สิงคโปร์ ท้าโลกร้อน ขอเปลี่ยนเมืองร้อนให้เป็นเมือง Cool ด้วยนวัตกรรม

สิงคโปร์ ประเทศเล็ก ๆ แต่รวยมากในย่าน อาเซียน มีความเจริญแทบทุกด้านติดอันดับต้น ๆ ของโลก และเป็นศูนย์กลางธุรกิจการเงินในภูมิภาค ที่หลายคนต่างมองด้วยความทึ่ง ในความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองนี้ 

แต่ถึงจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีจุดแข็งในหลาย ๆ ด้าน แต่ก็ยังมีปัญหาหนึ่งรัฐบาลสิงคโปร์พยายามแก้ไขมานานหลายสิบปี แต่ก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งความรุนแรงของปัญหาได้ นั่นก็คือ "ความร้อน" 

สิงคโปร์เป็นประเทศในเขตร้อน อยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรเพียง 137 กิโลเมตร สภาพอากาศจัดอยู่ในโซนป่าฝนเขตร้อน จึงมีอากาศร้อนชื้น ตลอดทั้งปี แต่ส่วนใหญ่มักจะค่อนมาทางร้อน แดดจัด  อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปีอยู่ที่ 27 องศาเซลเซียส

แต่นอกเหนือตำแหน่งที่ตั้งของสิงคโปร์ อยู่ในโซนเส้นศูนย์สูตรที่ก็ร้อนอยู่แล้ว สิงคโปร์ยังเจอปัญหาจาก Urban Heat Island Effect หรือปรากฏการณ์โดมความร้อน อันเนื่องจากสิงคโปร์เป็นเกาะที่มีสิ่งปลูกสร้างเป็นตึกคอนกรีตสูงใหญ่เป็นจำนวนมาก ที่กักเก็บความร้อนให้ระอุอยู่ภายในเมือง จึงทำให้ตัวเมืองมีอากาศร้อนจัด

แต่ชาวสิงคโปร์ต้องขอบคุณวิสัยทัศน์ของอดีตรัฐบุรุษผู้ล่วงลับ ที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาผู้สร้างชาติสิงคโปร์  นาย ลี กวน ยู ที่มองเห็นว่า เมืองที่มีต้นไม้ร่มรื่นจะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาชาติ และส่งเสริมสุขภาพทั้งกาย และใจ ให้กับประชาชน 

จึงได้ริเริ่มแคมเปญปลูกต้นไม้ใหญ่บนเกาะสิงคโปร์ให้ได้อย่างน้อยปีละ 10,000 ต้น ตั้งแต่ปี 1963  และต่อมา วัฒนธรรมการปลูกต้นไม้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชาวสิงคโปร์ ที่จะมีวันปลูกต้นไม้แห่งชาติ จัดในวันอาทิตย์แรกของเดือนพฤศจิกายน ตั้งแต่ปี 1971 โดย นายลี กวน ยู เอง  ที่ชักชวนชาวสิงคโปร์ให้ออกมาปลูกต้นไม้ด้วยกันในวันนี้ ซึ่งเขารักการปลูกต้นไม้มาก และจะเจียดเวลามาปลูกต้นไม้ให้ได้อย่างน้อยปีละ 60 ต้น เป็นประจำ 

และแคมเปญการปลูกต้นไม้ของรัฐบาลสิงคโปร์ ยังคงเดินหน้ามาถึงใน ปัจจุบัน และในปีนี้ 2021 รัฐบาลสิงคโปร์ ที่ปัจจุบันนำโดย นายกรัฐมนตรี ลี เซียน ลุง บุตรชายของนายลี กวน ยู ก็ประกาศเป้าหมายที่จะปลูกต้นไม้บนเกาะสิงคโปร์ให้ได้ถึง 1 ล้านต้นภายใน 10 ปีข้างหน้า เพื่อให้สิงคโปร์เป็นเมืองกลางสวนเขียวชอุ่มอย่างแท้จริง ตามที่พ่อของเขาเคยตั้งเป้าหมายไว้ 

