สุโขทัย - Sukhothai Crafts and Folk Art เรียนรู้ประวัติศาสตร์ "บ้านพระพิมพ์" มรดกการพิมพ์พระเครื่อง สืบทอดจากบรรพชนสู่คนรุ่นหลัง
ศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์ หรือบ้านพระพิมพ์ลักษมณศิลป์ เป็นแหล่งเรียนรู้หนึ่งที่มีชื่อเสียงในเมืองเก่าสุโขทัย ตั้งอยู่ที่ ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.สุโขทัย ผู้ก่อตั้งได้รวบรวมพระพิมพ์ ของเมืองสุโขทัยทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น พระพิมพ์ที่ถูกค้นพบจากเมืองศรีสัชนาลัย และเมืองเก่าสุโขทัย พร้อมทั้งได้รวบรวมประวัติของวัด ผู้สร้างวัด รวมไปถึงชื่อของพิมพ์พระ ให้ถูกต้องตามความเป็นมา เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ และประวัติศาสตร์ศิลปะของเมืองสุโขทัย รวมไปถึงเมืองที่มีประวัติศาสตร์ร่วมสมัยเดียวกัน เป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น และมรดกของบรรพชนให้แก่เยาวชน นักท่องเที่ยว และผู้สนใจทั่วไปที่มาเยือน และมาเรียนรู้ อยากรู้ อยากทราบความเป็นมาที่แน่ชัด
คุณกบ ณรงค์ชัย โตอินทร์ ผู้ก่อตั้ง ศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์ หรือบ้านพระพิมพ์ลักษมณศิลป์ เป็นคนรุ่นใหม่ที่ลงมือทำงานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของสุโขทัย เป็นนักเล่าเรื่องทางประวัติศาสตร์ที่ศึกษาค้นคว้ามาอย่างลึกซึ้ง คุณกบสืบเชื้อสายตระกูลช่างแกะสลักไม้ทำพระพุทธรูป แต่เขามีความสนใจในเรื่องงานดินมากกว่า จึงเริ่มศึกษาการทำพระพิมพ์ดินเผาสุโขทัยจริงจังและเรียนรู้มามาอย่างมากกมาย ก่อนจะมาทำด้วยตนเอง เรียนผิด เรียนถูกมาตลอดตั้งแต่เป็นเด็ก มีความสนใจมากในเรื่องโบราณ เรื่องความเชื่อ เรื่องทำพระพิมพ์
บ้านพระพิมพ์ลักษมณศิลป์ นอกจากจะเป็นที่เรียนรู้ของนักท่องเที่ยว ที่จะได้เรียนรู้รูปแบบของพุทธศิลป์สุโขทัยในแบบต่าง ๆ แล้ว นักท่องเที่ยวยังจะได้เรียนรู้การ “พิมพ์พระ” และ “การเผา” เพื่อให้ได้พระพิมพ์จากดินเผาเนื้อแกร่งเป็นพระเครื่องสักองค์ ที่มาที่ไปแบบไหน ถึงจะมาได้ชื่อว่า พระเครื่องที่เราบูชา และเก็บสะสมเป็นที่นิยมกันมายาวนานของคนไทยนักสะสมพระเครื่อง และชาวต่างชาติ คุณณรงค์ และคุณญาณภัทร์ โตอินทร์ (พี่กบและพี่แก้ม) ทั้ง 2 ท่านซึ่งสามารถให้ความรู้ทั้งในด้านประวัติของพระพิมพ์เมืองสุโขทัยและในด้านเทคนิคของการพิมพ์พระ และการร่วมทำกิจกรรม “พิมพ์พระ” ไม่ใช่เพียงการเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้มรดกวัฒนธรรมของพื้นที่ผ่านการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่นักท่องเที่ยวจะได้มีส่วนร่วมในการ “สืบต่อพระพุทธศาสนา” สืบต่อไปนั้นเอง
ที่เรียกกันว่าพระพิมพ์ หรือพระเครื่องจากดินและผงจากแร่ธาตุ จากพืช คือการสร้างรูปพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยการนำวัสดุ เช่น ดินเหนียว โลหะ ผงว่านมงคล แร่ธาตุต่าง ๆ คลุกเคล้าจนได้ที่ของส่วนผสม นำไปกดลงไปในพิมพ์ โดยแม่พิมพ์หรือตัวพิมพ์มักจะสร้างด้วยหิน โลหะ ดินเผา ไม้ หรือกระดูกสัตว์ พระพิมพ์ในเมืองสุโขทัยถูกสร้างขึ้นตามอิริยาบถต่าง ๆ ของพระพุทธองค์ คือ นั่ง นอน ยืน และเดิน หรือสร้างตามเหตุการณ์สำคัญในพระพุทธประวัติ พระพิมพ์ถูกสร้างแพร่หลายในเมืองสุโขทัย โดยมีคติและความเชื่อที่ว่าเป็นการสั่งสมบุญบารมีให้กับผู้สร้าง และยังเป็นการสืบต่ออายุของพุทธศาสนา เพื่อให้คนเหล่านั้นสืบหาความหมายในพระธรรมของพระพุทธเจ้าจากพระพิมพ์ที่คนโบราณได้สร้างไว้ให้เรียนรู้แบบอย่าง และสืบทอดกันต่อ ๆ ไป
ภาพ/ข่าว เสนิศชนันต์ สุขกสิกร