นาคในพม่า ตำนานที่มีตัวตน

“นาค” เป็นสัตว์ที่มีอยู่ในตำนานของพระพุทธศาสนา และผูกพันกับคนไทย ลาว และเขมรหรือเราเรียกว่าผู้คนลุ่มน้ำโขงมาช้านาน ในฐานะสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้พิทักษ์ศาสนสถานและโบราณสถานต่าง ๆ แต่ต้นกำเนิดของคำว่านาคนั้นห่างไทย ลาว และเขมรมาก ลึกเข้าไปในดินแดนที่เป็นพรมแดนอินเดียและเมียนมาร์ในปัจจุบัน และพวกเขายังมีตัวตนอยู่ พวกเขาคือ “เหล่านาคา”

เผ่านาคา หรือนากา เป็นชนเผ่าโบราณเชื่อว่ามีมาก่อนสมัยพุทธกาลอาศัยอยู่บริเวณรัฐมณีปุระ (Manipur) รัฐอรัณาจัล ประเทศ (Arunachal Pradesh) และรัฐอัสสัม (Assam) ในอินเดีย จวบจนถึงรัฐสะกาย (Sagaing) และรัฐคะฉิ่น (Kachin) ในเมียนมาร์แต่สถานที่ที่มีชาวนาคาอยู่มากที่สุดคือ นากานาคาแลนด์ได้รับการจัดตั้ง ขึ้นเป็นรัฐที่ 16 ของประเทศอินเดียในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2506

โดยแบ่งการปกครองภายในออกเป็น 11 เขต อันได้แก่ Kohima (เมืองหลวง), Phek, Mokokchung, Wokha, Zunheboto, Tuensang, Mon, Dimapur, Kiphire, Longleng และ Peren สภาพภูมิประเทศของนากาแลนด์ส่วนใหญ่มีพื้นที่เป็นภูเขา โดยมีเทือกเขา Naga Hills เป็นเทือกเขาขนาดใหญ่ตั้งอยู่ทิศตะวันออกเฉียง ใต้ของรัฐนาคาแลนด์ มีจุดที่สูงที่สุด คือ ภูเขาสรามาติ (Mount Saramati) ซึ่งมีความสูง 3,826 เมตร อีกทั้งเทือกเขานากา นี้ยังเชื่อมต่อกับทิวเขา Patkai ของประเทศเมียนม่าร์อีกด้วย เผ่านาคาไม่ใช่ชนเผ่าศักดิ์สิทธิ์แต่อย่างใด เพียงแต่เป็นชาติพันธุ์หนึ่งที่มีวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง

เผ่านากาก็เฉกเช่นชนกลุ่มน้อยทั่วไปซึ่งมีหลายกลุ่ม โดยจะแบ่งเผ่านากาใหญ่ ๆ ในเมียนมาร์ได้เป็น 8 กลุ่มแยกตามภาษาที่สื่อสารคือ Konyak, Lainong, Makury, Nokko, Para, Somra Tangkhul, Tangshang, Anal Naga นอกจาก 8 กลุ่มนี้แล้วยังมีกลุ่มย่อย ๆ อีกมากมาย ส่วนชาวนากาในอินเดียนั้นประกอบไปด้วยประชากรที่เป็น ชนเผ่า หลัก 16 เผ่า และ เผ่าย่อย ๆ อีกมากมาย ภาษา ท้องถิ่นที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างชาวนากาแลนด์จึงมีมากถึง 60 ภาษา ทั้งหมดอยู่ในตระกูลภาษา Tibeto – Burman ดังนั้นการสื่อสารระหว่างเผ่า และ ภาษาราชการในนากาแลนด์จึงใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักในการสื่อสาร

