คิดถึง “Dilwara” วัดเชนที่งดงามและทรงคุณค่าที่สุดในปฐพี

เพราะเจ้าโควิดนี่เองที่ทำให้ผู้คนไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศกันได้เกินกว่า 1 ปีแล้ว ทั้ง ๆ ที่ผมตั้งใจไว้ตั้งแต่ก่อนเกษียณอายุราชการว่า หลังเกษียณจะทำสามสิ่งคือ “นอนตื่นสาย บ่ายเดินห้าง ว่าง ๆ ไปต่างประเทศ” แต่เอาเข้าจริงก็ทำไม่ได้เลยสักอย่าง ส่วนหนึ่งก็เพราะเจ้าโควิดนี่เอง โดยในสามสิ่งที่อยากทำและเสียดายมากที่สุดก็คือการเดินทางท่องเที่ยวไปในต่างประเทศที่เล็งไว้หลายที่

มีเพื่อนฝูงถามไถ่มาหลายคนว่าถ้าหมดโควิด (ซึ่งก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะอีกนานแค่ไหน) จะไปเที่ยวประเทศไหนเป็นประเทศแรก ผมก็ตอบได้ทันทีแบบไม่ต้องคิดเลยว่า “อินเดีย” เพราะเคยประจำการอยู่ที่เมืองมุมไบหลายปีและได้หลงเสน่ห์อินเดียแบบถอนตัวไม่ขึ้นไปแล้ว โดยสถานที่แรกในอินเดียที่ผมจะต้องไปให้ได้และคิดถึงอยู่ตลอดก็คือ Dilwara วัดเชนที่แสนจะงดงามบนภูเขาที่ชื่อว่า Mount Abu ในรัฐราชสถานนั่นเอง

แต่ก่อนที่ผมจะพาทุกท่านไปพบกับความงดงามของ Dilwara ผมขออนุญาตเกริ่นนำให้รู้จักกับ “ศาสนาเชน” (ที่อินเดียจะออกเสียงเป็น “เจน”) ซึ่งเป็นที่มาของ “วัดเชน” เสียก่อนด้วยข้อมูลเบื้องต้นจาก Wikipedia โดยศาสนาเชน (Jainism) มาจากคำว่า “ไชนะ” หรือ “ชินะ” ในภาษาสันสกฤตซึ่งแปลว่า “ผู้ชนะ” และสามารถลุยข้ามสายน้ำแห่งการเวียนว่ายตายเกิดได้ เป็นศาสนาเก่าแก่ของอินเดีย เป็นหนึ่งในลัทธิสำคัญทั้งหกที่เกิดร่วมสมัยกับพระโคตมพุทธเจ้าหรือพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน โดยในศาสนาเชนเชื่อว่ามีศาสดาที่เรียกว่า “ตีรถังกร” อยู่ด้วยกัน 24 องค์ในจักรวาลปัจจุบัน องค์แรกคือ พระอาทินาถ และองค์สุดท้ายก็คือ พระมหาวีระหรือพระมหาวีร์ โดยตีรถังกรคือบุคคลผู้บรรลุเกวลญานหรือเป็นสัพพัญญู และเผยแผ่ธรรมะนั้น โดยในบรรดาตีรถังกรทั้ง 24 องค์นั้น ที่ได้รับการเคารพบูชาสูงสุดมีอยู่สี่องค์คือ พระอาทินาถ พระเนมินาถ พระปารศนาถ และพระมหาวีระหรือมหาวีร์ซึ่งเป็นองค์สุดท้ายมีชีวิตอยู่ราว 500 ปีก่อนคริสตกาล

