Nansen passports : หนังสือเดินทาง Nansen หนังสือเดินทางสำหรับผู้อพยพลี้ภัย และคนไร้สัญชาติแบบแรกของโลก

"Nansen passports" เล่มนี้ออกโดยรัฐบาลฝรั่งเศส

เรื่องราวบางอย่างไม่ได้เป็นเรื่องที่อยู่ ๆ ก็ปรากฏขึ้นมาให้เราได้รู้ได้เห็น เช่นเดียวกับเรื่องของ "Nansen passports" ขณะที่ผู้เขียนกำลังอ่านข้อมูลเพื่อจะหาเรื่องราวต่าง ๆ มาเขียนอยู่นั้นก็บังเอิญไปเข้ากับเจอคำว่า "Nansen passports" เมื่อได้ไล่เรียงอ่านดูจึงพบว่า "Nansen passports" เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก โดยส่วนตัวผู้เขียนเองก็ไม่เคยได้รู้ได้ยินเรื่องราวนี้มาก่อนทั้ง ๆ ที่เล่าเรียนรัฐศาสตร์มาก ทั้งอ่านเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มากพอสมควร เลยต้องขอนำเขียนเล่าใน Weekly Column ของ The States Times เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ทราบพอสังเขป 

“Fridtjof Nansen”

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง เกิดมีความวุ่นวายที่สำคัญอันนำไปสู่วิกฤตการณ์ผู้อพยพลี้ภัยนับเรือนล้าน เนื่องจากรัฐบาลของหลายชาติถูกโค่นล้ม และพรมแดนของหลาย ๆ ประเทศก็ถูกขีดวาดขึ้นมาใหม่ โดยทั่วไปมักจะเป็นไปตามชาติพันธุ์ ทั้งยังเกิดสงครามกลางเมืองในอีกหลายประเทศ ผู้คนมากมายต้องอพยพหลบหนีออกจากบ้านเกิดเมืองนอน เพราะเกรงภัยสงคราม หรือการกดขี่ข่มเหง หรือความหวาดกลัวต่อภัยต่าง ๆ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม จากความวุ่นวายต่าง ๆ จึงส่งผลให้ผู้คนจำนวนมากไม่มีหนังสือเดินทาง หรือแม้แต่การที่ประเทศต่าง ๆ ก็ไม่ยอมออกหนังสือเดินทาง ทั้งยังขัดขวางการเดินทางระหว่างประเทศจำนวนมาก โดยมักจะดักจับหรือสกัดกั้นบรรดาผู้อพยพลี้ภัยทั้งหลาย และมีความมุ่งมั่นตั้งใจของบุคคลผู้หนึ่งที่จะแก้ไขปัญหานี้ นั่นก็คือ “Fridtjof Nansen”


Fridtjof Nansen นักสำรวจขั้วโลก นักการทูต และรัฐบุรุษ

Fridtjof Nansen ชาวนอร์เวย์ เกิดในปี พ.ศ. 2404 เป็นนักการทูต รัฐบุรุษและนักมนุษยนิยมที่มีความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์อย่างลึกซึ้ง ยังเป็นนักสัตววิทยา และสร้างชื่อเสียงให้กับตัวเองในฐานะนักสำรวจขั้วโลก โดยในปี พ.ศ. 2436 (ค.ศ.1888) Nansen ได้นำทีมสำรวจชุดแรกข้าม Greenland ด้วยการเดินเท้า และอีกสี่ปีต่อมา Nansen ก็ได้เดินทางข้ามมหาสมุทร Arctic ได้สำเร็จ โดยการจงใจทำให้เรือที่ใช้ในการเดินทางกลายเป็นน้ำแข็ง เมื่อเลิกราจากการผจญภัยที่ต่อเนื่องยาวนานแล้ว Nansen ก็ได้สร้างชื่อเสียงใหม่ด้วยอาชีพนักการเมือง โดยเริ่มจากเป็นตัวแทนของนอร์เวย์ในการเจรจากรณีพิพาทกับสวีเดน และรับตำแหน่งเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำอังกฤษในเวลาต่อมา

องค์การสันนิบาตชาติ (The League of Nations)

ในช่วงปลายของสงครามโลกครั้งที่ 1 Nansen ได้ทุ่มเทในความพยายามเท่าที่มีอยู่ในการสร้างองค์กรที่จะส่งเสริมการสร้างสันติภาพระหว่างประเทศ จนกลายมาเป็นการประชุมสันติภาพ ณ กรุงปารีสในที่สุด และจากนั้นก็เกิดเป็น “องค์การสันนิบาตชาติ (The League of Nations)” ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2463 องค์การสันนิบาตแห่งชาติได้มอบภารกิจที่ยิ่งใหญ่และแสนหนักหนาสาหัสครั้งแรกให้กับ Nansen โดยแต่งตั้งให้เขาเป็นผู้บริหารระดับสูงในการรับผิดชอบต่อการส่งตัวเชลยศึกประมาณ 500,000 นายของกองทัพเยอรมัน และออสเตรีย - ฮังการี จากโซเวียตกลับประเทศ แม้ว่ารัฐบาลโซเวียตจะไม่ให้การยอมรับในองค์การสันนิบาตชาติ แต่ด้วยการเจรจาเป็นการส่วนตัวของ Nansen เดือนกันยายน พ.ศ. 2465 เขาได้รายงานต่อที่ประชุมขององค์การสันนิบาตว่า งานของเขาเสร็จสิ้น และเชลยศึก 427,886 นายได้รับการส่งตัวกลับประเทศภูมิลำเนา 

สำนักงานผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศ Nansen (Nansen International Office for Refugees)

ในปี พ.ศ. 2463 เช่นกัน องค์การสันนิบาตชาติก็ได้มอบหมายให้ Nansen เป็นผู้ดูแลปัญหาหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ยุ่งยากที่สุดคือ การหาทางในการจัดการกับผู้อพยพลี้ภัยที่พลัดถิ่นจากความขัดแย้งจำนวนมหาศาล ด้วยเหตุการณ์เร่งด่วนที่ทำให้เกิด "Nansen passports" คือประกาศในปี พ.ศ. 2464 โดยรัฐบาลใหม่ของสหภาพโซเวียตได้ทำการเพิกถอนสัญชาติของชาวรัสเซียที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ หมายถึงผู้ลี้ภัยชาวรัสเซียราว 800,000 คนซึ่งหลบหนีภัยอันเกิดจากสงครามกลางเมืองในรัสเซีย ทำให้ “สถานะทางกฎหมายของคนเหล่านี้มีความคลุมเครือ และส่วนใหญ่ไร้ซึ่งปัจจัยในการยังชีพ” "Nansen passports" เล่มแรกได้ออกโดย สำนักงานผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศ Nansen (Nansen International Office for Refugees) ตามข้อตกลงระหว่างประเทศที่บรรลุในการประชุมระหว่างรัฐบาลต่าง ๆ ว่าด้วยใบรับรองตัวตนสำหรับผู้ลี้ภัยชาวรัสเซีย จัดทำโดย Nansen ในนครเจนีวา ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2465 จนถึง 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2465 ซึ่งจะอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยเดินทางและปกป้องพวกเขาจากการถูกเนรเทศ หนังสือเดินทางนั้นเรียบง่ายโดยมีลักษณะบ่งบอกตัวตนสัญชาติและเชื้อชาติของผู้ถือหนังสือเดินทาง แต่ก็ตอบสนองจุดประสงค์ได้ดี ผู้ถือครองสามารถย้ายไปมาระหว่างประเทศเพื่อหางานทำหรือสมาชิกในครอบครัวและไม่สามารถเนรเทศได้ “นี่เป็นครั้งแรกที่คนไร้สัญชาติมีตัวตนตามกฎหมาย” Annemarie Sammartino ได้เขียนใน The Impossible Border: Germany and the East, 1914-1922 จากบทบาทและความพยายามของ Fridtjof Nansen ในฐานะข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยของสันนิบาตชาติ

Nansen passports ออกโดยรัฐบาลสหราชอาณาจักร

สำนักงานผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศ Nansen เป็นหน่วยงานที่สืบทอดภารกิจต่อจากหน่วยงานระหว่างประเทศแห่งแรกที่จัดการกับผู้ลี้ภัยคือ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านผู้อพยพลี้ภัย  (High Commission for Refugees Office) ซึ่งจัดตั้งขึ้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2464 โดยองค์การสันนิบาตชาติภายใต้การดูแลของ Fridtjof Nansen สำนักเลขาธิการสันนิบาตได้รับหน้าที่รับผิดชอบต่อผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศและบุคคลไร้สัญชาติและกำกับสำนักงานผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศ Nansen ให้ดำเนินความรับผิดชอบในขอบเขตของภารกิจนี้ ด้วยความขาดแคลนเงินทุนที่จำเป็นในการดำเนินงานของสำนักงานผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศ Nansen อย่างต่อเนื่อง และเงินทุนในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัย สำนักงานผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศ Nansen จึงได้ระดมทุนบางส่วนผ่านการบริจาค แต่ส่วนใหญ่มาจากค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจาก "Nansen passports" และจากรายได้ในการขายแสตมป์ในฝรั่งเศสและนอร์เวย์  "Nansen passports" มีตราประทับของสำนักงานผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศ Nansen ทั้งยังเป็นวีซ่าซึ่งใช้เพื่อให้ผู้ลี้ภัยจากรัสเซียหรืออาร์เมเนียสามารถเดินทางได้ "Nansen passports" ได้รับการเก็บรักษาไว้ในจดหมายเหตุขององค์การสันนิบาตชาติ ซึ่งย้ายไปยังองค์การสหประชาชาติในปี พ.ศ. 2489 และจัดเก็บอยู่ที่สำนักงานสหประชาชาติในนครเจนีวา จดหมายเหตุดังกล่าวได้รับการจารึกไว้ในทะเบียน UNESCO Memory of the World ในปี พ.ศ. 2553 (ค.ศ. 2010) 

