องค์นี้กินไม่ได้!! ช่างแกะสลักชาวสุโขทัย สืบสานงานศิลป์ แกะสลักพระพุทธรูปจากไม้ อาชีพที่นับวันยิ่งหาช่างฝีมือ ที่ทำได้ประณีต และสวยงามได้ยาก

ช่างแกะสลักเป็นช่างประเภทหนึ่ง ในจำพวกช่างสิบหมู่ เป็นผู้มีความสามารถ และฝีมือในการช่างทำลวดลาย หรือรูปภาพต่าง ๆ บนเนื้อไม้ ที่ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ซึ่งเป็นพื้นที่หลักของชาวชุมชนรอบ ๆ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ครอบคลุมพื้นที่โบราณสถานกรุงสุโขทัย ศูนย์กลางการปกครองของอาณาจักรสุโขทัย ขึ้นชื่อเรื่องโบราณสถานเป็นต้น ๆ ของประเทศ

ชาวบ้านและคนในชุมชนเมื่อครั้งอดีตจนถึงปัจจุบันนี้ อีกอาชีพที่ได้รับความสนใจ และฝึกฝนเป็นอาชีพของชาวชุมชนเก่าแก่แห่งนี้มายาวนาน จากอดีตถึงปัจจุบัน คือช่างแกะสลักพระพุทธรูปจากไม้ บ้างก็ทำเป็นอาชีพเสริม บ้างก็ทำเป็นอาชีพหลัก จำนวนไม่น้อยที่สร้างฐานะตัวเองและครอบครัวจากอาชีพนี้

นายวรรณะ (ช่างณะ) เชื้อบัว ถือเป็นช่างศิลปะการแกะสลักพระพุทธรูปจากไม้คนหนุ่มรายหนึ่งในพื้นที่ ที่มีฝีมือดี ผลงานโดดเด่น มีลูกค้าจากทั่วประเทศ มาสั่งทำ และมารับซื้อในงานแกะสลักงานไม้ของเขาที่ได้รับการยอมรับในฝีมือของชายคนนี้ ‘ช่างณะ’ ใช้พื้นที่บ้านพักของตนเองและคนในครอบครัวดัดแปลงมาเป็นโรงงานย่อม ๆ ขนาดเล็ก ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 140/2 หมู่ 3 ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.สุโขทัย ใช้เป็นที่ทำงานหารายได้ของเขาในการประกอบอาชีพช่างแกะสลักพระพุทธรูปบนตัวไม้ขนาดใหญ่ และทุกขนาดตามที่ผู้จ้างและลูกค้าสั่งทำ อย่างประณีต สวยงาม คมชัด ลึกและชัดเจน ไม่ผิดพิมพ์ถูกต้องตามต้นฉบับ

นายวรรณะ เล่าให้ฟังว่า ได้เรียนรู้ในการหัดฝึกแกะสลักไม้มาตั้งแต่อายุประมาณ 13-14 ปี ตอนแรกก็ไม่ได้ทำจริงจัง แต่ก็มีใจรัก เห็นคนเก่าคนแก่ในหมู่บ้านทำกันก็สนใจชอบตามปะสาเด็ก ๆ พอเมื่อเริ่มโตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ก็เริ่มมีฝีมือมากขึ้น มีความชำนาญขึ้นตามระยะเวลาที่ลงมือทำ ก็เลยเชื่อมมั่นว่าสามารถทำเป็นอาชีพได้ และน่าจะไปได้ดี มีอนาคต เดิมทีนั้นตนเองมีอาชีพทำนาแต่ชอบใช้เวลาว่างไปหาเก็บเศษไม้จากหัวไร่ปลายนามาฝึกแกะสลัก เริ่มจากแกะสลักเป็นรูปสัตว์ เช่น นก ปลา เสือ และช้าง

จากนั้นก็พัฒนามาเป็นการแกะสลักพระพุทธรูป พระพิฆเนศ และรูปเหมือนพระเกจิอาจารย์ต่าง ๆ แล้วฝากวางตามร้านขายของที่ระลึก จนลูกค้าเห็นผลงานเขาก็บอกต่อกันไป เริ่มมีคนรู้จักชื่อเสียง และมีความสุขมากที่เค้าเรียกนามเราว่านายช่าง จึงพัฒนาฝีมือโดยดูจากรูปภาพตัวอย่าง แล้วแกะสลักตามให้เหมือนรูปมากที่สุด ฝึกฝนเรื่อยมาจนเกิดความชำนาญและมีชื่อเสียงในเมืองเก่าสุโขทัย มียอดสั่งมากขึ้นตามลำดับ เมื่อยอดสั่งผลิตครบบางทีก็เอาไม้ทั้งขนาดเล็ก ใหญ่มาทำต่อให้เกิดรายได้อีกทาง ส่งขาย หรือมีคนมารับซื้อถึงบ้าน ลูกค้าจำนวนมากเมื่อมารับไม้และภาพสิ่งมงคลที่สั่งแกะ เมื่อเห็นงานชิ้นอื่นที่ตนทำไว้ก็ขอซื้อไปพร้อมกับงานที่ลูกค้าสั่งก็มีมาก

ปัจจุบันมีลูกค้าจากทั่วประเทศนำไม้มงคลอย่างเช่นไม้สัก ไม้กันเกรา ไม้ขนุน ไม่มงคล ไม้หาอยากมาจ้างให้แกะสลักเป็นพระพุทธรูปต่าง ๆ เช่น พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย พระปางลีลา พระนาคปรก และรูปเหมือนพระเกจิอาจารย์ โดยราคาขึ้นอยู่กับขนาดและความยากง่ายของงาน ส่วนพระลีลาสุโขทัยที่กำลังแกะสลักชิ้นนี้เป็นไม้สักที่ลูกค้านำมาให้