คอร์รัปชั่น...ไหมครับท่าน ตอนที่ 4 งบการเงิน และรายงานการสอบบัญชี เครื่องมือเบื้องต้นในการแกะรอยการทุจริต

เกริ่นไว้ในสามตอนที่แล้วว่า การแก้ปัญหาการทุจริตใช่ว่าจะหมดหวังเลยเสียทีเดียว เพราะมีเครื่องมือจำนวนหนึ่งในการตรวจหาความผิดปกติที่เป็นต้นตอของการกระทำการทุจริตได้

สรรสาระ ประชาธรรม ตอนนี้ อยากให้บุคลากรในหน่วยงาน ประชาชน และผู้ที่รับผิดชอบเกี่ยวข้องในหลายระดับในการดำเนินการภาครัฐให้ความสำคัญกับเครื่องมือเบื้องต้นที่จะช่วยตรวจสอบการดำเนินการ ส่งสัญญาณปัญหาการดำเนินการก่อนเกิดความเสียหายร้ายแรง เครื่องมือที่ว่านั้น คือ งบการเงิน และรายงานการสอบบัญชี

งบการเงิน หรืออาจเรียกว่า รายงานการเงิน นั้น ตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 1 ตามประกาศสภาวิชาชีพบัญชีที่ 25/2563 ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 นั้น ระบุความหมายของงบการเงินว่า

ข้อ 9 งบการเงินเป็นการนำเสนอฐานะการเงินและผลการดำเนินงานการเงินของกิจการอย่างมีแบบแผน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน และกระแสเงินสดของกิจการ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจเชิงเศรษฐกิจของผู้ใช้งบการเงินกลุ่มต่าง ๆ นอกจากนี้ งบการเงินยังแสดงถึงผลการบริหารงานของฝ่ายบริหารซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลทรัพยากรของกิจการ เพื่อที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว งบการเงินให้ข้อมูลทุกข้อดังต่อไปนี้เกี่ยวกับกิจการ
1) สินทรัพย์
2) หนี้สิน
3) ส่วนของเจ้าของ
4) รายได้และค่าใช้จ่าย รวมถึงผลกำไรและขาดทุน
5) เงินทุนที่ได้รับจากผู้เป็นเจ้าของและการจัดสรรส่วนทุนให้ผู้เป็นเจ้าของในฐานะที่เป็นเจ้าของ และ
6) กระแสเงินสด
ข้อมูลเหล่านี้และข้อมูลอื่นที่เปิดเผยในหมายเหตุประกอบงบการเงินช่วยผู้ใช้งบการเงิน ในการคาดการณ์เกี่ยวกับจังหวะเวลาและความแน่นอนที่กิจการจะก่อให้เกิดกระแสเงินสดในอนาคตของกิจการ (ประกาศสภาวิชาชีพบัญชีที่ 25/2563 ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2563)

ทำไมงบการเงินจึงมีส่วนช่วยในการตรวจจับ ส่งสัญญาณ หรือ แกะรอยการทุจริต นั่นเป็นเพราะว่า อนาคตของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบการเงิน การตรวจสอบงบการเงิน ต้องรับผิดชอบ และรับผิดหากการจัดทำงบการเงินหรือรับรองงบการเงินโดยมิชอบนั่นเอง

ดังนั้น เมื่อผู้บริหารกล้าที่จะกระทำการทุจริต จึงไม่ง่ายนักที่จะดำเนินการเว้นเสียแต่ว่าในทุกองคาพายพก็พร้อมกระทำการทุจริต แต่ถึงกระนั้น งบการเงินก็ยังเป็นร่องรอยที่สำคัญในการแกะรอยการทุจริตได้

เครื่องมือนี้จะเป็นประโยชน์หากผู้ที่เกี่ยวข้องใส่ใจ ผู้ที่มีอำนาจตรวจสอบ กำกับดูแลเอาใจใส่ ในการทำหน้าที่ เพราะมีการรองรับหรือแนวทางให้พิจารณา นั่นคือ

