โรงพยาบาลสนามเชียงใหม่ พร้อมรับมือโควิดระบาด ติดตั้งระบบเสมือนห้องความดันลบ ฟอกอากาศกำจัดเชื้อที่จะออกจากอาคารได้ปลอดภัย เปิดใช้งานแล้ว 9 เม.ย.64 เบื้องต้นรับได้ 280 เตียง แต่พร้อมขยายเพิ่มเป็น 700 เตียง

หลังจากจังหวัดเชียงใหม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นวันเดียว 36 ราย ทำให้ยอดสะสมระลอกใหม่พุ่งขึ้นเป็น 47 ราย และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกต่อเนื่อง ล่าสุดทางคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ได้สั่งเตรียมความพร้อมสำหรับโรงพยาบาลสนาม หลังประเมินสถานการณ์แล้วว่าจะรุนแรงกว่าทุกทั้งที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะส่งผลให้พื้นที่ในโรงพยาบาลแต่ละแห่งไม่เพียงพอสำหรับดูแลผู้ป่วยจำนวนมาก อีกทั้งแต่ละโรงพยาบาลก็ยังมีภาระในการดูแลผู้ป่วยทั่วไปด้วย

ดังนั้นจึงมีการเตรียมพร้อมเปิดโรงพยาบาลสนามที่ก่อนหน้านี้มีการวางแผนเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ไว้ล่วงหน้า โดยใช้อาคารของศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ 7 รอบพระชนมพรรษา ซึ่งมีห้องโถงใหญ่ 3 โถง แบ่งใช้ 1 ห้องโถงติดตั้งระบบ และเตียงไว้จำนวน 280 เตียง แบ่งเป็นชาย 140 เตียง หญิง 140 เตรียม พร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น

ขณะที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงพยาบาลสนามนั้น นายแพทย์ วรวุฒิ โฆวัชรกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสันทราย ในฐานะผู้รับผิดชอบการวางแผนโรงพยาบาลสนาม เปิดเผยว่า ขณะนี้พร้อมที่จะเปิดโรงพยาบาลสนามแล้ว ซึ่งโรงพยาบาลสนามจะสามารถรองรับผู้ป่วยได้ 280 เตียง แบ่งเป็นชาย 140 และหญิง 140

ทว่าหากมีมากกว่านี้จะสามารถขยายได้อีกเป็น 3 เท่า เนื่องจากห้องโถงที่ใช้เป็นโถงแรก แต่ที่ศูนย์ประชุมแห่งนี้มีอีก 2 โถงใหญ่ โดยจะใช้รองรับผู้ป่วยที่อาการไม่หนัก สามารถช่วยเหลือตนเองได้เป็นปกติ และผู้ป่วยที่อยู่ในระยะพักฟื้น ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการหนัก ก็จะมีการส่งตัวไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลหลักที่เตรียมไว้ โดยจะมีแพทย์พยาบาลมาตรวจสุขภาพทุกวัน

ส่วนการเลือกใช้สถานที่แห่งนี้นั้น เพราะเชียงใหม่ประสบภาวะเรื่องของมลพิษทางอากาศจากหมอกควันและไฟป่า ส่งผลให้ค่า PM 2.5 สูง ซึ่งโควิด-19 เป็นโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจจะโจมตีที่ปอดเป็นหลัก ดังนั้นฝุ่นควันจึงจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ป่วยจึงต้องเตรียมสถานที่ที่มีระบบปรับอากาศรองรับ ทั้งส่วนของเตียงผู้ป่วย ห้องน้ำ ก็อยู่ในอาคารทั้งสิ้น สะดวกสบายกว่าที่อื่น ๆ

สำหรับโรงพยาบาลสนามในศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จะมีระบบดูดอากาศเหมือนเป็นห้องความดันลบเล็กๆ ซึ่งตั้งระบบดูดอากาศไว้ด้านนอกอาคาร เมื่อดูดออกไปก็จะมีตัวกรองเชื้อโรคที่ปลายทาง โดยอากาศที่ดูดออกไปจะถูกแสงอัลตราไวโอเลตกำจัดเชื้อ รวมทั้งตัวกรองอากาศเฮปปาอีกชั้น ทำให้มั่นใจได้ว่าอากาศที่ออกจากอาคารนี้จะปลอดเชื้อ ส่วนบุคลากรทางการแพทย์นั้นจะระดมมาจากโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั้งเชียงใหม่ มาเข้าเวรเป็นผลัด ผลัดละ 12 ชั่วโมง และเนื่องจากว่าคนไข้ที่ใช้โรงพยาบาลสนามจะเป็นคนไข้ที่อาการไม่รุนแรงสามารถช่วยเหลือตัวเองได้เดินไปมาเองได้ จึงจะใช้พยาบาลประมาณ 4 คนต่อจำนวนผู้ป่วยประมาณ 50 คน แต่อาจจะเพิ่มจำนวนได้ถ้าจำนวนผู้ป่วยมากกว่านี้

ทั้งนี้บรรยากาศที่โรงพยาบาลสนามช่วงเช้านี้ ทางเจ้าหน้าที่เร่งทำความสะอาดเช็ดถูเตียงและพื้นที่ทั้งหมดอีกครั้ง เตียง ฟูก ผ้าปู หมอน ปลอกหมอน ผ้าห่ม รวมทั้งตู้เก็บของ ก็เป็นของใหม่หมดที่จัดซื้อจากงบของภาครัฐร่วมกับการสนับสนุนของภาคเอกชน ด้านหน้าทางเข้ามีระบบคัดกรอง ทำความสะอาดฆ่าเชื้อ ห้องเปลี่ยนชุด PPE ของบุคลากรทางการแพทยที่จะเข้าออก และมีห้องพักของบุคลากรที่จะต้องมาเข้าเวร


ที่มา: http://https://mgronline.com/local/detail/9640000033943