ก้าวแรกกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ

ปี 2564 นี้เป็นปีที่ประเทศไทยของเราจะเข้าสู่ “สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society)” คือมีประชากร “ผู้สูงอายุ” หรือคนที่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เกินกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ แต่ประเทศไทยของเรายังขาดความพร้อมอีกหลายด้านในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุนี้ เช่น การขาดแคลนแรงงานในบางสาขาอาชีพ ระบบสาธารณูปโภคที่รองรับผู้สูงวัย รัฐสวัสดิการของผู้สูงอายุ เป็นต้น

ปัญหาใหญ่เรื่องหนึ่งที่เราพูดกันมานาน แต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ก็คือ เงินที่จะใช้ในการดำรงชีพของผู้สูงวัยที่เกษียณจากการทำงาน ที่มีแนวโน้มว่าผู้สูงอายุหลายคนจะมีเงินไม่พอใช้ไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

หลายครอบครัวจึงส่งเสริมให้ลูกหลานไปสอบบรรจุเป็นข้าราชการ เพราะแม้ว่าเงินเดือนจะไม่มาก แต่มีความมั่นคงในอาชีพสูง และที่สำคัญ คือ เมื่อเกษียณอายุ รัฐก็เลี้ยงดูโดยการจ่ายเงินบำนาญให้จนกว่าจะลาโลกนี้ไป

ต่างจากการทำงานเป็นลูกจ้างของบริษัทเอกชน ที่มีเพียงเงินบำนาญหลังเกษียณจาก “กองทุนประกันสังคม” เพียงไม่กี่พันบาทต่อเดือนเท่านั้น ซึ่งดูแล้วไม่น่าจะเพียงพอต่อค่าครองชีพในอนาคตแน่นอน

ถ้าบริษัทไหนที่มีสวัสดิการดีหน่อย นายจ้างก็อาจจะมีการจัดตั้ง “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” ทำให้ลูกจ้างมีโอกาสได้รับเงินก้อนหลังจากเกษียณมาจำนวนหนึ่งด้วย

โดยเจ้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้เกิดจากการหักเงินเดือนของลูกจ้างส่วนหนึ่งมาจ่ายสะสมเข้าไปในกองทุน และนายจ้างก็จะจ่ายเงินสมทบให้กับลูกจ้างในทุกเดือน ๆ ด้วย หลังจากนั้นผู้จัดการกองทุนก็จะนำเงินเหล่านั้นไปลงทุนเพื่อให้เงินในกองทุนนั้นงอกเงยขึ้นมา และเมื่อถึงวันที่ลูกจ้างเกษียณ ก็จะได้รับเงินคืนทั้งส่วนที่หักจากเงินเดือนของเรา ทั้งในส่วนของเงินที่นายจ้างจ่ายสมทบให้ และในส่วนของดอกผลที่ได้รับมาจากการลงทุนด้วย

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกบริษัทจะมีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพราะกฎหมายปัจจุบัน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นภาคสมัครใจ คือ นายจ้างรายใดสมัครใจตั้ง ก็ตั้งได้ รายใดไม่อยากตั้ง ก็ไม่ต้องตั้ง ดังนั้น ไม่ใช่ลูกจ้างทุกรายในภาคเอกชนที่จะได้รับเงินบำเหน็จหลังเกษียณจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ยังมีลูกจ้างในภาคเอกชนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้รับสวัสดิการแบบนี้

ทำให้มีเสียงเรียกร้องและพูดคุยกันมาหลายปีแล้วถึง “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ” โดยหวังว่าลูกจ้างในภาคเอกชนทุกรายจะมีเงินใช้อย่างเพียงพอภายหลังการเกษียณ ไม่ว่าจะเลือกรับไปในรูปแบบของเงินบำเหน็จ หรือเงินบำนาญ

ล่าสุดคณะรัฐมนตรีก็ได้มติเห็นชอบ (ร่าง) พ.ร.บ. กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) แล้ว เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมานี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากฎหมายฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับทันที เพราะยังต้องผ่านกระบวนการของสภาผู้แทนราษฎรอีกยาวไกล กว่าจะประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายได้

