ปวดหลังร้าวลงขา​ อาจไม่ใช่กระดูกทับเส้นเสมอไป

เมื่อมีอาการปวดหลังจากการนั่งทำงานนาน ๆ หรือ ยกของหนักแล้วมีอาการปวดสะโพกร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่ง อาการที่เกิดขึ้นมักเป็น ๆ หาย ๆ ก่อให้เกิดความรำคาญใจ ร่วมกับมีอาการชาหรือไม่มีแรง ทำให้หลายคนเข้าใจว่าเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท แต่แท้ที่จริงแล้วอาการดังกล่าวอาจเป็นเพียงการบาดเจ็บ​ การอักเสบ​หรือเป็นพังผืดของกล้ามเนื้อสะโพกชั้นลึกที่เรียกว่า กล้ามเนื้อพิริฟอร์มิส หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า​ "สลักเพชร"

กล้ามเนื้อพิริฟอร์มิสเป็นกล้ามเนื้อมัดเล็ก ๆ ที่มักเกิดการเกร็งหรือบาดเจ็บ​จากการใช้งานในชีวิตประจำวันของเรา เช่น การนั่ง การเดิน การวิ่ง ทำให้เกิดอาการปวด​ "สลักเพชร" หรือก้นทางด้านหลัง กล้ามเนื้อมัดนี้เป็นทางผ่านของเส้นประสาทใหญ่​ที่ลงไปเลี้ยง​และรับส่งสัญญาณไปกลับระหว่างขากับไขสันหลัง เมื่อเส้นประสาทดังกล่าวได้รับการหนีบ จากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อนี้ ทำให้อาการแสดงที่เกิดขึ้นมีความคล้ายคลึงกับอาการของโรคกระดูกทับเส้นประสาท

ดังนั้นเมื่อมีอาการปวดหลังร้าวลงขา ขอให้รีบไปพบนักกายภาพบำบัดหรือแพทย์ เพื่อวินิจฉัยและให้คำแนะนำที่ถูกต้อง อย่าวิตกกังวลหรือกลัวว่าจะต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดเสมอไป เพราะอาจไม่ใช่โรคกระดูกทับเส้นประสาท

อาการนี้มักพบบ่อยในคน​ 4 กลุ่ม​คือ

- ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุล้มก้นกระแทก​ หรือ เล่นกีฬาที่มีการปะทะ

- ยกของหนักเดินขึ้นลงบันได

- วิ่งขึ้นลงทางชัน

- นั่งเก้าอี้เตี้ยนาน ๆ (เก้าอี้ที่ระดับก้นต่ำกว่าเข่า)​

ผู้ป่วยส่วนมากที่มารับการรักษากล้ามเนื้อพิริฟอร์มิสที่คลินิกกายภาพบำบัด คือกลุ่มวัยรุ่นหนุ่มสาวที่ชื่นชอบการออกกำลังกายในฟิตเนส​ โดยเฉพาะคนที่อยากปั้นสะโพกหรือก้นให้เฟิร์มเบอร์เดียวกับเจนนิเฟอร์โลเปส​ หรือ​ กัปตันอเมริกา​ ดังนั้นกลุ่มนี้​จะได้รับการฝึกท่าก้นอย่างหนักสารพัดท่า​ ซึ่งถ้าหากฝึกหนักเกินไปหรือฝึกจนเกิดความไม่สมดุลของกล้ามเนื้อก็จะเกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อพิริฟอร์มิสได้เช่นกัน

การป้องกันการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อพิริฟอร์มิสคือ​ หลีกเลี่ยงการเป็นคน​ 4​ กลุ่มทางด้านบน​ และออกกำลังกล้ามเนื้อก้นด้วยความพอดี​ อย่ากดดันตัวเอง หรือเทรนเนอร์มาก​เกินไป​ ซึ่งความพอดีและการมีทางสายกลาง​ คือ​ หนทางป้องกันโรคนี้ได้

การรักษาทางกายภาพบำบัดเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง นักกายภาพบำบัดจะใช้การยืดกล้ามเนื้อเพื่อลดการเกร็งของกล้ามเนื้อพิริฟอร์มิส และใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัดเพื่อคลายความเจ็บปวดหรือลดการอักเสบของกล้ามเนื้อพิริฟอร์มิส พร้อมทั้งแนะนำการปรับการใช้ชีวิตประจำวันเพื่อไม่ให้เกิดการบาดเจ็บซ้ำอีก

คำถามยอดฮิตสำหรับทุกคนที่มีอาการเหล่านี้ คือ

สามารถไปนวดได้ไหม? คำตอบคือ​ ถ้ายังไม่มีอาการชา​หรือปวดร้าวลงขา​ ก็สามารถไปนวดได้​ แต่ถ้ามีอาการชา​หรือปวดร้าวลงขาแล้ว​ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดจะดีกว่า

การประคบด้วยความร้อนหรือเย็นช่วยได้ไหม ? ต้องบอกว่าการประคบด้วยความร้อนหรือเย็นจะได้ผลดีกับเนื้อเยื่อที่อยู่ชั้นตื้นหรือชั้นบนเท่านั้น​ ไม่สามารถส่งผลไปถึงกล้ามเนื้อชั้นลึกอย่างกล้ามเนื้อพิริฟอร์มิสได้​ แต่หากจะประคบเพื่อบรรเทาปวดเบื้องต้น​ก็สามารถทำได้

เชิญชวนมายืดเหยียดกล้ามเนื้อพิริฟอร์มิสและกล้ามเนื้อรอบสะโพก โดย 2 ท่านี้เป็นท่าที่ง่ายและสามารถทำได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ใด ๆ ยืดค้างไว้จนรู้สึกตึงบริเวณก้น นาน 10 - 20 วินาที อย่าให้เจ็บมาก เมื่อทำเป็นประจำสามารถช่วยป้องกันโรคนี้ได้ในระดับหนึ่ง

ท่าที่ 1 นั่งเก้าอี้ นำข้อเท้าข้างหนึ่งวางไว้บนหน้าขาอีกข้างหนึ่งตามรูป พยายามก้มตัวลงทางด้านหน้าให้มากที่สุดจนรู้สึกตึงบริเวณก้นทางด้านหลัง ค้างไว้ 10 - 20 วินาที

ท่าที่ 2 นั่งขัดสมาธิบนพื้นด้วยการงอขาข้างหนึ่งทางด้านหน้า ส่วนขาอีกข้างเหยียดไปทางด้านหลังตามรูป ยืดลำตัวตั้งตรง จะรู้สึกก้นทางด้านหลังและหน้าขา ค้างไว้ 10 - 20 วินาที

.

เอกสารอ้างอิง

E R Benson and S F Schutzer. Posttraumatic piriformis syndrome: diagnosis and results of operative treatment. J Bone Joint Surg Am. 1999. P.941-949.

https://www.physio-pedia.com/Piriformis_Syndrome

http://www.freyagilmore.uk/2016/08/30/piriformis-syndrome/

https://www.precisionnutrition.com/doctor-detective-sciatic-pain

https://www.inquirer.com/philly/health/personal-best/an-integrative-stretching-plan-to-combat-tight-hips-20171206.html


สนับสนุนโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