สะเทือนถึงดวงดาว !! รู้จัก XPCC บริษัทจีนผู้ปั้นความเจริญสู่ถิ่นทุรกันดาร กับข้อครหา ฆ่าล้าง ‘ชาวอุยกูร์’ ที่สะเทือนภาพลักษณ์จีน

หากพูดถึงบริษัท Xinjiang Production and Construction Corps หรือ XPCC หลายคนอาจไม่คุ้นหู และคิดว่าเป็นบริษัทก่อสร้าง หรือผลิตสินค้าอะไรสักอย่าง แต่คิดว่าหลายคนคงเคยเห็นข่าวเกี่ยวกับ ‘ค่ายปรับทัศนคติ’ หรือ ‘ศูนย์ฝึกอบรมอาชีพ’ ชาวซินเจียง อุยกูร์ ที่กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนแรงในโลก ที่เชื่อว่าค่ายเหล่านี้ไม่ต่างจากสถานกักกัน และจีนถูกมองว่ากำลังละเมิดสิทธิมนุษยชน จนถึงระดับ ‘ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ ชาวอุยกูร์ 


โดยบริษัท Xinjiang Production and Construction Corps หรือ XPCC ถูกนำไปเชื่อมโยงกับค่ายวิชาชีพของชาวอุยกูร์ จนนำไปสู่การคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ โดยอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมพ์ ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2020 ที่สั่งห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์จากฝ้ายที่ผลิตจากบริษัท XPCC เพราะเชื่อว่ามีการใช้แรงงานชาวอุยกูร์อย่างผิดหลักจริยธรรมด้านสิทธิมนุษยชน 


และล่าสุดในเดือนมีนาคม 2021 ชาติพันธมิตรตะวันตก อย่างสหรัฐ, แคนาดา, อังกฤษ และหลายประเทศในสหภาพยุโรป ก็ตัดสินใจคว่ำบาตรบริษัท XPCC รวมถึงแบนเจ้าหน้าที่ระดับสูงของบริษัท ไม่ให้เข้าประเทศ พร้อมยึดบัญชีทรัพย์สินที่ฝากไว้ในประเทศเหล่านั้นด้วย


ทั้งนี้ หากลองมาดูโครงสร้างของบริษัท XPCC แล้ว ก็จะพบว่าไม่ใช่บริษัทเล็ก ๆ เลย เฉพาะผลิตภัณฑ์ฝ้ายจากบริษัท มีมากถึง 30% ของฝ้ายที่ผลิตได้ในจีนทั้งหมด ที่สร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 17% ของ GDP ในเขตปกครองซินเจียง มีหน่วยงานในสังกัดถึง 14 หน่วย มีหนังสือพิมพ์เป็นของตัวเอง มีมหาวิทยาลัย 2 แห่ง และมีสมาชิกในสังกัดมากกว่า 2 ล้านคน

แล้วที่มาของบริษัทแห่งนี้ มีต้นกำเนิดจากไหน ? วันนี้เรามาทำความรู้จักกับบริษัท Xinjiang Production and Construction Corps กันดีกว่า

จุดเริ่มต้นของบริษัท นี้ ย้อนไกลถึงสมัย ‘เหมา เจ๋อตุง’ ในปี 1954 ที่ต้องการพัฒนาพื้นที่ในเขตซินเจียง ที่เหมา เจ๋อตุง มองว่าอยู่ไกลปืนเที่ยง มีชาวจีนฮั่นอยู่อย่างเบาบางมากเกินไปหากเทียบกับประชากรมุสลิมอุยกูร์ในท้องที่ ซึ่งในช่วงเวลานั้น เขตซินเจียง มีชาวอุยกูร์อาศัยอยู่ถึง 75% แต่มีชาวจีนฮั่นเพียง 7% เท่านั้น พื้นที่ส่วนใหญ่ยังแห้งแล้ง กันดาร มีพื้นที่ใช้อยู่อาศัยได้ไม่ถึง 10% 

ด้วยเหตุนี้ เหมา เจ๋อตุง จึงสั่งการให้ หวัง เจิ้ง นายพลคนสนิท นำกองทัพกว่า 175,000 คน ไปประจำการในเขตซินเจียง และได้ก่อตั้งบริษัท Xinjiang Production and Construction Corps ขึ้น 

