โทเคนดิจิทัล ทางเลือกใหม่ของการลงทุนในยุคดิจิทัล

วันก่อนมีประเด็นร้อนในกรุ๊ปฝากร้านของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เมื่อศิษย์เก่าท่านหนึ่งประกาศขายที่ของที่บ้านพร้อมบังกะโลบนเกาะมูลค่ารวมประมาณ 350 ล้านบาท ต่อมามีศิษย์เก่าอีกท่านเสนอไอเดียชวนคนในกรุ๊ปที่มีอยู่เกือบ ๆ สองแสนคนมาลงขันซื้อเกาะกัน โดยลงหุ้นกันคนละ 3,500 บาท แค่แสนคนก็ได้เป็นเจ้าของเกาะดังกล่าวแล้ว

ปรากฏว่ามีมีคนสนใจไอเดียดังกล่าวจำนวนมาก และอยากร่วมหุ้นด้วย โดยขอลง 1 หุ้นบ้าง 10 หุ้นบ้าง หรือ 100 หุ้นก็มี แต่สุดท้ายโปรเจคดังกล่าวก็ต้องพับไป เพราะมีประเด็นว่าที่ดินที่ประกาศขายอาจมีส่วนที่ทับซ้อนกับพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติ

แม้ว่าโปรเจคจะล่มไปแล้ว แต่ก็มีประเด็นที่น่าสนใจ ที่ผมอยากให้ลองจินตนาการต่อว่า ถ้าเกิดโปรเจคดังกล่าวสามารถไปต่อได้ เราจะใช้วิธีการไหนในการระดมทุนคนจำนวนมาก ๆ แบบนี้กันดี

บางท่านอาจจะเสนอให้ตั้งเป็นบริษัทแล้วขายหุ้นให้ทุกคนที่อยากลงทุนเลย อ่านดูแล้วเหมือนง่าย แต่ลองคิดภาพตามดูนะครับ

ถ้าโปรเจคนี้สำเร็จแล้วมีคนลงขันซื้อหุ้นหลายหมื่นคน ทุกปีเราต้องเชิญผู้ถือหุ้นมาร่วมประชุมสามัญประจำปี แค่หาสถานที่จัดการประชุมก็ยากแล้ว แต่ที่ยากกว่าคือการเชิญคนมาประชุมให้ครบองค์ประชุม แค่ประชุมนิติบุคคลของคอนโดหรือหมู่บ้าน ยังยากเลย แล้วนี่ต้องเชิญคนมาร่วมประชุมเป็นหมื่นคน จะยากและวุ่นวายขนาดไหน

แล้วแบบนี้เราจะระดมทุนกันอย่างไรดี ถ้าเกิดมีโปรเจคที่น่าสนใจ และคนอยากร่วมลงทุนเป็นหมื่น ๆ แสน ๆ คน

ความจริงผมได้ไปเกริ่นไว้ในกรุ๊ปดังกล่าวก่อนที่โปรเจคจะล่มไปแล้วว่า โปรเจคระดมทุนเพื่อเข้าไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์แบบนี้ เราสามารถระดมทุนโดยการออกเหรียญหรือโทเคนดิจิทัลเพื่อไปลงทุนได้ แถมผู้ลงทุนยังได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอีกด้วย

เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พึ่งมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อกำกับดูแลการออกเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่อ้างอิงหรือมีกระแสรายรับจากอสังหาริมทรัพย์ (real estate-backed ICO) และเริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมานี้เอง

แล้วไอ้เจ้าโทเคนดิจิทัลที่ผมกล่าวถึงนั้นคืออะไร มันเหมือนหรือคล้ายกับบิตคอยน์ (Bitcoin) ที่คนพูดถึงกันเยอะ ๆ หรือไม่ ลองติดตามอ่านกันดูนะครับ