แต่อย่างน้อย ก็ถือว่าเราได้เริ่มต้นนับหนึ่งแบบเป็นทางการแล้วสำหรับ “กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ”

ทั้งนี้ ร่างกฎหมาย กบช. นี้มีหลักการสำคัญที่จะนำไปใช้ในการพิจารณาร่างเป็นกฎหมายต่อไป ดังนี้

1.) กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาตินี้ จะถือเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ โดยลูกจ้างในภาคเอกชนทุกรายที่มีอายุตั้งแต่ 15 – 60 ปี และนายจ้างไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ จะถูกบังคับให้เข้ามาเป็นสมาชิกของ กบช. ทุกราย แต่ถ้านายจ้างที่ใดมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้ว ลูกจ้างก็จะเป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงของนายจ้างได้ต่อไปตามปกติ

2.) ลูกจ้างที่เข้ามาเป็นสมาชิก กบช. แล้ว จะถูกหักเงินจากเงินเดือนส่งเข้ากองทุนในอัตราดังนี้

- ทำงานปีที่ 1 – 3 จะถูกหักเงินสะสมไม่น้อยกว่า 3% ของค่าจ้าง เช่น เราได้เงินเดือน 20,000 บาท ก็จะถูกหักเงินเดือน 20,000 x 3% = 600 บาท ส่งเข้ากองทุน

- ทำงานปีที่ 4 – 6 จะถูกหักเงินสะสมไม่น้อยกว่า 5% ของค่าจ้าง เช่น เราได้เงินเดือน 20,000 บาท ก็จะถูกหักเงินเดือน 20,000 x 5% = 1,000 บาท ส่งเข้ากองทุน

 - ทำงานปีที่ 7 - 9 จะถูกหักเงินสะสมไม่น้อยกว่า 7% ของค่าจ้าง เช่น เราได้เงินเดือน 20,000 บาท ก็จะถูกหักเงินเดือน 20,000 x 7% = 1,400 บาท ส่งเข้ากองทุน

- ทำงานปีที่ 10 เป็นต้นไป จะถูกหักเงินสะสมไม่น้อยกว่า 10% ของค่าจ้าง เช่น เราได้เงินเดือน 20,000 บาท ก็จะถูกหักเงินเดือน 20,000 x 10% = 2,000 บาท ส่งเข้ากองทุน

3.) เมื่อลูกจ้างจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนแล้ว ฝ่ายนายจ้างจะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนด้วยเช่นกัน เช่น เราเป็นลูกจ้าง ถูกหักเงินเดือน 600 บาทเข้ากองทุนนี้ นายจ้างที่จ่ายเงินเดือนให้เราก็จะถูกบังคับให้จ่ายเงิน 600 บาทไปออมเพิ่มให้เราด้วย หมายความว่าเราโดนหักเงินแค่ 600 บาท แต่เราได้เงินออมในกองทุนถึง 1,200 บาทเลยทีเดียว

4.) อย่างไรก็ตาม ลูกจ้างที่มีเงินเดือนน้อยกว่า 10,000 บาท จะได้รับการยกเว้น โดยเข้าเป็นสมาชิก กบช. แต่ไม่ต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนแต่อย่างใด แต่ฝ่ายนายจ้างจะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนนี้แทน เช่น เราเริ่มทำงานปีแรกได้เงินเดือน 8,000 บาท ความจริงควรจะถูกหัก 3% เข้ากองทุน แต่กฎหมายฉบับนี้ยกเว้นให้ แต่ในส่วนของนายจ้างไม่ได้รับการยกเว้น ก็ยังคงต้องจ่ายเงินสมทบ 8,000 x 3% = 240 บาท เข้าไปเป็นเงินออมให้เรา

