ประเทศไทย หรือในชื่อเดิมว่า สยาม ทำการค้ากับต่างประเทศมาเป็นเวลานับน้อยปี และหากย้อนเวลากลับไปราว 166 ปีก่อน วันนี้ในอดีตนั้น ถือเป็นวันสำคัญ เนื่องจากเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงลงนามทำสนธิสัญญาการค้าฉบับสำคัญ ที่มีชื่อเรียกขานกันว่า
หลังการขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2393 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานช่วยเหลือราษฎรด้านความเป็นอยู่ โดยทรงเห็นว่า หากมีการเปิดการค้าข้าวเสรีกับชาวต่างชาติ จะเป็นประโยชน์ต่อราษฎรอย่างมาก ประกอบกับหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีและข้อตกลงด้านการค้ากับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ยังคงมีปัญหาและไม่ได้รับการแก้ไข
ต่อมา รัฐบาลอังกฤษจึงได้ส่ง จอห์น เบาว์ริง เข้ามาทำสนธิสัญญาฉบับใหม่ในปี พ.ศ. 2398 โดยเป็นการเชิญพระราชสาส์น ของสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียเข้ามาถวาย พร้อมด้วยเครื่องราชบรรณาการ เข้ามาทำสนธิสัญญาทางไมตรี ทั้งนี้คณะของเบาว์ริงเดินทางมาถึงปากน้ำเจ้าพระยาเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2398 และได้ทำการลงนามสนธิสัญญากันเมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2398
แม้ในรายละเอียดของสนธิสัญญา ต้องแลกกับการสูญเสียอำนาจอธิปไตยทางการศาล และสิทธิสภาพนอกอาณาเขต แต่ถือเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียด จากสถานการณ์การล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกในช่วงเวลานั้นเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการค้าเสรี ไม่ผูกขาด และทำให้การผลิตเพื่อค้าเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีความต้องการจากต่างประเทศ โดยสินค้าสำคัญที่สยามผลิตเพื่อส่งออกต่างประเทศ นั่นคือ ข้าว ไม้สัก และดีบุก
ต่อมา สนธิสัญญาเบาว์ริงได้กลายเป็นต้นแบบของการทำสนธิสัญญาทางการค้ากับประเทศต่าง ๆ ที่เข้ามาเจรจากับสยาม ทั้งนี้สนธิสัญญาฉบับดังกล่าว มีการบังคับใช้อยู่นานกว่า 70 ปี จนกระทั่งมีการแก้ไข และค่อย ๆ ยกเลิกไปในสมัยรัชกาลที่ 6 หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง กระทั่งในปี พ.ศ. 2482 ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงได้มีการแก้ไขและลงนามสนธิสัญญาใหม่กับประเทศโลกตะวันตกทั้งหมด เพื่อให้ทันยุคสมัย และส่งผลดีต่อประเทศมากยิ่งขึ้น