Game Changer ของวิกฤติ Covid-19

อินเดีย ประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของโลก และเป็นประเทศผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดของโลก 60% ของวัคซีนที่ใช้กันอยู่ทั่วโลก ผลิตในอินเดีย และ 2 ใน 3 ของเด็ก และ ทารกทั่วโลก ต้องเคยได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 ชนิดที่ผลิตในอินเดีย

และวันนี้ อินเดียกำลังจะกลายเป็นผู้ผลิตวัคซีน Covid - 19 ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกแล้ว ที่คาดหมายว่าจะเป็นจุดพลิกชะตา จบเกมส์ Covid-19 ได้เลยทีเดียว ที่หลายฝ่ายมั่นใจเช่นนี้ เพราะปรัชญาการผลิตเวชภัณฑ์ของรัฐบาลอินเดีย มีเป้าหมายให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ทุกระดับชั้น โดยเฉพาะ ชาวอินเดียที่มีความหลากหลายในวรรณะ และชาติพันธุ์ ที่อยู่รวมกันมากถึง 1.3 พันล้านคน

ซึ่งปรัชญานี้ ก็ใช้กับการผลิตวัคซีน Covid-19 วัคซีนซึ่งเป็นที่ต้องการมากที่สุดในโลกแล้วในขณะนี้

และหากพูดถึงการผลิตวัคซีน Covid-19 ในอินเดีย บริษัทที่ไม่อาจมองข้ามไปได้เลยก็คือ Serum Institute of India หรือ SII บริษัทผู้ผลิตวัคซีนที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย และเป็นพาร์ทเนอร์คนสำคัญที่ร่วมในการทดลองและพัฒนาวัคซีนของ Oxford-AstraZeneca

SII ตั้งเป้าหมายในการผลิตวัคซีน AstraZeneca ให้ได้ถึง 1 พันล้านโดสภายในสิ้นปี 2021 รวมทั้ง ยังต้องผลิตวัคซีนเข้าโครงการ COVAX ขององค์การอนามัยโลกถึง 200 ล้านโดส เพื่อแจกจ่ายให้กับประเทศในโลกที่ 3

บริษัทผู้ผลิตวัคซีนที่เข้ามารับภารกิจระดับโลกครั้งนี้ มีที่มาเช่นไร วันนี้เราจะมาทำความรู้จัก Serum Institute of India - SII กัน

จุดเริ่มต้นของบริษัท Serum Institute of India เกิดจาก ครอบครัวผู้เพาะพันธุ์ม้าในเมืองปูเน่ รัฐมหาราษฎระ ทางตะวันตกของอินเดีย โดยนาย ไซปรัส ปูนะวัลลา รับหน้าที่ดูแลคอกม้าให้พ่อ แต่มาวันหนึ่ง แม่ม้าตัวหนึ่งของเขาโดนงูกัด แล้วเขาได้พยายามติดต่อสัตวแพทย์ หาเซรุ่มแก้พิษงูมาฉีดให้ม้า แต่ปรากฏว่าทั้งเมืองหาเซรุ่มไม่ได้ ศูนย์เซรุ่มที่อยู่ใกล้ที่สุดคือบอมเบย์ ที่ห่างไปไกลเกิน 100 กิโลเมตร และต้องรอเจ้าหน้าที่รัฐอนุมัติเสียก่อนถึงจะเบิกเซรุ่มมาใช้ได้

การสื่อสารก็ติดขัด หน่วยงานราชการทำงานล่าช้ามาก และหากจำเป็นต้องสั่งเซรุ่มจากต่างประเทศ ก็ราคาสูงมาก จนเขาไม่คิดว่าคนยากจน ที่ถูกงูกัดจะสามารถซื้อได้

