เสียง (เพรียก) แห่งสายน้ำปัตตานี... ตอนที่ 1

วิธีเดินทางไปปักษ์ใต้บ้านเราอันสุดแสนคลาสสิก คือการโดยสารไปกับขบวนรถไฟอ้อยอิ่งแห่งรฟท. ขนาดระบุว่าเป็น “ด่วนพิเศษ” แต่ก็ไม่น่าจะต่างจากวิถีสโลว์ไลฟ์สักเท่าไหร่ นี่ไม่ใช่การค่อนแคะเหน็บแนม ต้องบอกว่าเป็นคำชมมากกว่า คำที่ทุกวันนี้โลกหมุนติ้วเหวี่ยงด้วยอัตราเร่งสูง การนำพาร่างเข้าสู่โหมด “ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง” จึงนับเป็นวิธีปรับสมดุลที่ดีมากทีเดียว 

จุดหมายการเดินทางรอบนี้ คือพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ต้องการไปสัมผัสยะลาและปัตตานี ด้วยรูปแบบการเดินทางที่แตกต่าง วางแผนไว้ว่าจะพายเรือล่องจากต้นน้ำถึงปลายแม่น้ำปัตตานีนั่นเอง แน่นอน มีเสียงทัดทานในหัวตัวเองดังก้องไม่ให้ไป เพราะมักมีข่าวออกมาเนือง ๆ ว่ามีการดักยิง มีระเบิด มีการก่อการร้ายต่าง ๆ แต่ผมตัดสินใจว่าจะยังคงไปไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ส่วนหนึ่งเพราะโหยหาพื้นที่แปลกแยก กระหายการออกนอกพื้นที่สบาย ไอ้เจ้าคอมฟอร์ทโซนมันสามารถฆ่าคนบางประเภทได้ มนุษย์บางกลุ่มอาจจะเรียกโลกกว้างและการเร่ร่อนว่าเป็น “บ้าน” มากกว่าการจับเจ่าอยู่กับที่เดิม ๆ พบปะผู้คนเดิม ๆ ทำกิจกรรมชีวิตเดิม ๆ

และไม่แน่ ว่าสื่อต่าง ๆ อาจประโคมข่าวเพียงเพื่อเรียกเรตติ้งก็เป็นได้ การเขียนเสือให้วัวกลัวสื่อมวลชนถนัดนักล่ะ !

ปลายทางสถานียะลา ลงจากรถไฟพร้อมสัมภาระพะรุงพะรัง ไม่เฉพาะเสื้อผ้า เต็นท์ เครื่องนอน และข้าวของเครื่องใช้สำหรับรอนแรมเท่านั้น อุปกรณ์น้ำหนักมากสุด คือเรือคายักสูบลมร่วม 15 กิโลกรัมนั่นเอง มีเพื่อนคนยะลามารับ รู้จักกันผ่านโลกโซเชียลในฐานะพวกบ้าเดินทางด้วยกัน เขาเป็นชายร่างใหญ่เคราครึ้ม ชื่อเสียงเรียงนามคือ ‘ฮาบิ๊บ’ เรียกอย่างเป็นกันเองว่า ‘บังบิ๊บ’ รอบนี้เขาจะร่วมเดินทางไปด้วย มีเรือกันคนละลำ และจะไปเริ่มกันที่ต้นน้ำปัตตานี ซึ่งอยู่แถวเมืองเบตงใกล้ชายแดนประเทศมาเลเซีย พวกเรามีเวลาซักซ้อมเตรียมความพร้อมการเดินทางกันจริง ๆ เพียงวันเดียวเพราะวันรุ่งขึ้นก็จะไปยังจุดเริ่มต้นแล้ว

นอกจากจะเป็นการพายเรือผจญภัยแล้ว ยังมีสิ่งที่เพื่อนกลุ่มหนึ่งซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการและคนท้องถิ่น พวกเขาวานให้ช่วยเก็บข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับแม่น้ำสายนี้ เช่น ความลึกของน้ำ สภาพตลิ่งและการกัดเซาะ เป็นต้น ทั้งนี้ เพราะไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเกิดน้ำท่วมใหญ่ สาเหตุหลักมาจากการปล่อยน้ำจากเขื่อนบางลางซึ่งกั้นแม่น้ำปัตตานี สร้างผลกระทบและความเสียหายในวงกว้าง ต่อทั้งชุมชนและพื้นที่เพาะปลูก