ก่อนอื่น ผมต้องปูพื้นให้ทุกท่านเข้าใจเสียก่อนว่าตามกฎหมายในประเทศไทยของเราแบ่งสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1.) คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) หรือ สกุลเงินดิจิทัลที่เราสามารถใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการ ไม่ต่างจากเงินจริง ๆ หากผู้ใช้ทั้งสองฝ่ายตกลงยอมรับกัน ซึ่งสกุลเงินดิจิทัลในโลกเราปัจจุบันนี้มีหลายพันสกุลแล้ว แต่ที่หลายคนรู้จักกันดี ก็เช่น บิตคอยน์ (Bitcoin) อีเธอร์เลียม (Ethereum)

2.) โทเคนดิจิทัล (Digital Token) หรือ หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อกำหนดสิทธิของบุคคลในการร่วมลงทุน (Investment Token) หรือสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือ สิทธิอื่น ๆ (Utility Token) ตามที่ผู้ออกโทเคนได้ตกลงไว้ ซึ่งการเสนอขายโทเคนนั้นจะทำโดยกระบวนที่เรียกว่า “Initial Coin Offering” หรือ ICO

ดังนั้น โทเคนดิจิทัลนั้นจึงไม่เหมือนกับบิตคอยน์เสียทีเดียว เพราะ บิตคอยน์เป็นเพียงสกุลเงินหนึ่งในโลกดิจิทัล มูลค่าของบิตคอยน์จะขึ้นอยู่กับอุปสงค์อุปทานเป็นหลัก แต่โทเคนดิจิทัลที่ใช้เพื่อใช้ในการร่วมลงทุนนั้น มูลค่าของโทเคนจะขึ้นอยู่กับมูลค่าของทรัพย์สินหรือกิจการที่เข้าไปลงทุน

ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพมากขึ้น การออกโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) จะคล้ายกับการตั้งกองทุนรวมเพื่อเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ต่างกันที่ ผู้ที่ลงทุนในกองทุนรวมจะได้รับเอกสารแสดงสิทธิในหน่วยลงทุนมาเป็นหลักฐานว่าตนเป็นผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนดังกล่าว แต่ผู้ที่ลงทุนในโทเคนดิจิทัลก็จะได้รับ โทเคน (Token) หรือ เหรียญ (Coin) มาเป็นหลักฐานว่าตนได้เข้าร่วมลงทุนในโปรเจคนั้น ๆ ด้วย

การที่ออกโทเคนดิจิทัลเพื่อเข้าไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ จึงเป็นโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนประเภทหนึ่ง ที่ต้องถูกกำกับดูแลโดยสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งอย่างน้อยก็จะทำให้ผู้ลงทุนมั่นใจได้ว่าโทเคนดิจิทัลที่เสนอขายนั้นมีการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์จริง ผู้ออกโทเคนดิจิทัลไม่ใช่พวกต้มตุ๋น หรือ เป็นขบวนการแชร์ลูกโซ่

แต่สำนักงาน ก.ล.ต. ก็ไม่ได้มีหน้าที่รับรองว่าโทเคนดิจิทัลนั้นจะมีกำไรนะครับ อันนั้นเป็นเรื่องที่ผู้ลงทุนจะต้องศึกษารายละเอียดเองว่าการลงทุนดังกล่าวมีแนวโน้มว่าจะดีหรือไม่ หรือมีความเสี่ยงอะไรบ้าง

เช่น ถ้าผมจะซื้อโทเคนดิจิทัลที่ไปลงทุนในธุรกิจโรงแรม ผมก็ต้องศึกษาก่อนว่าโรงแรมที่จะเข้าไปลงทุนนั้นมีกี่ห้อง ราคาค่าห้องเฉลี่ยต่อคืนเท่าไหร่ อัตราการเข้าพักที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ความเสี่ยงของธุรกิจโรงแรมคืออะไร เป็นต้น เพราะมูลค่าของโทเคนดิจิทัลที่ผมจะซื้อนั้นจะผันแปรตามกำไรจากธุรกิจโรงแรมดังกล่าว