และกว่าจะได้เซรุ่มมา ใช้เวลานานถึง 4 วัน ซึ่งไม่ทันที่จะช่วยชีวิตแม่ม้าของเขาได้ ความเสียใจนั้นกลายเป็นจุดเริ่มต้นของปณิธานของเขาว่า เขาจะตั้งโรงงานผลิตวัคซีน และเซรุ่ม ในราคาถูก มีคุณภาพดี และมีปริมาณเพียงพอให้ชาวอินเดียสามารถเข้าถึงได้ทุกคน ไม่ว่าจะยากจนแค่ไหน

ครอบครัวปูนะวัลลา ก็ได้ลงทุนก่อตั้งโรงงานผลิตวัคซีน Serum Institute of India (SII) ในปี 1966 ที่ผลิตตั้งแต่เซรุ่มแก้พิษงู วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ บาดทะยัก โรคหัด ไข้หวัดใหญ่ และอื่นๆอีกเป็นจำนวนมาก ในราคาประหยัด แต่ได้มาตรฐานสูง รับประกันคุณภาพผลงานด้วยการได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตยา และวัคซีนให้แก่องค์กรระดับโลก อย่างองค์การอนามัยโลก Unicef Pan American Health Organization และอีกหลายองค์กร

จนกระทั่งในเดือนมิถุนายน 2020 ทางบริษัทก็ได้รับการติดต่อจาก AstraZeneca ที่กำลังพัฒนาวัคซีนต้าน Covid-19 และต้องการให้ SII ร่วมทดสอบวัคซีน และเป็นฐานการผลิตให้กับ AstraZeneca หลังจากผ่านการทดสอบขั้นสุดท้าย

ซึ่งทางครอบครัวปูนะวัลลา ที่ปัจจุบัน อดาร์ ปูนะวัลลา บุตรชายของนาย ไซปรัส ผู้ก่อตั้ง เป็นผู้สืบทอดกิจการ และดำรงตำแหน่งประธานบริหารสูงสุด ก็รู้ทันทีว่าข้อตกลงครั้งนี้ พ่วงมาด้วยความกดดันในทุกขั้นตอนของการผลิต โดยต้องประสานงานกับโรงพยาบาลกลางในเมืองปูเน่ ในการทดลองวัคซีนให้กับ AstraZeneca ในเฟส 2 และ 3 เพื่อดูผลการทดสอบอย่างใกล้ชิด

เมื่อมีการรับรองผลการทดสอบวัคซีนในขั้นสุดท้ายแล้ว SII ก็ได้รับใบอนุญาตในการผลิตวัคซีน AstraZenca ทันทีภายใต้ชื่อวัคซีน Covashield ในช่วงที่อินเดียกำลังเจอกับวิกฤติครั้งใหญ่ ของการแพร่ระบาดของ Covid-19 พอดี ที่ยอดผู้ติดเชื้อในประเทศพุ่งสูงขึ้นไปเป็นอันดับ 2 ของโลก

SII ต้องเร่งขยายฐานการผลิต เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณที่ต้องผลิตวัคซีน Covid-19 ที่ไม่ใช่แค่เพียงพอต่อการใช้ในประเทศเท่านั้น แต่ต้องผลิตให้มากพอที่จะส่งให้กับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกด้วย

อดาร์ ปูนะวัลลา เล่าว่า แค่เพิ่มสต็อคขวดบรรจุวัคซีนเพียงอย่างเดียว ทางบริษัทต้องลงทุนเพิ่มอีกหลายสิบล้านดอลลาร์ ยังไม่รวมการเพิ่มแรงงาน ที่ทำงานกันไม่หยุด 7 วัน 24 ชั่วโมง และทุกวันก่อนเที่ยงคืน ก็จะมีข้อความผ่านทาง WhatApp จาก ด็อกเตอร์ เค. วิชัยราฆวัน ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ ของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิ เพื่อติดตามรายงานความคืบหน้าของการผลิตวัคซีนให้กับรัฐบาลเป็นประจำ ถึงจะมีการเตรียมงานอย่างดี และมีประสบการณ์ในด้านการผลิตวัคซีนมานานกว่า 50 ปี แต่กลับมีอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เมื่อโรงงานหลังหนึ่งของ SII ถูกไฟไหม้! เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2021