โดยศาสนิกชนในศาสนาเชนที่เคร่งจะถือปฏิญญา 5 ประการ คือ อหิงสา (ความไม่รุนแรง) สัตยะ (ความจริง) อสตียะ (ไม่ลักขโมย) พรหมจรรย์ (การถือพรหมจรรย์) และอปริเคราะห์ (ความไม่ยึดติด) ซึ่งหลักการเหล่านี้นำไปสู่วัฒนธรรมเชนที่มีลักษณะเฉพาะหลายประการโดยเฉพาะการรับประทานอาหารมังสวิรัติที่เข้มงวดมากเพื่อป้องกันการทำลายสัตว์ต่าง ๆ และรบกวนวงจรชีวิตของมัน เพราะฉะนั้นศาสนิกชนในศาสนาเชนจะไม่รับประทานเนื้อสัตว์ ไข่ และส่วนของพืชที่มาจากใต้ดินเนื่องจากการขุดดินลงไปอาจไปทำลายสัตว์เล็ก ๆ รวมทั้งแมลงหรือไข่ของแมลงที่อยู่ใต้ดินได้ โดยศาสนาเชนมีคติพจน์ว่า “ปรัสปโรปัครโห ชีวานาม” อันแปลว่า “หน้าที่ของสิ่งมีชีวิตหนึ่งคือการช่วยเหลือกัน” เพราะฉะนั้นนักบวชในศาสนาเชนจึงไม่สามารถนั่งยานพาหนะใด ๆ ได้เพราะการเดินทางโดยยานพาหนะอาจจะไปทำลายสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ระหว่างการเดินทางโดยไม่ตั้งใจ ก็เลยทำให้การเผยแพร่ศาสนาเชนเป็นไปได้ยาก

ทั้งนี้ ศาสนาเชนหลัก ๆ แล้วจะแบ่งออกเป็นสองนิกาย ได้แก่ นิกายทิฆัมพร (นักบวชจะนุ่งลมห่มฟ้าเป็นชีเปลือย) กับนิกายเศวตัมพร (นักบวชจะนุ่งห่มด้วยผ้าสีขาว) และยังมีสาขาย่อยแตกออกไปอีกมากมาย ในปัจจุบันศาสนาเชนมีศาสนิกชนทั่วโลกแค่ประมาณ 4 - 5 ล้านคน โดยส่วนมากอยู่ในประเทศอินเดียแต่ก็มีสัดส่วนอยู่แค่เพียง 0.4% ของจำนวนประชากรทั้งหมดของอินเดียเท่านั้น นอกจากนี้ ส่วนน้อยนอกอินเดียก็จะอยู่ที่แคนาดา ยุโรป เคนยา สหราชอาณาจักร ฮ่องกง ฟิจิ และสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจำนวนศาสนิกชนในศาสนาเชนจะมีจำนวนน้อยมาก แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นคนรวยมีฐานะทางเศรษฐกิจดีเนื่องจากไม่สามารถประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรได้ เพราะการขุดดินหรือการไถพรวนดินจะทำให้สิ่งมีชีวิตในดินถูกทำลายลงซึ่งขัดกับคำสอนของศาสนา เพราะฉะนั้น ศาสนิกชนในศาสนาเชนส่วนใหญ่จึงเป็นนักการค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นพ่อค้าเพชรซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในรัฐคุชราตและในเมืองมุมไบในรัฐมหาราษฎร์ของอินเดีย และนั่นก็คือสาเหตุสำคัญที่วัดเชนทุกวัดจะถูกสร้างขึ้นมาอย่างสวยงามเพราะมีสปอนเซอร์ดีนั่นเอง

สำหรับ Dilwara Temples เป็นหมู่ศาสนสถานของศาสนาเชนที่ถูกสร้างขึ้นมาอยู่ในบริเวณเดียวกันจำนวน 5 วัดหรือ 5 มณเฑียร บางครั้งก็เขียนเป็น Delwara ตามการออกเสียง ตั้งอยู่บนภูเขาที่ชื่อว่า Mount Abu บนระดับความสูงประมาณ 1,219 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ในรัฐราชสถาน โดยหมู่มณเฑียรทั้งห้านี้ตั้งอยู่รวมกันภายในกำแพงสูงหนึ่งเดียวท่ามกลางขุนเขาที่ปกคลุมไปด้วยป่าไม้ แต่ละแห่งมีเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมของตน โดยชื่อ Dilwara ก็มาจากชื่อของหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่หมู่มณเทียรนี้ตั้งอยู่ ซึ่งหมู่มณเทียรทั้งห้าแห่งนั้นประกอบด้วย

- วัดพระศรีอาทินาถหรือวัดวิมลวาซาฮี (Vimal Vasahi) สร้างขึ้นเพื่อบูชาตีรถังกรหรือพระศาสดาองค์แรกหรือพระศรีอาทินาถ