สาเหตุว่าทำไมคนในอดีตถึงเรียกเผ่านี้ว่าเผ่านากา มีปรากฎในงานเขียนของจิตร ภูมิศักดิ์ กล่าวไว้ในความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2519 อธิบายความหมายของคำว่า “นากา” หรือ “นาค” ไว้ดังนี้ คือ ‘ชาวอารยันยุคโบราณ สมัยที่ยังไม่เกิดเป็นรัฐประชาชาตินั้น มีการเหยียดหยามดูถูกพวกนาคมาก ถือเป็นพวกลักขะพวกหนึ่ง และคำเรียกชื่อชนชาติก็กล่าวกันว่ามาจากภาษาอัสสัม ซึ่งเขียน naga แต่อ่านออกเสียงเป็น นอค (noga) แปลว่า เปลือย แก้ผ้า บ้างก็มาจากภาษาฮินดูสตานีว่า นัค (nag) แปลว่า คนชาวเขา ในขณะที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ กล่าวไว้ในนาคในประวัติศาสตร์อุษาอาคเนย์ ตีพิมพ์โดยมติชน เมื่อปี พ.ศ. 2546 สรุปความว่า สังคมอินเดียเมื่อสมัยพุทธกาลมีการเหยียดหยามคนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยที่มีอารยธรรมด้อยกว่าตน เหยียดลงให้เป็นผี เป็นสัตว์ เป็นยักษ์ ไม่อาจเทียบชั้นกับพวกตนที่เป็นมนุษย์ได้ โดยเฉพาะการไม่ยอมรับชนเผ่านาคหรือนาคาว่าเป็นมนุษย์ แม้จะพูดคุยภาษามนุษย์ด้วยกันรู้เรื่อง โดยมองพวกเขาเป็นเพียงสัตว์อย่างลิงค่างบ่างชะนีป่าเถื่อน จึงไม่ยอมรับให้ชนเผ่านาคหรือนาคาเข้าอุปสมบทในพุทธศาสนา

เป็นความเชื่อกันว่า คำว่า “นากา” หรือ “นาค” เป็นคำในภาษาอินเดียซึ่งใช้เรียกชนกลุ่มน้อยของตนที่ถูกมองว่ามีอารยธรรมต่ำต้อยกว่าในเชิงดูถูก ในขณะที่บางท่านเชื่อว่า คำว่า “นากา หรือ นาค” นี้ ชาวอินเดียหมายถึงผู้คนในแถบอุษาคเนย์ทั้งหลายด้วย เป็นลักษณะของพวกคนเถื่อนไม่นุ่งผ้าไร้อารยธรรมนั่นเอง แต่ก็ได้หลักฐานทางวิชาการอีกฝ่ายกล่าวว่า คำว่า “นากา” (Naga) เป็นคำที่มาจากคำว่า “Naka” ในภาษาพม่า แปลว่า “ผู้ที่เจาะจมูก”… ก็เพราะชาวนาคาในอดีตเจาะจมูกห้อยห่วงไว้ตามขนบประเพณีของพวกเขานั่นเอง

แต่หากมองจากอีกมุมจะเห็นว่าเผ่านากา หรือ นาคนั้นเป็นชนเผ่าที่มีการรักษาเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของตนไว้ได้อย่างเหนียวแน่นผ่านกาลเวลาและภูมิประเทศแม้จะถูกแบ่งออกเป็น 2 แผ่นดินแต่มิอาจแบ่งแยกวัฒนธรรมของเผ่านากาได้

ปัจจุบันมีพิธี Hornbill Festival ในอินเดียเป็นงานมหกรรมวัฒนธรรมประจำรัฐที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาวนากาแลนด์ จัดขึ้นเป็นประจำระหว่างวันที่ 1 - 7 ธ.ค.ของทุกปี (วันที่ 1 ธ.ค.เป็นวันก่อตั้งรัฐนากาแลนด์) ชื่องานนี้แปลตรงตัวว่า “เทศกาลนกเงือก” ส่วนในเมียนมาร์นั้นมีงานเทศกาลปีใหม่ของชาวนากาที่จัดขึ้นทุกเดือนมกราคมของทุกปีช่วงหลังเก็บเกี่ยว

ในอดีตก่อนที่จะมีนากาแลนด์ชาวนากาคือนักรบผู้ยิ่งใหญ่หลายคนรู้จักพวกเขาในนามนักล่าหัวคนและหลังจากที่อินเดียพยายามผนวกดินแดนนากาแลนด์เป็นส่วนหนึ่งของอินเดียนั้น พวกเขาก็ต่อสู้เพื่อเอกราชของเขามาตลอดจนอินเดียเลือกที่จะทำสนธิสัญญาหยุดยิงและให้มอบนากาแลนด์ให้เป็นเขตพื้นที่ปกครองตนเองเช่นเดียวกับฝั่งเมียนมาร์ที่มอบพื้นที่ให้เป็นเขตปกครองตนเองนากาเช่นกัน


ขอบคุณข้อมูลจาก

1. เพจศิลปะวัฒธรรมเวปไซต์วิกิพีเดีย

2. เวปไซต์วิกิพีเดีย

3. เวปไซต์สถานทูตไทยในกรุงเดลฮี