สาย ๆ วันรุ่งขึ้นแท็กซี่ยี่ห้อเบนซ์รุ่นโบราณ ที่โทรเรียกให้มารับจอดเทียบหน้าบ้านบังบิ๊บ สัมภาระต่าง ๆ ขนขึ้นท้ายรถ เรียบร้อยแล้วก็ออกเดินทางกัน อากาศค่อนข้างอบอ้าว ลมอุ่นโกรกผ่านเข้ามาพอจะช่วยได้บ้าง มีด่านตรวจเป็นระยะ ๆ ตลอดเส้นทาง บางด่านมีแผ่นป้ายใหญ่พิมพ์ภาพใบหน้าและชื่อของผู้ชายหลายคน ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นคนที่หน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะตำรวจและทหารกำลังติดตามหาตัวอยู่ สองข้างทางผ่านหมู่บ้านร้านรวง และเรือกสวนชาวบ้าน รถราแล่นบนท้องถนนขวักไขว่กันเป็นปกติ เมื่อผ่านเข้าสู่พื้นที่ภูเขาถนนก็เลียบไปตามเขื่อนบางลาง อากาศเย็นกว่าอย่างเห็นได้ชัด โซนนี้มีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อหลายแห่ง ที่โด่งดังระดับประเทศ เป็นจุดเช็คอินห้ามพลาดเลยก็คือ สกายวอล์ค และทะเลหมอกอัยเยอร์เวงนั่นเอง ความสูงของยอดเขาต่าง ๆ ในละแวกนี้ไม่น่าจะเกินพันเมตร แต่จุดเด่นคือมีทะเลหมอกให้ชมทั้งปี แตกต่างจากทิวเทือกเขาในภาคอื่น ๆ ของไทย

บ่ายต้น ๆ ถึงเบตง เมืองชายแดนเล็ก ๆ ซึ่งไม่คึกคักขวักไขว่าเอาเสียเลย อาจจะเพราะด่านยังไม่เปิด การข้ามไปมาระหว่างประเทศยังทำไม่ได้ การท่องเที่ยวค้าขายจึงชะงัก คงต้องรอจนกว่าสถานการณ์โควิดจะผ่านพ้นไปเสียก่อน อะไรต่อมิอะไรจึงจะฟื้นกลับคืนมาอีกครั้ง โรคนี้ “หยุดโลก” ได้ชะงัดจริง ๆ

ความตั้งใจแรกคือจะเริ่มพายเรือกันที่เบตง แต่ต้องเปลี่ยนใจเมื่อเห็นสภาพคลองสาขาของแม่น้ำปัตตานี ณ จุดนั้น เพราะนอกจากตื้นเขินเกินกว่าจะล่องเรือได้แล้ว สีและกลิ่นของน้ำก็ช่างไม่พึงประสงค์เอาเสียเลย น้ำทิ้งจากอาคารบ้านเรือนปล่อยลงมาตามท่อ จึงตัดสินใจไปเริ่มกันที่อีกคลองหนึ่งซึ่งน้ำใสกว่า ริมคลองนั้นพวกเราจัดการสูบลมเรือ นำสัมภาระยังชีพคายัก เหมือนเป็นเรื่องบังเอิญที่เจอคุณตาคนหนึ่งกำลังอาบน้ำซักผ้าอยู่ พูดคุยกันจึงรู้ว่าแกชื่ออิสเฮาะ บอกว่าตั้งแต่อยู่ที่นั่นมายังไม่เคยเจอใครมาพายเรือล่องแม่น้ำสักครั้ง สร้างความฉงนประหลาดใจ เมื่อพวกเราบอกว่าจะพายเรือไปถึงเมืองปัตตานี ซึ่งอยู่ห่างออกไปราวร้อยกิโลเมตรเศษ แกจึงสวดขอพรจากพระเป็นเจ้า อวยชัยให้การเดินทางราบรื่นปลอดภัย... ขอบคุณครับคุณตาอิสเฮาะ


สนับสนุนโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