ข้อ 20 ในกรณีที่กิจการไม่ปฏิบัติตามที่มาตรฐานการรายงานทางการเงินกำหนด ตามที่ระบุไว้ในย่อหน้าที่ 19 กิจการต้องเปิดเผยข้อมูลทุกข้อดังต่อไปนี้
20.1 ข้อสรุปของฝ่ายบริหารที่ว่า งบการเงินได้แสดงฐานะการเงิน ผลการดำเนินงานและกระแสเงินสดโดยถูกต้องตามที่ควร
20.2 ข้อความที่แสดงว่ากิจการได้ปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่มีการถือปฏิบัติยกเว้นเรื่องที่กิจการจำต้องไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในมาตรฐานการรายงานทางการเงิน เพื่อให้งบการเงินแสดงข้อมูลถูกต้องตามที่ควร
20.3 ชื่อของมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่กิจการไม่ปฏิบัติตาม ลักษณะของการไม่ถือปฏิบัติรวมถึงการปฏิบัติที่มาตรฐานการรายงานทางการเงินกำหนด สำหรับการไม่ปฏิบัติตาม เหตุผลที่หากปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ดังกล่าวแล้วจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดอย่างมากในสถานการณ์ต่างๆ จนเป็นเหตุให้งบการเงินขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ที่กำหนดในกรอบแนวคิดสำหรับการรายงานทางการเงิน และวิธีปฏิบัติที่กิจการเลือกใช้ และ
20.4 ผลกระทบทางการเงินของการไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่มีต่อรายการแต่ละรายการในงบการเงินของกิจการ หากกิจการถือปฏิบัติตามข้อกำหนดของมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับแต่ละงวดที่มีการนำเสนอนั้น
21 กรณีที่กิจการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของมาตรฐานการรายงานทางการเงินเรื่องใดในงวดก่อนแล้วส่งผลต่อจำนวนเงินที่รับรู้ในงบการเงินงวดบัญชีปัจจุบัน กิจการต้องเปิดเผยข้อมูลตามที่กำหนดในย่อหน้าที่ 20.3 และ 20.4 
22 ตัวอย่างของการใช้ข้อกำหนดในย่อหน้าที่ 21 ได้แก่ กิจการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของมาตรฐานการรายงานทางการเงินในงวดก่อนในการวัดมูลค่าสินทรัพย์หรือหนี้สิน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการวัดการเปลี่ยนแปลงมูลค่าสินทรัพย์และหนี้สินที่รับรู้ในงบการเงินงวดปัจจุบัน (ประกาศสภาวิชาชีพบัญชีที่ 25/2563 ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2563)

จะเห็นได้ว่า มาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 1 นั้นเน้นเรื่องการเปิดเผยข้อมูล และความโปร่งใส สอดคล้องกับปรัชญาการบัญชีที่ต้องมีความรับผิด (Accountability) ยิ่งไปกว่านั้น มาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 1 มีหลักการที่สำคัญ และไม่อ่อนข้อหรือต้องตีความทางกฎหมายแบบนิติบริกร กล่าวคือ ตรงไปตรงมา ซึ่งมีหลักฐานชัดเจนในข้อ 18 นั่นคือ

ข้อ 18 การเปิดเผยนโยบายการบัญชี การเปิดเผยข้อมูลในหมายเหตุประกอบงบการเงิน หรือการจัดทำคำอธิบายเกี่ยวกับนโยบายการบัญชีที่ไม่เหมาะสมที่กิจการใช้ไม่ทำให้นโยบายการบัญชีนั้นเหมาะสมขึ้นมาได้ (ประกาศสภาวิชาชีพบัญชีที่ 25/2563 ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2563)


กรณีศึกษา
มหาวิทยาลัยชื่อดังของรัฐแห่งหนึ่งนั้น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ไม่แสดงความคิดเห็นในงบการเงิน ของมหาวิทยาลัยนั้น ถึงสองปีต่อเนื่องกัน คือ ปีงบประมาณ 2557 และปีงบประมาณ 2558 โดยที่สาระสำคัญ คือ