- วัดพระศรีเนมินาถหรือวัดลูนาวาซาฮี (Luna Vasahi) สร้างขึ้นเพื่อบูชาตีรถังกรองค์ที่ 22 ซึ่งก็คือ พระศรีเนมินาถ

- วัดปิตตัลหาร์ (Pittalhar) สร้างขึ้นเพื่อบูชาตีรถังกรองค์แรก พระศรีอาทินาถ

- วัดพระศรีปรศวนาถ (Parshvanath) สร้างขึ้นเพื่อบูชาตีรถังกรองค์ที่ 23 หรือพระศรีปารศนาถ

- วัดพระศรีมหาวีระสวามี (Mahavir Swami) สร้างขึ้นเพื่อบูชาตีรถังกรองค์ที่ 24 ซึ่งเป็นองค์สุดท้ายคือ พระศรีมหาวีระหรือพระศรีมหาวีร์

แต่ว่าทั้ง 5 มณเฑียรของ Dilwara ปรากฏว่ามีเพียง 2 มณเฑียรเท่านั้นที่เสร็จสมบูรณ์ คือ วัดวิมลวาซาฮีกับวัดลูนาวาซาฮี ส่วนที่เหลืออีก 3 มณเฑียรสร้างไม่เสร็จ แต่แค่ 2 มณเฑียรที่สร้างเสร็จก็งดงามวิจิตรพิศดารด้วยงานแกะสลักหินอ่อนที่ละเอียดอ่อนช้อยและตระการตา ยากจะหาที่อื่นใดในโลกนี้มาเทียบได้ โดยทั้ง 5 มณเฑียรล้วนแต่สร้างขึ้นมาด้วยหินอ่อนทั้งสิ้น และเป็นหินอ่อนชั้นเยี่ยมที่มาจากเมืองมกรานา (Makrana) ในรัฐราชาสถาน แหล่งเดียวกับหินอ่อนที่ใช้ในการสร้างทัชมาฮาล ซึ่งถือเป็นแหล่งหินอ่อนคุณภาพสูงที่มีชื่อเสียงที่สุดของอินเดียโดยใช้ช้างในการขนส่งขึ้นภูเขามาสร้าง Dilwara แห่งนี้

โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่า Dilwara เป็นสถาปัตยกรรมที่งดงามที่สุดเหนือกว่าสิ่งก่อสร้างไหน ๆ ในอินเดีย ครั้งแรกที่เดินทางไปถึงด้านหน้าของวัด Dilwara ก็รู้สึกแปลกใจเป็นอย่างมากเพราะดูแล้วไม่มีอะไรจนแอบหวั่นใจว่าจะโดนหลอก เพราะมองไปก็เห็นเหมือนสิ่งก่อสร้างทั่วไปที่สร้างด้วยปูนซีเมนต์ แต่พอเดินเข้าไปในวัดเท่านั้นแหละ ก็รู้สึกตื่นตาตื่นใจกับงานแกะสลักหินอ่อนที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อนและหลงรัก Dilwara มาตั้งแต่บัดนั้น และทุกครั้งที่มีเวลาว่างก็จะเดินทางไปเยือนสถานที่แห่งนี้เสมอ นับถึงปัจจุบันก็มากกว่า 10 ครั้งแล้วและก็จะยังกลับไปเยือนอีกถ้ามีโอกาส

สำหรับมณเฑียรที่โดดเด่นและสร้างเสร็จสมบูรณ์มีอยู่ 2 มณเฑียรคือ วัดพระศรีอาทินาถหรือวัดวิมลวาซาฮี (Shri Adinath Temple หรือ Vimal Vasahi Temple) กับวัดพระศรีเนมินาถหรือลูนาวาซาฮี (Shri Neminath Temple หรือ Luna Vasahi) โดยเราจะใช้เวลาเกือบทั้งหมดในการชมสองมณเฑียรนี้ ซึ่งตามปกติจะเปิดให้เข้าชมได้ทุกวันระหว่างเวลา 12.00 - 18.00 น. โดยไม่ต้องเสียค่าเข้าชม สาเหตุที่เปิดให้เข้าชมเฉพาะช่วงบ่ายก็เพราะว่าในช่วงเช้าศาสนิกชนที่นับถือศาสนาเชนจะเข้าไปสวดมนต์ตามปกติ ทางวัดก็เลยไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชมได้