ที่ต้องใช้กำลังกองทัพตั้งบริษัท เพราะ XPCC ของ เหมา เจ๋อตุง ต้องทำหน้าที่ถึง 2 อย่างคือ พัฒนาผลผลิตการเกษตร และป้องกันดินแดนไปด้วยในคราวเดียวกัน เพราะพื้นที่ในเขตนี้เคยมีประวัติการลุกฮือเพื่อแยกดินแดน และมีการแทรกซึมจากคนภายนอกประเทศ ที่หวังมีอิทธิพลในเขตซินเจียง

เป้าหมายที่ เหมา เจ๋อตุง มองไว้ คือ การยกระดับพื้นที่เกษตรในเขตซินเจียง ที่ยังล้าหลัง สร้างผลผลิตน้อยที่เป็นสาเหตุของความยากจน ให้กลายเป็นเมืองเกษตรอุตสาหกรรมใหม่ ทั้งภาคการเกษตร และการทำเหมืองแร่ เพื่อขยายเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ให้โตขึ้น ที่ต้องทำทั้งหมดนี้ก็เพื่อจูงใจให้ชาวจีนฮั่นอพยพไปอยู่ในเขตซินเจียงมากขึ้น มากพอที่จะทำให้มีชาวจีนฮั่นในสัดส่วนสมดุลกับจำนวนประชากรชาวอุยกูร์ เพื่อความมั่นคงในการปกครอง

และก็ดูท่าจะประสบความสำเร็จเสียด้วย เพราะตั้งแต่เกิดโครงการ XPCC นำร่อง ก็มีชาวจีนฮั่นอพยพไปอยู่ในเขตซินเจียงตอนเหนือมากขึ้นเรื่อย ๆ จนปัจจุบันสัดส่วนประชากรชาวจีนฮั่น กับชาวอุยกูร์ ใกล้เคียงกันมาก ที่ 40.48% ต่อ 45.84%

ระบบจัดการของ XPCC ดัดแปลงจากระบบปฏิรูปเกษตรกรรมในสมัยราชวงศ์ฮั่น ที่รัฐจะให้สวัสดิการอุปกรณ์ เครื่องมือ ที่ดินในราคาถูก และรับผลผลิตบางส่วนเป็นค่าตอบแทน แต่ระบบ XPCC ไปไกลกว่านั้น ด้วยการผนวกเอากองกำลังป้องกันดินแดน ระบบเกณฑ์แรงงาน จากกลุ่มกบฏ ผู้ลี้ภัย มาใช้ลงแรงในไร่นา การก่อสร้างพัฒนาเมือง และนำผลผลิตมาบริหารจัดการในรูปแบบบริษัทขนาดใหญ่ แบบองค์กรกึ่งรัฐวิสาหกิจ กึ่งบริษัท กึ่งกองทัพ ที่บางคนนำไปเปรียบเทียบกับโมเดลบริษัท บริติส อีสต์ อินเดีย ในยุคล่าอาณานิคม 

บริษัท XPCC เคยถูกยุบไปรวมกับรัฐบาลท้องถิ่นมณฑลซินเจียงในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม เข้าสู่ปลายยุคของเหมา เจ๋อตุง แต่หลังจากถูกยุบไปได้ไม่นาน ทางการจีนก็นำโครงการ XPCC กลับขึ้นมาใช้ใหม่ในช่วงปี 1981 เนื่องจากมีเหตุจำเป็นจากภายนอกประเทศ ซึ่งเวลานั้นได้เกิดเหตุสงครามโซเวียต-อัฟกานิสถาน ทำให้มีผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมข้ามมาในเขตซินเจียงของจีนเพิ่มมากขึ้น บางส่วนมาเพื่อซ่องสุมกำลังเพื่อโจมตีกองทัพโซเวียต โดยใช้พื้นที่ของพันธมิตรชาวมุสลิมอุยกูร์เป็นที่มั่น

ดังนั้น การมีอยู่ของ XPCC จึงตั้งอยู่บนพื้นฐานของการพัฒนาเขตพื้นที่ห่างไกล ที่แฝงไว้ด้วยการรักษาความสงบ และมั่นคงในเขตชายแดนที่อ่อนไหว ที่มีข้อพิพาทกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ อินเดีย, ปากีสถาน, อัฟกานิสถาน และโซเวียต เป็นต้น 