“1.3 มหาวิทยาลัยมิได้จัดส่งงบการเงินของหน่วยงานย่อยให้ตรวจสอบ 3 หน่วยงาน มีสินทรัพย์รวมจำนวน 529.33 ล้านบาท หนี้สินรวมจำนวน 89.83 ล้านบาท และส่วนของทุนรวมจำนวน 387.13 ล้านบาท รายได้รวมจำนวน 293.18 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายรวมจำนวน 240.87 ล้านบาท ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ารายการที่แสดงในงบการเงินว่าถูกต้องหรือไม่ (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน รายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงิน มหาวิทยาลัย XXX สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2557)”


ข้อที่มีความสำคัญยิ่ง คือ

“2. ตามหมายเหตุประกอบงบการเงินหมายเหตุ 3 หมายเหตุ 6 และหมายเหตุ 10 เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด เงินลงทุนระยะสั้น และเงินลงทุนระยะยาว จำนวน 3,999.19 ล้านบาท จำนวน 3,580.84 ล้านบาท และจำนวน 5,149.17 ล้านบาท ตามลำดับ

2.1 บัญชีเงินฝากธนาคารที่แสดงไว้ในรายละเอียดที่ผู้บริหารรับรอง รวมจำนวน 446 บัญชี รวมเป็นเงิน 2,741.24 ล้านบาท จากการสอบยันยอดเงินฝากธนาคารจากสถาบันการเงินไม่ปรากฏยอดเงินฝากดังกล่าว

2.2 ตามหนังสือยืนยันยอดเงินฝากธนาคารของสถาบันการเงิน พบบัญชีเงินฝากธนาคารที่ไม่ได้ระบุไว้ในรายละเอียดที่ผู้บริหารรับรอง รวมจำนวน 313 บัญชี เป็นเงินจำนวน 270.58 ล้านบาท

2.3 ยอดคงเหลือบัญชีเงินฝากธนาคารตามหนังสือยืนยันยอดของสถาบันการเงิน และตามรายละเอียดที่ผู้บริหารรับรองแสดงยอดไม่ตรงกัน รวม 71 บัญชี ผลต่างรวม 142.83 ล้านบาท
ตามข้อ 2.1-2.3 มหาวิทยาลัย XXX มิได้ชี้แจง หรือแสดงหลักฐานยืนยันว่าบัญชีเหล่านี้เป็นของมหาวิทยาลัยหรือไม่ (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน รายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงิน มหาวิทยาลัย XXX สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2557)”

จะเห็นได้ว่า งบการเงิน และรายงานการสอบบัญชี ได้ส่งสัญญาณแล้วว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้กำลังมีปัญหายิ่งยวด กระทบกับความน่าเชื่อถือ กระทบกับความโปร่งใสของการบริหารงาน ซึ่งผู้บริหารมหาวิทยาลัย สภามหาวิทยาลัย และรัฐมนตรีที่กำกับดูแล ต้องให้ความสำคัญ อย่างไรก็ตาม เมื่อตามไปดูรายงานการสอบบัญชีในปีงบประมาณ 2558 พบว่า

“1.2 มหาวิทยาลัยมิได้จัดส่งงบการเงินของหน่วยงานย่อยให้ตรวจสอบ จำนวน 8 หน่วยงาน มีสินทรัพย์รวมจำนวน 1,607.64 ล้านบาท หนี้สินรวมจำนวน 294.08 ล้านบาท และส่วนของทุนรวมจำนวน 1,242.88 ล้านบาท รายได้รวมจำนวน 706.19 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายรวมจำนวน 635.51 ล้านบาท ทำให้ไม่สามารถตรวสอบได้ว่ารายการที่แสดงในงบการเงินว่าถูกต้องหรือไม่ (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน รายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงิน มหาวิทยาลัย XXX สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2558)”

เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าจะพบว่า ทั้งจำนวนหน่วยงานที่เพิ่มขึ้น จาก 3 เป็น 8 หน่วยงานและสินทรัพย์ หนี้สิน ส่วนของทุน รายได้รวม และค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้นทั้งหมด สะท้อนความหละหลวม ไม่ใส่ใจ และไม่เอาใจใส่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมหาวิทยาลัยโดยแท้ ยิ่งไปกว่านั้น