"Nansen passports" โดยปกติจะมีอายุไม่เกินหนึ่งปี โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของหน่วยงานที่ออกใบรับรอง สามารถต่ออายุได้ แต่ไม่มีกำหนด เป็นการช่วยให้ผู้ถือ "Nansen passports" สามารถเดินทางไปยังประเทศที่สามเพื่อหางานทำ จุดประสงค์พื้นฐานคือเพื่อช่วยลดแรงกดดันต่อเมืองที่แออัดไปด้วยผู้อพยพลี้ภัย และยังมีการแจกจ่ายผู้ลี้ภัยชาวรัสเซียและอาร์เมเนีย “อย่างเท่าเทียมกัน” มากขึ้นในกลุ่มประเทศสมาชิกขององค์การสันนิบาตชาติ อย่างไรก็ตามไม่มีการให้การรับประกันเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยหรือสิทธิในการหางานของผู้อพยพลี้ภัยที่ถือ "Nansen passports" ในปี พ.ศ. 2469 ประเทศสมาชิกขององค์การสันนิบาตชาติกว่า 20 ประเทศต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ผู้อพยพลี้ภัยที่ถือ "Nansen passports" สามารถที่จะออกจากประเทศที่ออก "Nansen passports" และได้รับอนุญาตให้กลับเข้ามายังประเทศที่ออก “Nansen passports” ได้ ตัวอย่างเช่น หากฝรั่งเศสออก "Nansen passports" ให้กับผู้อพยพลี้ภัยชาวรัสเซีย เขาหรือเธอก็สามารถเดินทางไปยังเบลเยี่ยมด้วย "Nansen passports" และจะถูกส่งกลับไปยังฝรั่งเศสได้อีก

แสตมป์ที่ระลึกครบ 60 ปีที่ Fridtjof Nansen ได้รับรางวัล Nobel สาขาสันติภาพประจำปี พ.ศ. 2465

"Nansen passports" เป็นรูปแบบที่ถูกต้องในการระบุตัวตน โดย Michael Marrus นักประวัติศาสตร์ได้สรุปความสำคัญไว้ในการสำรวจอ้างอิงผู้อพยพลี้ภัยในยุโรปของศตวรรษที่ 20 ว่า “เป็นครั้งแรกที่มีการอนุญาตให้มีการกำหนดสถานะทางกฎหมายของบุคคลไร้สัญชาติผ่านข้อตกลงระหว่างประเทศที่เฉพาะเจาะจง” ในสาระสำคัญซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ในการคุ้มครองระหว่างประเทศและเหนือกว่าอำนาจของรัฐ มีผู้อพยพลี้ภัยประมาณ 450,000 คนซึ่งต้องการเอกสารการเดินทางแต่ไม่สามารถขอหนังสือเดินทางได้จากหน่วยงานของรัฐในประเทศที่มีถิ่นฐานได้ใช้ "Nansen passports" ซึ่งออกให้ผู้อพยพลี้ภัยจนถึงปี พ.ศ. 2485 และได้รับการยอมรับโดยรัฐบาลถึง 52 ประเทศ ภายหลังการเสียชีวิตของ Nansen ในปี พ.ศ. 2473 สำนักงานผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศ Nansen เป็นผู้ดำเนินการในเรื่อง "Nansen passports" ต่อ โดยอยู่ภายใต้องค์การสันนิบาตชาติ ณ จุดนั้น "Nansen passports" ไม่ได้หมายรวมเพียงแค่การอ้างอิงถึงการประชุมในปี พ.ศ. 2465 (ค.ศ. 1922) อีกต่อไป แต่ "Nansen passports" ถูกออกในนามของสันนิบาตชาติ แม้ว่าสำนักงานผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศ Nansen จะปิดตัวลงในปี พ.ศ. 2481 หลังจากนั้นก็มีการออกหนังสือเดินทางใหม่โดยหน่วยงานใหม่คือ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยภายใต้สันนิบาตชาติในกรุงลอนดอนจนถึงปี พ.ศ. 2485  ในปี พ.ศ. 2465 Nansen ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เขาใช้เงินรางวัลในการพัฒนางานบรรเทาทุกข์ระหว่างประเทศ และต่อมาสำนักงานผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศ Nansen ก็ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี พ.ศ. 2481 (ค.ศ. 1938) จากความพยายามในการจัดทำและออก "Nansen passports" เพื่อช่วยเหลือผู้อพยพลี้ภัยและผู้ไร้สัญชาติจำนวนนับเรือนล้าน ทุกวันนี้ภารกิจของ Fridtjof Nansen ยังคงได้รับการสานต่อโดย สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (Office of the United Nations High Commissioner for Refugees : UNHCR) โดยทำหน้าที่ คุ้มครองผู้ลี้ภัย ชุมชนที่ถูกบังคับให้ย้ายถิ่น และบุคคลไร้รัฐ รวมถึงอนุเคราะห์ให้ผู้อพยพลี้ภัยได้รับการส่งกลับประเทศเดิมด้วยความสมัครใจ การเข้าอยู่ในท้องถิ่นอื่น ๆ (กรณีในประเทศ) หรือการอพยพไปตั้งรกรากใหม่ในประเทศที่สาม


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit
คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32