แต่ทั้งนี้การรุกคืบของรัฐบาลจีนที่เร่งสร้างชุมชนชาวจีนฮั่น ภายใต้โครงการ XPCC ก็กลายเป็นความขัดแย้งกับชนกลุ่มน้อยในพื้นที่เดิมที่โดนแย่งทรัพยากรแหล่งน้ำ และพื้นที่การเกษตรที่มีอยู่อย่างจำกัด และด้วยการแทรกซึมของต่างชาติ ขบวนการเรียกร้องอิสรภาพที่มีอยู่เดิมในกลุ่มชาวอุยกูร์ กลายเป็นกลุ่มเคลื่อนไหว East Turkestan Islamic Movement ที่ต้องการแยกดินแดนซินเจียงออกมาตั้งเป็นประเทศมุสลิมใหม่ ในชื่อ ‘สาธารณรัฐเตอร์กิสถานตะวันออก’ ที่นำไปสู่ความไม่สงบในพื้นที่ในเขตมณฑลซินเจียงมากขึ้น 

และด้วยรัฐบาลจีนที่ยึดมั่นกับนโยบาย ‘จีนเดียว’ มาตลอด ก็ไม่ยอมอ่อนข้อให้กับเงื่อนไขของกลุ่มก่อความไม่สงบ ที่ต่อมาถูกทางการจีนหมายหัวให้เป็นกลุ่มก่อการร้ายเพื่อแบ่งแยกดินแดน และได้ส่งกองกำลังปราบปรามอย่างรุนแรงเช่นเดียวกัน

ความไม่สงบยังไม่จางหายจากเขตซินเจียง แต่จีนยังคงมุ่งหน้าเต็มคันเร่งสู่ยุคแห่งเศรษฐกิจใหม่ภายใต้การนำของประธานาธิบดี ‘สี จิ้นผิง’ ที่เปิดโครงการที่ปัจจุบันนับว่าเป็นงานลงทุนภาครัฐที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก ที่รู้จักในชื่อ Belt and Road Initiative หรือ BRI การสร้างเส้นทางสายไหมแห่งเศรษฐกิจที่จะเชื่อโยงไปกว่าค่อนโลก ยาวถึงยุโรปตะวันตก ซึ่งประตูทางออกสู่เส้นทางสายไหมของท่านประธาน สีจิ้นผิง เริ่มต้นที่เขตซินเจียง ที่จะทำให้มณฑลแห่งนี้กลายเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จีนจะปล่อยให้เกิดความไม่สงบไม่ได้

ดังนั้น XPCC จึงได้รับการคาดหวังจากรัฐบาลจีน ในการรักษาเสถียรภาพ และความสงบในพื้นที่นี้ให้มากที่สุด ซึ่งเรื่องนี้ด็อกเตอร์ เป่า ยาจุน อาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์จีน มหาวิทยาลัยปักกิ่ง เคยให้ความเห็นว่า สิ่งที่รัฐบาลจีนต้องการ คือการหลอมรวมชาวอุยกูร์ และชาวฮั่น ให้เป็นสังคมหนึ่งเดียวกัน ซึ่ง XPCC ก็กลายเป็นหน่วยงานที่ได้มอบหมายให้ทำหน้าที่นั้น 

ขณะที่ทางรัฐบาลจีนก็ได้เพิ่มงบประมาณให้ XPCC เร่งเสริมกำลังด้านการทหาร และเข้าถึงพื้นที่ในชุมชนโดยใส่มุมมองความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเข้าไป ให้ภาคเกษตรกรรมของชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ ในพื้นที่เขตซิงเจียงตอนใต้ ที่มีชาวอุยกูร์อยู่อย่างหนาแน่นกว่าชาวจีนฮั่น ให้เข้ามาอยู่ในระบบ XPCC ผ่านค่ายฝึกอบรมวิชาชีพ และส่งเสริมค่านิยมความเป็นจีน

และนั่นอาจเป็นที่มาของค่าย ‘ปรับทัศนคติ’ ที่ถูกมองว่ามีจุดมุ่งหมายเพื่อเปลี่ยนชาวอุยกูร์ ให้เป็นชาวจีนฮั่น และมีการต้อนชาวอุยกูร์เข้าค่ายอบรมนับล้านคน นานนับปี ที่มีข่าวในแง่ลบออกมาอย่างต่อเนื่องในเรื่องการทำร้ายร่างกาย ขมขู่บังคับ ขืนใจ กดขี่ให้ละทิ้งความเชื่อทางศาสนา และบังคับให้คุมกำเนิด เพื่อควบคุมประชากรชาวอุยกูร์ในพื้นที่ 

