เลี้ยงลูกอย่างไรให้ออกจาก ‘Comfort Zone’ เพราะการติดอยู่ในนั้น ถือเป็นเรื่องอันตรายที่สุดในยุคนี้ ทั้ง ๆ ที่ Comfort Zone เป็นพื้นที่ปลอดภัย แต่ทำไมแนะนำให้ออกจากตรงนั้น เพื่อความปลอดภัย

โลกเปลี่ยน สิ่งแวดล้อมเปลี่ยน  คนเป็นพ่อเป็นแม่ก็ต้องปรับตัวให้ทันต่อเหตุการณ์ และทิศทางของโลกในอนาคต ไม่เช่นนั้นเราจะคุยกับลูกไม่รู้เรื่อง

พ่อแม่หลายคนมีความกังวลว่า ไม่รู้จะสอนลูกอย่างไรหลังสถานการณ์โรคระบาดผ่านไป เพราะอาชีพที่เคยมั่นคงกลับไม่มั่นคง ทักษะบางเรื่องกลับไม่จำเป็นอีกต่อไป

ปัจจัยในการดำรงชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ทักษะบางอย่างกลับใช้ไม่ได้ อาชีพบางอาชีพที่มีความมั่นคง กลับล่มสลาย การใช้ชีวิตมีความละเอียดอ่อนมากขึ้น  และซับซ้อนมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ Comfort Zone ที่เคยทำหน้าที่ปกป้องเราไม่ให้ได้รับภัยอันตราย มันกลับกลายเป็น “คอกปิดกั้นความสำเร็จ” ของเราไปเสียแล้วค่ะ

นั่นคือเหตุผลว่าทุกคนไม่ควรอยู่ใน Comfort Zone เพราะการติดอยู่ในนั้น ถือเป็นเรื่องอันตรายที่สุดในยุคนี้

มารู้จักกับ Comfort Zone

Comfort Zone คือ การทำงานของสมองและระบบประสาทของมนุษย์ในรูปแบบหนึ่ง ซึ่งธรรมชาติออกแบบมาให้เรามีความสามารถในการมีชีวิตรอด โดยการทำอย่างไรก็ได้ให้เรามีชีวิตอยู่ต่อไปได้ เพื่อเป้าหมายพื้นฐานที่สำคัญนี้เอง ระบบประสาทของเราจึงสร้างกลไกที่เรียกว่า Comfort Zone ขึ้นมา เพื่อลดความเสี่ยงใดๆ ก็ตามที่จะเกิดขึ้นได้ในชีวิตเรา

ลองเช็คตัวเองดู ว่าเราเคยมีความรู้สึกแบบนี้บ้างไหม

ความรู้สึกว่า “ฉันกลัว” ฉันต้องการ “พื้นที่ปลอดภัย”

ความรู้สึกว่า “ฉันไม่สามารถ”  หรือ “ฉันไม่มีวันทำได้”

ความรู้สึกว่าสิ่งนั้น “มันเป็นไปไม่ได้”

ความรู้สึกว่าใครๆ “จะไม่ยอมรับ” หรือ “ไม่ชอบ”

ความรู้สึกว่า “ฉันเหนื่อยแล้ว”  “พอแล้ว”

ความรู้สึกว่า “ฉันสำเร็จ  สมบูรณ์ดีแล้ว” หรือ “ไม่มีอะไรดีไปกว่านี้แล้ว”

ความรู้สึกที่ว่า “ฉันผิด” และต้องการไถ่ถอนความรู้สึกผิด จนไม่กล้าก้าวไปข้างหน้า

ลองตั้งข้อสังเกตว่าบรรยากาศในบ้านเราเป็นแบบนี้หรือไม่

เพราะมีใครสักคนในบ้าน วางกรอบให้ลูกเดินไว้ใช่หรือไม่  ลูกถึง “ไม่กล้า” ติดอยู่ใน Comfort Zone

เพราะมีใครสักคนในบ้าน เป็นคนขี้กลัว ขี้กังวลมากเกินเหตุใช่หรือไม่ ลูกถึง “ขี้กลัว” ติดอยู่ใน Comfort Zone

เพราะมีใครสักคนในบ้าน เป็นคนที่คิดแทนลูกเองทุกเรื่องใช่หรือไม่  ลูกถึง “ไม่กล้าคิด” ติดอยู่ใน Comfort Zone

เพราะมีใครสักคนในบ้าน ชอบดุด่าเมื่อลูกแสดงความคิดเห็น ใช่หรือไม่ ลูกถึง “ไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงออก”

เพราะมีใครสักคนในบ้าน ชอบลงโทษเมื่อลูกทำผิดใช่หรือไม่ ลูกถึง “ไม่กล้าพูดความจริง” เอาแต่โกหก

เพื่อลูก พ่อแม่ที่ฉลาดจะทำเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก

การฝึกให้ลูกออกจาก Comfort Zone

เริ่มต้นง่ายๆ จากการอนุญาตให้ลูก ทำกิจกรรมใหม่ๆ กับคนใหม่ สถานที่ใหม่ กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก ภายใต้ค่านิยมของสังคม โดยมีเราเป็นพี่เลี้ยง ให้เขาได้เลือกเอง พ่อแม่ควรเคารพและยอมรับในการตัดสินใจของลูก พ่อแม่เพียงผู้เฝ้าดูอยู่ห่างๆ เป็นพี่เลี้ยงบ้างบางเวลาที่เขาต้องการ ไม่ต้องไปคาดหวังว่าสิ่งที่ลูกเลือกนั้นจะประสบความสำเร็จสูงสุด

ผลลัพธ์ในครั้งแรกอาจจะเสียมากกว่าได้ หรือพอ ๆ กัน แต่สิ่งที่เขาได้คือประสบการณ์ ที่หาไม่ได้จากห้องเรียน และที่บ้าน ทุกคนในบ้านมีหน้าที่คอยเป็นพื้นที่ทำให้พวกเขาสบายใจ เสมือนคอยเป็นฟองน้ำนุ่มๆ เมื่อเขาผิดหวังหรือเซล้มลงมาพวกเขาจะได้ เจ็บปวดน้อยที่สุด คอยโอบกอดไว้ และคอยพูดเตือนสติ เพื่อให้ลูกๆ ค้นหาวิธีแก้ไข และต่อสู้ชีวิตต่อไป  

พูดให้กำลังใจ “คนทำงานก็ต้องมีผิดพลาดบ้างเป็นเรื่องธรรมดา ลูกจงเรียนรู้จากข้อผิดพลาดเหล่านั้น” เพื่อครั้งต่อไปลูกจะได้ไม่พลาดซ้ำ และ “การที่ลูกสามารถข้ามผ่านปัญหาในครั้งนี้ไปได้ เท่ากับว่า ลูกได้เติบโตและเก่งขั้นอีกหนึ่งขั้น” ถือเป็นเรื่องดี  พ่อแม่ทั้งหลายจงรู้ไว้เถิดว่านั่นคือ วัคซีนเข็มแรกที่ลูกๆ ได้รับและเป็นวิธีที่ฉลาดที่สุดในการสอนลูกให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งค่ะ

ถ้าคุณต้องการเปลี่ยนชีวิต สิ่งแรกที่คุณต้องทำคือ การเปลี่ยนความคิด

เพราะคุณไม่มีทางได้ผลลัพธ์ใหม่ จากการคิดเหมือนเดิม พูดเหมือนเดิม และทำเหมือนเดิม


เขียนโดย อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์

#Talktonitima

อ้างอิงข้อมูล:

https://noodee2012.wordpress.com/

https://www.jeab.com/

https://www.nopadolstory.com/