ศ.นพ.ยง โพสต์เฟซบุ๊ก ชี้ 'โควิดสายพันธุ์อังกฤษ'​ มาจากแรงงานจากประเทศกัมพูชาและประเทศไทย ที่ข้ามฝั่งไปมาระหว่างกัน

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุถึง การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษ ที่กำลังแพร่การระบาดในประเทศไทยขณะนี้ โดยคาดว่าจะมาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่าง 'กัมพูชา'​ ว่า...

...การระบาดของโควิด-19 ที่สมุทรสาครเป็นสายพันธุ์ 'พม่า'​ ส่วนการระบาดที่สถานบันเทิง สายพันธุ์มาจาก 'เขมร'​

ข้อมูลค่อนข้างชัดมาก มีการระบาดที่เขมรมาก่อน และผมได้ติดต่อ กับผู้ที่ผมสนิทด้วย ทำงานอยู่สถาบันปาสเตอร์ในกรุงพนมเปญ สายพันธุ์อังกฤษเริ่มระบาดในเขมร ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ และขณะนี้ยังระบาดหนักมาก

ทั้งนี้​ หมอยง​ ยังได้บอกถึงเหตุผลที่บอกว่าการระบาดที่ทองหล่อ น่าจะมาจากเขมรอีกด้วยว่า...

...การระบาดที่ทองหล่อและระบาดอย่างมากในประเทศไทยขณะนี้ โดยเฉพาะมาจากสถานบันเทิง ที่เป็นแหล่งต้นตอของการแพร่กระจายอย่างมากนั้น​ เป็นไวรัสสายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7

ขณะที่แต่เดิมการระบาดที่สมุทรสาครและแพร่กระจายไปทั่วประเทศตั้งแต่เดือนธันวาคม เป็นสายพันธุ์ในกลุ่ม GH ซึ่งเป็นสายพันธุ์เดียวกับการพบในผู้ที่เดินทางมาจากประเทศพม่า

ส่วนสายพันธุ์อังกฤษได้เริ่มมีการระบาดอย่างมากในประเทศเขมร โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ จนกระทั่งปัจจุบันการระบาดก็ยังไม่หยุด มีผู้ป่วยในการระบาดรอบนี้ร่วม 3,000 คนและมีการเสียชีวิตมากกว่า 20 คน

ทั้งนี้​ จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก​ ได้มีการถอดรหัสพันธุกรรมของผู้ป่วยในเขมรที่บันทึกไว้เป็นหลักฐานในการระบาดโรคนี้ ซึ่งจะเห็นว่าเป็นสายพันธุ์ B.1.1.7

สอดคล้องกับการถอดรหัสพันธุกรรมของสายพันธุ์ทองหล่อ โดยศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก 'จุฬา'​ ได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ รวมทั้งสวทช. แสดงให้เห็นว่า...

...พันธุกรรมของ 'ไวรัสสายพันธุ์ทองหล่อ'​ อยู่ในกลุ่มเดียวกับสายพันธุ์ที่ระบาดใน​ 'เขมร'​ มีความเหมือนกัน และเปรียบเทียบกับสายพันธุ์อังกฤษที่ศูนย์ไวรัส ได้ถอดรหัสพันธุกรรมโควิด-19 จากผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ​ โดยเฉพาะประเทศอังกฤษและยุโรป อเมริกา ความเหมือนของสายพันธุ์จะเหมือนกับสายพันธุ์ที่แยกได้จากเขมร

การระบาดในเขมรเกิดขึ้นก่อนในประเทศไทย โดยเกิดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และระบาดอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ประกอบกับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์โดยการถอดรหัสพันธุกรรม มีความเหมือนกัน

หมอยง​ ชี้อีกว่า​ การระบาดในประเทศไทยเกิดขึ้นหลังจากการระบาดในเขมรมานานกว่า 6 สัปดาห์

ฉะนั้นเมื่อเรียบเรียงตามระยะเวลา ความเป็นไปได้จึงน่าจะเป็นจากเขมรมาประเทศไทย มากกว่าประเทศไทยไปเขมร

ข้อมูลทั้งหมด​ เป็นข้อมูลที่สนับสนุน โดยเฉพาะทางด้านสายพันธุ์ พันธุศาสตร์ ว่าการระบาดครั้งนี้ น่าจะมาจากประเทศกัมพูชา ส่วนจะมาด้วยวิธีใด ก็คงจะต้องมีการสืบหากันต่อไป


ที่มา: https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=5494769050565667&id=100000978797641

https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=5498370723538833&id=100000978797641