ถึงแม้การปลูกต้นไม้ใหญ่ และ สร้างสวนสาธารณะชุมชนเพิ่มขึ้น จะบรรเทาความร้อนจากผลกระทบของ Urban Heat Island Effect ไปได้บ้าง แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้อุณหภูมิภายในเมืองสิงคโปร์ลดลง ตรงกันข้าม จากข้อมูลสถิติกลับพบว่าอุณหภูมิเฉลี่ยในสิงคโปร์เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็ว และเร็วกว่าค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิโลกถึง 2 เท่า 

ซึ่งสิ่งที่มาเป็นตัวเร่ง และแรงเสริมที่ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยในเมืองสิงคโปร์ยังคงพุ่งสูงอย่างน่ากลัว ก็คือปัญหาจากภาวะโลกร้อน  และคาดว่าอาจทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยในสิงคโปร์เพิ่มถึง 35-37 องศา ภายในไม่เกินศตวรรษหน้า 

และด้วยปัญหาความร้อนนี้ จึงทำให้ชาวสิงคโปร์จำเป็นต้องพึ่งพาความเย็นจากเครื่องปรับอากาศ ที่มักมีติดกันทุกบ้าน ทุกอาคาร เพื่อบรรเทาความร้อน ชื้นที่รุนแรงขึ้นทุกปี จึงไม่แปลกใจที่พบว่าในประเทศสิงคโปร์ มีจำนวนเครื่องปรับอากาศต่อประชากรมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

และยิ่งใช้เครื่องปรับอากาศมาก ก็ยิ่งไปเร่งให้เกิดปรากฏการณ์โดมความร้อน และยังเผาผลาญพลังงาน ปล่อยก๊าซคาร์บอนเพิ่มอีก กลายเป็นห่วงโซ่ของปัญหาภาวะโลกร้อน ที่ไม่อาจแก้ได้แค่เพียงการปลูกต้นไม้ แต่ต้องลดการใช้พลังงานคาร์บอนและลดการพึ่งพาความเย็นจากเครื่องปรับอากาศ

หว่อง ยุก เหียน อาจารย์ประจำภาควิชาการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ เห็นว่า การออกแบบอาคารในสิงคโปร์นับจากนี้ ต้องคำนึงเรื่องการลดการใช้เครื่องปรับอากาศ ที่สิ้นเปลืองพลังาน และไม่เป็นผลดีต่อสภาพอากาศในสิงคโปร์  เพราะฉะนั้น จำเป็นต้องหานวัตกรรมใหม่ ที่ช่วยทำให้อาคารเย็นลง ผู้อยู่อาศัยรู้สึกสบายโดยไม่จำเป็นต้องเปิดแอร์ และทางเลือกนั้นต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

โจทย์นี้ กลายเป็นที่มาของโครงการ Cooling Singapore Project ทีมนักวิจัยที่ต้องการหาทางออกให้กับสิงคโปร์ ด้วยการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และการออกแบบ ที่ประกอบด้วยกุญแจสำคัญ 7 ประการ อันได้แก่ ความเขียวขจีของต้นไม้, เรขาคณิตของเมือง, การใช้น้ำลดความร้อน, การใช้วัสดุ พื้นผิวที่เหมาะสม. การสร้างร่มเงา, ระบบคมนาคม และการใช้พลังงาน

ดังจะเห็นได้จากรูปแบบสถาปัตยกรรมตึก และอาคารสมัยใหม่ของสิงคโปร์ จะเน้นความสำคัญของการออกแบบให้มีระดับความสูงต่ำ ที่แตกต่างกัน อาคารมีลักษณะโค้งมน และมีการเว้นช่องว่าง แทนที่จะเป็นทรงเหลี่ยม สร้างอย่างทึบแน่น เต็มพื้นที่ หรือเน้นความสูงระฟ้า เพื่อเปิดช่องทางลม ให้หมุนไหลเวียนภายในตัวเมือง ลดการสะสมความร้อนที่เป็นสาเหตุของ Urban Heat Island Effect

