“เมื่อ...เลือกทำในสิ่งที่รัก ไม่ใช่สิ่งที่เรียนมา”

“โตขึ้นอยากเป็นอะไร” ประโยคที่ทุกคนในวัยเด็กต้องผ่านการตอบคำถามนี้ ประกอบกับท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และจนถึงวันนี้ที่เราต้องอยู่ในสภาวะปกติใหม่ (New Normal) ทำให้อาชีพทุกวันนี้ หลากหลายและมีทางเลือกมากขึ้น บางคนได้ทำในสิ่งที่เรียนมาตรงสาย บางคนอาจจะค้นพบตัวเองหลังจากที่เรียนจบแล้ว ในความเป็นจริงไม่มีสูตรตายตัวสำหรับโลกของการทำงาน

แต่เราต้องทำตัวเองให้พร้อม เพื่อจะเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน ศิลปิน ดารา นักแสดงหลาย ๆ คน ก็ไม่ได้เรียนมาทางนิเทศศาสตร์ แต่ผันตัวเองมาสู่การทำงานในวงการบันเทิง เช่น โดม จารุวัฒน์ เชี่ยวอร่าม จบนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์

แต่ด้วยความรักในเสียงเพลง ทำให้โดม ก็มุ่งมั่นงานวงการบันเทิง จนปัจจุบันเปิดค่ายเพลงเป็นของตัวเองกับค่าย LIT ENTERTAINMENT ปั้นเด็กใหม่ให้วงการ T-POP แม้เจ้าตัวจะไม่ได้เรียนทางสายดนตรีมา แต่เก็บเกี่ยวจากประสบการณ์การทำงานมาใช้ในการบริการค่ายเพลง และยังได้นำความรู้จากตอนเรียนมาช่วยเรื่องการทำสัญญา เรื่องลิขสิทธิ์เพลง และแนวคิดในการใช้ชีวิตเรื่องของเหตุและผลต่าง ๆ ที่ปรับเอามาใช้ในชีวิตประจำวัน

จากตัวอย่าง จะเห็นได้ว่าองค์ความรู้ที่เราเรียนมาก็ไม่ได้หล่นหายไปไหน เพียงแค่ความรู้ถูกแปลงไปใช้งานตามสถานการณ์ที่เราได้เจอ เช่นเดียวกันกับอีกหนึ่งศิลปินที่เรียนมาคนละสายกับงานที่ทำในปัจจุบัน ได้แก่ ณัฐ ศักดาทร จบมาทางด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และก้าวเข้ามาสู่วงการบันเทิง ในการเป็นนักร้อง นักแสดง โดยในงานประชุมวิชาการ “นักเศรษฐศาสตร์และผองเพื่อน” ของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศีนครินทร์วิโรฒ ณัฐ ศักดาทร ได้ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “ตอนที่เลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ เป็นสาขาที่คิดว่าน่าจะสามารถไปประยุกต์ใช้กับสิ่งที่ต่าง ๆ ได้ง่ายในชีวิต โดยสิ่งที่เรียนมาแล้วได้ใช้ในชีวิตประจำวันจริง ๆ ทุกวันเลยคือเรื่อง opportunity cost (ต้นทุนค่าเสียโอกาส) การเลือกซื้อของบางอย่าง เราก็จะต้องแลกกับเงินที่จะไม่ได้ซื้อของบางอย่าง เพราะเรามีทรัพยากรที่จำกัด ซึ่งทรัพยากรตรงนี้ไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่รวมถึงเรื่องเวลาด้วย คนเรามี 24 ชั่วโมงเท่ากัน อยู่ที่เราเลือกที่จะทำอะไร ถ้าเราเลือกที่จะเล่นโซเชียลมีเดีย เราก็อาจจะเสียโอกาสในการออกกำลังกาย หรือการพัฒนาทักษะอื่น ๆ” ซึ่งก่อนหน้านี้ ในรายการตามสัญญา ทางช่อง PPTV ณัฐ ศักดาทร ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า เคยติดโซเชียลมีเดีย ถึงขั้นต้องพบจิตแพทย์มาแล้ว ดังนั้น การนำหลักคิดเรื่องต้นทุนค่าเสียโอกาสมาใช้ บางทีก็ทำให้เราแยกออกว่าอะไรคือสิ่งที่เราควรที่จะต้องทำมากกว่ากัน

ณัฐ ศักดาทร ยังทิ้งท้ายไว้ในงานประชุมวิชาการว่า “การเรียนเศรษศาสตร์มาทำให้เรามีความคิดแบบนี้ตลอดเวลา ในการคิดเรื่องต้นทุนค่าเสียโอกาส และการเรียนเศรษฐศาสตร์พอเข้ามาทำงานในวงการบันเทิง มันยังอยู่ในกระบวนการคิดทุก ๆ วัน และการทำงานในวงการบันเทิงมันมีอะไรที่สนับสนุนกันอยู่”

แม้วันนี้ หลาย ๆ คนที่เรียนจบไปแล้ว เราอาจจะไม่ได้เรียนมาตรงกับสิ่งที่เราชอบ หรือไม่ได้ทำตามคำตอบของคำถามที่ว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร” แต่เราสามารถพาตัวเองไปอยู่ในสิ่งที่เราชอบได้ ฝึกฝน เรียนรู้ทักษะต่าง ๆ เพื่อให้เราได้ทำในสิ่งที่เรารัก และความรู้ที่เกิดขึ้นที่เราได้สั่งสมมา วันนี้อาจจะยังไม่ได้หยิบมันขึ้นมาใช้งาน แต่ไม่แน่ว่าอนาคตข้างหน้า เราอาจจะได้รื้อฟื้นกล่องความทรงจำความรู้นั้น ๆ มาใช้แบบไม่รู้ตัว ...


ข้อมูลอ้างอิง

สัมภาษณ์ : จารุวัฒน์ เชี่ยวอร่าม

https://www.pptvhd36.com/programs/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%B5%E0%B9%89/%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2/79328#part-1

https://www.sanook.com/campus/1404051/