Land Bridge กับพิธีการศุลกากร

การส่งสินค้าระหว่างประเทศ นอกจากจะต้องพิจารณาถึงเส้นทาง ระยะเวลา หรือรูปแบบการเดินทาง ยังมีเรื่องของกฎระเบียบทางพิธีศุลกากรเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ในตอนนี้จึงขอมาเล่ากรณีศึกษาการเลือกใช้เส้นทางการขนส่งที่มีผลมาจากพิธีทางศุลกากร

จากเดิมการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศไอร์แลนด์และยุโรป ใช้วิธีการขนส่งทางรถบรรทุก แล้วรถบรรทุกขึ้นเรือเฟอร์รี่ที่กรุงดับลิน เมืองหลวงของไอร์แลนด์ เพื่อข้ามฝากมายังเมือง Holyhead ของอังกฤษ ต่อจากนั้นรถบรรทุกก็วิ่งลอดอุโมงค์ข้ามช่องแคบอังกฤษเพื่อไปยังทางตอนเหนือของฝรั่งเศส ซึ่งเรียกเส้นทางนี้ว่า UK Land Bridge


คาดการณ์กันว่ามีรถบรรทุกใช้เส้นทางนี้ถึงปีละ 150,000 คัน เนื่องจากใช้ระยะเวลาในการเดินทางไม่เกิน 20 ชั่วโมง  หากเทียบกับการที่รถบรรทุกขึ้นเรือเฟอร์รี่แล้วลงที่ท่าเรือในเรือที่ยุโรป (Roll-on/roll-off : RoRo) ที่ใช้ระยะเวลาประมาณ 40 ชั่วโมง หรือการขนสินค้าขึ้นลงที่ท่าเรือตามวิธีปกติ (Lift-on/lift-off : LoLo) ที่ใช้ระยะขนส่งนานถึง 60 ชั่วโมง  นอกจากนั้นการขนส่งด้วยรถบรรทุกเส้นทางนี้ยังสามารถแวะรับส่งสินค้าระหว่างทางในอังกฤษได้ตามข้อตกลงของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป

แต่เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงกำหนดที่สหราชอาณาจักรสิ้นสุดสถานภาพการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป อย่างเป็นทางการ สินค้าที่นำเข้า-ส่งออก และผ่านแดนไปยังยุโรป ต้องผ่านพิธีศุลกากรซึ่งต่างจากเดิมสามารถวิ่งผ่านได้เลย เนื่องจากเป็นไปตามข้อตกลงทางศุลกากรของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ส่งผลให้การเลือกใช้เส้นทางนี้ต้องพบกับการขั้นตอนการตรวจสอบ ระยะเวลาและค่าใช้จ่ายการขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะบริเวณด่านชายแดนที่อุโมงค์ข้ามช่องแคบอังกฤษ จุดเชื่อมต่อที่สำคัญระหว่างอังกฤษกับยุโรปที่คาดการณ์ว่าน่าจะมีรถบรรทุกรอตรวจสอบมากถึง 7,000 คัน และอาจส่งผลให้เกิดความล่าช้าได้มากถึง 48 ชั่วโมง

ดังนั้นผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องเลือกเส้นทางที่มีความเสี่ยงต่อความล่าช้าน้อยกว่า ถึงแม้จะใช้ระยะเวลาในการขนส่งที่นานกว่าก็ตาม ผู้นำเข้าส่งออกของไอร์แลนด์จึงเลือกใช้วิธีการขนส่งตรงไปยังทวีปยุโรปแทน ส่งผลให้รถบรรทุกที่ใช้เส้นทาง UK Land Bridge ลดลงถึง 50% และเที่ยวเรือที่วิ่งตรงระหว่างไอร์แลนด์กับยุโรปเพิ่มขึ้นจาก 12 เที่ยวเป็น 42 เที่ยวต่อสัปดาห์

จากเรื่องที่เล่ามาจะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับความเสี่ยงต่อความล่าช้าในการขนส่งมากกว่าความเร็ว เพราะถึงแม้ระยะเวลาการขนส่งจะนานขึ้นก็สามารถปรับแผนการสั่งซื้อสินค้า การวางแผนสินค้าคงคลังได้ใหม่ แต่หากระยะเวลาขนส่งไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่อยู่ในโซ่อุปทาน และขั้นตอนการผ่านพิธีศุลกากรก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดความล่าช้าในการขนส่ง

สำหรับประสิทธิภาพด้านการดำเนินงานพิธีศุลกากร ทางธนาคารโลก (World Bank) ได้มีการประเมินไว้เป็นหัวข้อหนึ่งใน Logistics Performance Index (LPI) และในปี 2018 ประเทศไทยถูกจัดอันดับอยู่ที่ลำดับ 36 จาก 160 ประเทศทั่วโลก ถ้าเทียบกับสิงคโปร์ที่ถูกจัดอันดับในลำดับที่ 6  ประเทศไทยยังต้องพัฒนาประสิทธิภาพในด้านนี้หากต้องการส่วนแบ่งเรือขนสินค้าที่แล่นผ่านช่องแคบมะละกาให้มาผ่านแลนด์บริดจ์ที่กำลังศึกษากันอยู่  

ข้อมูลอ้างอิง
https://www.instituteforgovernment.org.uk/explainers/trade-uk-landbridge
https://www.thejournal.ie/less-landbridge-mroe-action-how-irish-trade-changes-5356884-Mar2021/
https://lpi.worldbank.org/international/global?sort=asc&order=Customs#datatable 


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit
คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32