชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จบชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบ ก่อนจะเข้าเรียนที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม จากนั้นจึงสอบชิงทุนไปเรียนต่อด้านกฎหมายจนสำเร็จในระดับปริญญาเอก ณ มหาวิทยาลัยปารีส ประเทศฝรั่งเศส

กระทั่งกลับถึงเมืองไทย ก็เข้ารับราชการเป็นผู้พิพากษา และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ในเวลานั้น นายปรีดียังเป็นหนึ่งในคณะเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบบประชาธิปไตย โดยต่อมายังได้เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย

ช่วงระหว่างปี พ.ศ.2484-2488 นายปรีดีได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอนันทมหิดล และร่วมเป็นหนึ่งในขบวนการเสรีไทย ต่อต้านจักรวรรดิญี่ปุ่นในประเทศไทยช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จนเมื่อสงครามสงบลง จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษอาวุโส

นายปรีดี ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงเวลาสั้น ๆ ในปี พ.ศ.2489 ก่อนจะเกิดเหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 8 รวมทั้งยังมีความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง จนถูกรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ.2490 ทำให้ต้องลี้ภัยการเมืองออกนอกประเทศ ในช่วงบั้นปลายชีวิต เขาเดินทางไปพำนักยังประเทศสิงคโปร์ จีน และฝรั่งเศส กระทั่งเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2526 เจ้าตัวก็เสียชีวิตลง ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ต่อมาจึงได้มีการนำอัฐิกลับประเทศในปี พ.ศ.2529 และทำพิธีบำเพ็ญกุศลตามประเพณี

นอกเหนือจากเรื่องการเมือง นายปรีดี ยังได้ชื่อว่า เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชา และเป็นผู้ผลักดันให้เกิดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของประเทศ ต่อมาในปี พ.ศ.2543 องค์การยูเนสโกจึงได้บรรจุชื่อนายปรีดี พนมยงค์ ไว้ในปฏิทินบุคคลสำคัญของโลก ในฐานะบุคคลที่มีคุณูปการต่อชาติบ้านเมือง


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/ปรีดี_พนมยงค์