สมมุติถ้าผมซื้อมาโทเคนละ 100 บาท แล้วปีต่อมาเกิดวิกฤตโควิด แปลว่าโรงแรมก็จะไม่มีรายได้เลย ราคาโทเคนที่ผมซื้อมาอาจจะตกเหลือเพียง 50 บาทก็ได้ แต่ถ้าเกิดโควิดหมดไป นักท่องเที่ยวที่กลับมาเที่ยวได้ตามปกติ โทเคนนั้นก็อาจจะกลับมาราคา 100 บาทตามเดิมหรือมากกว่าเดิมก็ได้ขึ้นอยู่กับผลประกอบการในปีนั้น ๆ ว่าจะจ่ายเงินปันผลให้ผู้ลงทุนเท่าไหร่

นอกจากนี้ ตามเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ยังกำหนดให้ผู้ที่เสนอขายโทเคนดิจิทัล (Issuer) ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ลงทุนนั้นให้กับทรัสตี (Trustee) หรือ ผู้ดูแลผลประโยชน์ด้วย

ซึ่งทรัสตีนั้นจะทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลประโยชน์ให้กับนักลงทุนที่ถือโทเคนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการติดตามดูแลให้ผู้ออกเสนอขายโทเคนบริหารจัดการทรัพย์สินให้ดีเหมือนที่ได้ระบุไว้ในโครงการตอนเสนอขาย หรือคอยดูว่าผู้ออกเสนอขายโทเคนมีการดำเนินการใด ๆ ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ รวมทั้งคอยเข้าประชุมติดตามผลการดำเนินงานแทนผู้ถือโทเคนทุกคนอีกด้วย

แต่ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ทุกประเภทจะนำมาระดมทุนเสนอขายเป็นโทเคนดิจิทัลได้นะครับ

เนื่องจากหลักเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดว่าทรัพย์สินที่จะเสนอขายได้นั้นจะต้องเป็น อสังหาริมทรัพย์ หรือ หุ้นของนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) ที่ถือครองอสังริมทรัพย์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของสิทธิออกเสียงใน SPV นั้น หรือ สิทธิการเช่าในอสังหาริมทรัพย์

โดยทรัพย์สินดังกล่าวจะต้องสร้างเสร็จแล้ว 100% ไม่ใช่สร้าง ๆ อยู่จะมาขอระดมทุนออกโทเคนแบบนี้ไม่ได้ และเงื่อนไขอีกข้อก็คือ การลงทุนนั้นจะต้องลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของทั้งโครงการ หรือ การลงทุนนั้นต้องมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในการเสนอขายโทเคนดิจิทัล สำนักงาน ก.ล.ต. มีข้อกำหนดว่าผู้ลงทุนรายย่อยจะลงทุนได้ไม่เกิน 300,000 บาทต่อการเสนอขายในครั้งนั้นเท่านั้น ต่างจากการลงทุนในกอง REIT ที่ผู้ลงทุนรายย่อยจะลงทุนเท่าไหร่ก็ได้ครับ

เป็นอย่างไรบ้างครับสำหรับข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการลงทุนในโทเคนดิจิทัลที่อ้างอิงหรือมีกระแสรายรับจากอสังหาริมทรัพย์ (real estate-backed ICO) ที่จะเป็นสินทรัพย์ลงทุนรูปแบบใหม่ในยุคดิจิทัล ซึ่งตอนนี้ผมก็แอบทราบมาว่ามีบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์บางแห่งกำลังเตรียมการเพื่อยื่นขออนุมัติจากสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อเสนอขายโทเคนดิจิทัลประเภทนี้ให้ได้ภายในปีนี้

แม้ว่าโปรเจคซื้อเกาะจะไม่สำเร็จ แต่ก็ถือว่าหลายคนน่าจะได้ประโยชน์จากการเรียนรู้เรื่องการระดมทุนและลงทุนในยุคดิจิทัลกันไม่มากก็น้อย ก่อนที่ประเทศไทยของเราจะเริ่มมีโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนออกให้มาซื้อขายกันจริง ๆ


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit
คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32