“2. ตามหมายเหตุประกอบงบการเงินหมายเหตุ 3 หมายเหตุ 4 และหมายเหตุ 8 เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด เงินลงทุนระยะสั้น และเงินลงทุนระยะยาว จำนวน 4,650.62 ล้านบาท จำนวน 3,326.81 ล้านบาท และจำนวน 5,225.74 ล้านบาทตามลำดับ
2.1 บัญชีเงินฝากที่แสดงไว้ในรายละเอียดที่ผู้บริหารรับรอง รวมจำนวน 669 บัญชี รวมเป็นเงิน 3,854.71 ล้านบาท จากการสอบยันยอดเงินฝากธนาคารจากสถาบันการเงินไม่ปรากฏยอดเงินฝากดังกล่าว
2.2 ตามหนังสือยืนยันยอดเงินฝากธนาคารของสถาบันการเงิน พบบัญชีเงินฝากธนาคารที่ไม่ได้ระบุไว้ในรายละเอียดที่ผู้บริหารรับรอง รวมจำนวน 312 บัญชี เป็นเงินจำนวน 276.78 ล้านบาท
2.3 ยอดคงเหลือบัญชีเงินฝากธนาคารตามหนังสือยืนยันยอดของสถาบันการเงิน และตามรายละเอียดที่ผู้บริหารรับรองแสดงยอดไม่ตรงกัน รวม 25 บัญชี ผลต่างรวม 181.84 ล้านบาท
ตามข้อ 2.1-2.3 มหาวิทยาลัย XXX มิได้ชี้แจง หรือแสดงหลักฐานยืนยันว่าบัญชีเหล่านี้เป็นของมหาวิทยาลัยหรือไม่ อย่างไร (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน รายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงิน มหาวิทยาลัย XXX สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2558)”

เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าจะพบว่า ทั้งจำนวนยอดเงินฝากที่ไม่ปรากฏเพิ่มขึ้น และจำนวนบัญชีที่ไม่ปรากฏเพิ่มขึ้น และทุกรายการใน 2.1-2.3 เพิ่มขึ้นอย่างน่าใจหาย สะท้อนความหละหลวม ไม่ใส่ใจ และไม่เอาใจใส่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมหาวิทยาลัยโดยแท้ ยิ่งไปกว่านั้น

จากการสอบทานการรายงานสภามหาวิทยาลัยแห่งนั้น พบว่า ผู้บริหารมิได้รายงานการสอบบัญชีและงบการเงินต่อสภามหาวิทยาลัยมากกว่า 5 ปี ทั้งที่ตามพระราชบัญญัติของมหาวิทยาลัยแห่งนั้นกำหนดให้ผู้บริหารต้องรายงานสภามหาวิทยาลัยภายใน 90 วันหลังจากสิ้นปีงบประมาณ และสภามหาวิทยาลัยต้องรายงานรัฐมนตรี นอกจากนั้น กฎหมายกำหนดให้เปิดเผยงบการเงินไว้ในรายงานประจำปีของมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่ปรากฏว่ามหาวิทยาลัยได้ดำเนินการ

นี่คือประโยชน์ของงบการเงิน และรายงานการสอบบัญชี ในฐานะเครื่องมือเบื้องต้นที่จะช่วยในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต งบการเงินและรายงานผู้สอบบัญชีได้ทำหน้าที่ในฐานการส่งสัญญาณครบถ้วนแล้ว ที่เหลือคือ คนที่มีหน้าที่ต้องทำหน้าที่ของตนเอง โดยคำนึงถึงประโยชน์ของมหาวิทยาลัยเป็นสำคัญ ไม่ใช่ประโยชน์ของผู้บริหารเป็นสำคัญ

จากกรณีศึกษา จะพบว่า หากหน่วยงานรัฐให้ความสำคัญกับเครื่องมือในฐานะการตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส และประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ หน่วยงานของรัฐก็จะน่าเชื่อถือและมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ที่สำคัญ คือ การช่วยลดทอนการกระทำทุจริตและประพฤติมิชอบได้ในระดับหนึ่ง


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit
คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32