เมื่อมีข้อมูลด้านลบออกมาเช่นนี้ แถมทางจีนก็ไม่เปิดเผยข้อมูลค่ายอบรมแรงงานขนาดใหญ่ดังกล่าว โดยอ้างว่าเป็นเรื่องภายในประเทศ จึงกลายเป็นเป้าโจมตีอย่างหนักในสื่อกระแสหลักของโลกเสรีตะวันตก 

และนี่จึงเป็นปัจจัยเบื้องหลังที่ XPCC ของจีนถูกมองว่าอยู่เบื้องหลังการบริหารจัดการค่ายอบรมชาวอุยกูร์ ที่ทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง และในที่สุด สหรัฐอเมริกาก็ตัดสินใจแบน ระงับการนำเข้าฝ้ายและมะเขือเทศของ XPCC ที่ผลิตในมณฑลซินเจียงทั้งหมด เพราะเชื่อว่ามีการใช้แรงงานชาวอุยกูร์เยี่ยงทาสเพื่อผลผลิต

และตามมาด้วยการร่วมแบนบริษัท XPCC ในกลุ่มพันธมิตรชาติตะวันตกของสหรัฐ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจของจีน ไม่เฉพาะแค่รายได้ในเขตซินเจียงเท่านั้น เพราะนอกจาก XPCC จะเป็นเจ้าของผลผลิตฝ้ายรายใหญ่ที่สุดในจีนแล้ว ยังประกอบด้วยบริษัทในเครืออีก ถึง 10 บริษัทที่ดูแลผลผลิตการเกษตรจำนวนมาก ตั้งแต่ ผัก, ผลไม้, น้ำมันพืช, น้ำตาล, มะเขือเทศ และสินค้าแปรรูปการเกษตรอื่น ๆ อย่าง ไวน์, เบียร์, กระดาษ, ปูนซีเมนต์, สิ่งทอ, พลาสติก และอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก ที่สร้างรายได้ให้จีนสูงถึง 4 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์ฯ ในแต่ละปี  

จากที่เล่ามาทั้งหมดนั้น ปัญหาเรื่องความขัดแย้งของจีนในเขตปกครองซินเจียง-อุยกูร์ ดูจะไปไกลเกินกว่าที่จีนจะมองว่าเป็นแค่เรื่องภายในประเทศเสียแล้ว ยิ่งมีรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่ของนายโจ ไบเดน มาผสมโรงด้วยการชูประเด็นสิทธิมนุษยชนเพื่อกดดันจีนในทุกมิติ ก็เชื่อว่านี่จะเป็นอีกตัวแปรที่ช่วยทำลายภาพลักษณ์ของจีนต่อสายตาชาวโลกในระยะยาวได้พอดู แถมยังเป็นการสกัดธุรกิจภาคการเกษตรไปในตัวด้วย

นาทีนี้ บริษัทกึ่งรัฐ กึ่งกองทัพ ที่มีอายุมานานกว่า 60 ปี อย่าง XPCC ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการบุกเบิกดินแดนซินเจียง ที่เคยเป็นที่รกร้าง ให้กลายเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญกับจีนทั้งในแง่ภาคการเกษตร และยุทธศาสตร์การเมืองอย่างที่เห็นในปัจจุบัน กำลังสั่นคลอนเพราะตัวเองหรือ ‘ใคร’ กันแน่ ?

.

ข้อมูลอ้างอิง

http://www.lawinfochina.com/display.aspx?id=122&lib=dbref&SearchKeyword=&SearchCKeyword=&EncodingName=big5

https://en.m.wikipedia.org/wiki/Xinjiang_Production_and_Construction_Corps

https://www.aljazeera.com/economy/2021/1/13/us-bans-all-cotton-tomato-products-from-chinas-xinjiang-region

https://www.reuters.com/article/us-usa-trade-china-idUSKBN28C38V

https://www.bsg.ox.ac.uk/node/3661


สนับสนุนโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