5.) เงินค่าจ้างที่จะถูกนำมาคำนวณเพื่อหักเข้ากองทุนสูงสุดนั้นจะอยู่ที่อัตรา 60,000 บาท เช่น ลูกจ้างทำงานมาแล้ว 20 ปี มีเงินเดือน 100,000 บาท โดยหลักแล้วจะต้องถูกหักเงิน 10% เข้ากองทุน เพราะอายุงานเกินกว่า 10 ปี แต่ในการนำเงินส่งเข้ากองทุน ลูกจ้างรายนี้จะถูกหักเงินเพื่อนำส่งเข้ากองทุนเพียง 60,000 x 10% = 6,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น

6.) เงินสะสมของลูกจ้าง และเงินสมทบของนายจ้างที่ถูกส่งเข้าไปในกองทุนนี้ กบช. จะนำไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาวให้กับลูกจ้าง เมื่อลูกจ้างอายุครบ 60 ปี ก็จะได้รับเงินคืน โดยสามารถเลือกได้ 2 รูปแบบ คือ รับเป็นเงินบำเหน็จก้อนเดียว หรือ รับเป็นเงินบำนาญรายเดือนไป 20 ปี

จะเห็นได้ว่า กบช. นี้จะเป็นการบังคับลูกจ้างในภาคเอกชนให้ออมเงินเพื่อการเกษียณ และเมื่อเกษียณแล้วลูกจ้างก็จะสามารถเลือกรับเงินบำเหน็จ หรือ บำนาญก็ได้ โดยรัฐบาลหวังว่าเงินออมเหล่านี้จะช่วยให้ลูกจ้างมีเงินเพื่อการดำรงชีพต่อไปได้ภายหลังการเกษียณ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมากครับ

แม้ว่าหลักการของกฎหมายฉบับนี้จะออกมาดูดีมีประโยชน์ แต่ยังมีเรื่องที่รัฐบาลจะต้องไปทำการบ้านต่ออีกมาก เพราะ ปัจจุบันบ้านเรามีกองทุนเพื่อการออมหรือเพื่อการเกษียณจำนวนมาก เช่น กองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนเงินออมแห่งชาติ (กบช.) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ซึ่งบางกองทุนเป็นแบบสมัครใจ บางกองทุนก็เป็นแบบบังคับ ทำให้มีความซ้ำซ้อนอยู่มาก

ยกตัวอย่างเช่น ลูกจ้างที่ทำงานในบริษัทที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้ว เมื่อลาออกแล้วย้ายไปทำงานบริษัทใหม่ ปรากฏว่าบริษัทนั้นไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลูกจ้างรายนั้นก็จะถูกบังคับให้เข้าไปเป็นสมาชิก กบช. แล้วแบบนี้จะมีการโอนย้ายเงินและนับอายุกันต่อไปอย่างไร

หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลูกจ้างสามารถขอรับคืนทั้งก้อนได้ตอนสิ้นสุดสัญญาจ้าง แต่กองทุน กบช. ลูกจ้างจะมีสิทธิได้เงินตอนอายุ 60 ปีเท่านั้น ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในทางปฏิบัติของสมาชิกกองทุนทั้งสอง รัฐบาลก็จะต้องออกกฎหมายมาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ด้วย

รวมทั้งระบบข้อมูลสมาชิกกองทุนต่าง ๆ ที่จะต้องบูรณาการเข้ามาไว้ด้วยกัน เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการออมข้ามไปมาระหว่างกองทุน

ดังนั้น กฎหมายฉบับนี้รัฐบาลและภาคเอกชนจะต้องร่วมกันศึกษาและเตรียมการกันอีกปีสองปีกว่าจะออกมาใช้บังคับได้จริง แต่ถึงอย่างไร การที่ร่างกฎหมาย กบช. นี้ผ่าน ครม. ออกมาได้แล้ว ก็ถือเราได้ออกเดินก้าวแรกแล้ว แต่ไม่ว่าหนทางจะยาวไกลสักเพียงใดถึงจะถึงจุดหมาย มันก็ต้องเริ่มต้นที่ก้าวแรกเสมอ ดังสุภาษิตจีนที่ว่า “หนทางหมื่นลี้ เริ่มต้นที่ก้าวแรก”