ความรุนแรงของเหตุไฟไหม้ ทำลายบางส่วนของอาคารโรงงาน และมีผู้เสียชีวิตในโรงงานถึง 5 คน ซึ่งโรงงานนั้นก็เป็นหนึ่งในฝ่ายการผลิตวัคซีน AstraZeneca

แม้จะไม่ทราบสาเหตุของต้นเพลิง แต่ SII ยังต้องเดินหน้าการผลิตวัคซีนตามเป้าหมายต่อไป ยังโชคดีที่สามารถควบคุมเพลิงได้เร็ว ทำให้โรงงานส่วนใหญ่ไม่เสียหายมากนัก จึงยังคงดำเนินการผลิตต่อไปได้

แม้ในวันนี้ SII ยังคงเร่งผลิตวัคซีน AstraZenca อย่างต่อเนื่องด้วยความเร็ว 5,000 ขวดต่อนาที กับแรงงานของพนักงานหลายร้อยชีวิตที่นี่ ต่างทำงานอย่างขมักเขม้น ที่พวกเขาต่างตระหนักรู้ว่า นี่ไม่ใช่แค่การทำงานเพื่อผลิตสินค้า แต่เป็นการต่อสู้กับภัยโรคระบาดระดับโลก ซึ่งทาง SII มั่นใจว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายการผลิตวัคซีนให้ได้ 1 พันล้านโดส ภายในสิ้นปีนี้อย่างแน่นอน

และนอกจากจะผลิตวัคซีน AstraZeneca แล้ว SII ก็เพิ่งเซ็นข้อตกลงร่วมพัฒนาวัคซีน Covid-19 ให้อีก 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ได้แก่ Novavax ที่อยู่ขั้นการทดลองวัคซีนช่วงสุดท้ายแล้ว และคาดหวังว่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของวัคซีนราคาประหยัด และสามารถเก็บได้ในตู้แช่ทั่วไปได้ เช่นเดียวกับ AstraZeneca และ ล่าสุด Codagenix วัคซีน Covid-19 รุ่นใหม่ ที่ใช้หยอดทางจมูกแทนการฉีดเข้าร่างกาย

ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ ที่ไปในทิศทางเดียวกันทั้งภาครัฐ และ เอกชน จึงไม่แปลกใจว่าทำไมอินเดีย ถึงได้รับฉายาว่าเป็นคลังวัคซีนโลก แต่จะเป็นผู้ปิดเกมส์เจ้าไวรัส Covid-19 ได้จริง ๆ อย่างที่หลายคนคาดไว้หรือไม่ คงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่ที่สามารถยืนยันได้แล้วในตอนนี้ คือ อินเดีย สามารถพลิกวิกฤติ Covid-19 ให้กลายเป็นโอกาสให้กับเศรษฐกิจอินเดีย และเป็นหนึ่งในผู้ที่มอบแสงสว่างในปลายอุโมงค์ให้แก่ประชาชนในประเทศยากจนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงวัคซีน Covid-19 ได้นับล้านคนทั่วโลกทีเดียว


อ้างอิง

https://www.reuters.com/article/us-health-coronavirus-india-serum-insigh/how-one-indian-company-could-be-worlds-door-to-a-covid-19-vaccine-idINKBN22Y2BI?edition-redirect=in

https://www.straitstimes.com/asia/south-asia/indias-serum-institute-a-look-inside-the-worlds-biggest-covid-19-vaccine-factory

https://www.npr.org/sections/goatsandsoda/2021/03/18/978065736/indias-role-in-covid-19-vaccine-production-is-getting-even-bigger

https://en.wikipedia.org/wiki/Serum_Institute_of_India