นอกจากนี้ยังมีการแทรกสวนหย่อม ต้นไม้ภายในอาคาร มีโซนบ่อน้ำเป็นฉนวนกันความร้อน ใช้วัสดุที่สะท้อนแสง และไม่เก็บความร้อน เน้นสีอ่อน เน้นความพริ้วเบา ที่ช่วยส่งเสริมการถ่ายเทลม

ยกตัวอย่างเช่นอาคาร โรงแรม Park Royal และ Oasis ในสิงคโปร์ ที่ผสานสวนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาคาร  หรือโครงการ The Interlace คอนโดนิเนียมที่ได้รับรางวัลด้านสถาปัตย์ ที่ออกแบบเหมือนบล็อคที่ถูกนำมาวางซ้อนกัน แต่สับหว่างให้เกิดช่องลมไหลเวียนทั่วทั้งโครงการ 

นอกจากมุมมองด้านการออกแบบแล้ว ยังมีการนำเทคโนโลยี Cooling System ระบบทำความเย็นด้วยท่อน้ำเย็นขนาดใหญ่ซึ่งฝังอยู่ใต้ดินของอาคาร และเดินท่อน้ำเย็นขึ้นไปภายในอาคาร เพื่อช่วยลดความร้อน แทนการใช้เครื่องปรับอากาศ แล้วไหลเวียนกลับสู่ระบบเพื่อปรับอุณหภูมิแล้ววนกลับไปใหม่ ตลอด 24 ชั่วโมง 

ซึ่งอาคารที่ใช้ระบบนี้ และมีชื่อเสียงอย่างมากก็คือ  Marina Bay District ที่มีศูนย์ปฏิบัติการระบบท่อน้ำเย็นใต้ดินที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ดูแลระบบความเย็นทั้งภายในอาคารทั้งหมดใน Marina Bay District และ บริเวณใกล้เคียง ที่สามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้มากถึง 40%  

และในอนาคต รัฐบาลสิงคโปร์มีแนวคิดที่จะขยายระบบท่อน้ำเย็นนี้ ให้ครอบคลุมทั่วทั้งอาคารพาณิชย์ และ อาคารที่อยู่อาศัยของประชาชนด้วย และเชื่อว่าจะสามารถลดการใช้พลังงาน และเครื่องปรับอากาศได้อย่างมาก 

ส่วนขั้นต่อไปของ Cooling Singapore 2.0  คือการขับเคลื่อนเมืองไปสู่ยุค Smart City ด้วยการพัฒนาระบบตรวจสอบประสิทธิภาพของเมือง ด้วยโปรแกรม Digital Urban Climate Twin (DUCT)  ในการประเมินผลลัพธ์ด้านสถาปัตย์ ระบบความเย็น สวนสาธารณะ พลังงานทางเลือก รถยนต์ปลอดคาร์บอน ว่ามีผลต่อสิ่งแวดล้อมภายในเมืองมากน้อยเพียงใด เพื่อประกอบเป็นข้อมูลในการวางผังเมือง การออกนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม และการจัดการมลภาวะภายในสิงคโปร์ให้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น

ซึ่งจะเรียกว่าเป็นการเปิดฉากต่อสู้กับภาวะโลกร้อนในแบบของสิงคโปร์ ประเทศที่ประกาศเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ได้ภายใน ปี 2050 กับความฝันที่อย่างเป็นเมืองแห่งสวนสุด Cool เย็นได้ ไม่ง้อแอร์  ให้ได้จริง ๆ สักวันหนึ่ง 


ข้อมูลอ้างอิง

https://www.bloomberg.com/news/features/2020-12-01/singapore-climate-change-reducing-heat-takes-trees-and-technology

https://www.todayonline.com/singapore/plant-underground-district-cooling-network-marina-bay-commissioned

https://www.channelnewsasia.com/news/cnainsider/singapore-hot-weather-urban-heat-effect-temperature-humidity-11115384

https://www.straitstimes.com/singapore/environment/cooling-singapore-project-comes-up-with-new-ways-to-beat-the-heat

https://www.clc.gov.sg/events/lectures/view/Building-and-Cooling-Singapore-in-an-Era-of-Climate-Change

https://www.cnbc.com/2016/03/27/lee-kuan-yew-was-actually-singapores-chief-gardener.htm