ในส่วนของวัดพระศรีอาทินาถหรือวัดวิมลวาซาฮี สร้างขึ้นโดยวิมล ชาห์ (Vimal Shah) รัฐมนตรีและผู้บัญชาการกองทัพบกของ Bima Dev I เจ้าผู้ครองแห่งราชวงศ์โซลังกี ออกแบบโดย วัสตุปาล (Vastupala) สร้างขึ้นในปี 1032 และมีชื่อเสียงด้วยงานหินอ่อนและงานแกะะสลักหินอ่อนอันประณีต ที่นี่เป็นสถานที่แสวงบุญสำคัญหนึ่งของศาสนาเชน และได้รับการเชิดชูว่าเป็นวัดเชนหรือมณเทียรที่ออกแบบมาได้สวยงามที่สุด โดยมีทางเข้าที่หรูหรา ส่วนตัวอาคารนั้นสร้างขึ้นอย่างเรียบง่าย อันสะท้อนถึงคุณค่าของศาสนาเชนในความซื่อสัตย์และความประหยัด รายละเอียดของการแกะสลักตกแต่งไชนมนเทียรเหล่านี้มีความตระการตามาก เชื่อกันว่าช่างแกะสลักที่นี่ได้รับค่าว่าจ้างเป็นทองเท่ากับน้ำหนักของผงหินอ่อนที่เขาแกะสลัก วัดนี้เป็นวัดเชนที่เก่าแก่ที่สุดในบรรดาวัดเชนทั้ง 5 วัดใน Dilwara มีอายุประมาณ 1,000 ปี ภายในวัดประกอบไปด้วยโดมหลายโดมที่มีการแกะสลักเป็นรูปเทพที่สวยงามสมส่วนทั้งองค์เล็กองค์น้อยจำนวนมาก และทั้งวัดล้อมรอบด้วยพระระเบียงที่มีการแกะสลักหินอ่อนที่เสาและเพดานที่มีการแบ่งพื้นที่เป็นสี่เหลี่ยมจตุรัสจำนวนมากล้อมรอบวัด

อีกวัดหนึ่งคือ วัดพระศรีเนมินาถหรือวัดลูนาวาซาฮี (Luna Vasahi) สร้างขึ้นเพื่อบูชาตีรถังกรองค์ที่ 22 ซึ่งก็คือ พระศรีเนมินาถ วัดอันงดงามแห่งนี้สร้างขึ้นในปี 1230 โดยพี่น้อง Porwad สองคนคือ Vastupal และ Tejpal รัฐมนตรีทั้งสองของ Virdhaval ผู้ปกครอง Vaghela ของแคว้นคุชราต เพื่อรำลึกถึง Lunig พี่ชายผู้ล่วงลับไปแล้ว วิหารมีโครงสร้างคล้ายกับวัดวิมาลวาซาฮี แต่ความมีชีวิตชีวาของการแกะสลักภายในนั้นยิ่งใหญ่กว่า ห้องโถงใหญ่มีโดมตรงกลางซึ่งมีการแกะสลักอย่างประณีต มีรูปสลักของติรถังกรจำนวน 72 รูปอยู่ในท่านั่งและด้านล่างของวงนี้คือรูปสลักพระเชนขนาดเล็ก 360 รูปในอีกวงหนึ่งล้อมรอบรูปสลักของติรถังกร แต่จุดเด่นของวัดนี้จะอยู่ที่รูปแกะสลักซึ่งส่วนใหญ่จะแกะเป็นช่อดอกไม้ห้อยย้อยมาจากเพดานจำนวนมาก ดูเหมือนโคมไฟแชนเดอเลียร์ที่สวยงาม แต่เป็นฝีมือการแกะสลักหินอ่อนที่ละเอียดงดงามยากที่งานแกะสลักหินอ่อนที่ใดในโลกจะสามารถเทียบได้

ยิ่งเขียนยิ่งคิดถึง Dilwara ตอนนี้ก็แค่รอว่าโควิดหมดไปเมื่อไหร่ Dilwara จะเป็นสถานที่แห่งแรกในต่างประเทศที่ผมจะรีบเดินทางไปเยือนทันที