โรงงานผลิตเสื้อผ้าของ Uniqlo แบรนด์ดังของญี่ปุ่น ในพม่า 2 แห่งถูกไฟไหม้หลังเกิดเหตุจลาจลในเมืองย่างกุ้ง หลังจากที่มีการลอบวางเพลิงโรงงานเย็บผ้าของผู้ประกอบการชาวจีนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

โรงงานดังกล่าวอยู่ภายใต้การดูแลของ Fast Retailing ผู้ผลิตเสื้อผ้าหลายแบรนด์ดังของญี่ปุ่น ได้แก่ Uniqlo GU ที่เพิ่งขยายโรงงานผลิตเสื้อผ้าในพม่าถึง 6 แห่ง เพื่อเป็นฐานการผลิตหลักให้กับโรงงานแม่ในญี่ปุ่น

แถมในจำนวนนั้นเป็นโรงงานที่ตั้งอยู่ในเมืองย่างกุ้งถึง 5 แห่ง หนึ่งในจุดศูนย์กลางของการประท้วงที่รุนแรงที่สุดในพม่า ที่ตอนนี้รัฐบาลทหารพม่าได้ประกาศกฎอัยการศึกครอบคลุมในหลายเขตของเมือง

แต่แล้วเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ทางบริษัทที่ญี่ปุ่นได้ออกมาแถลงข่าวยืนยันว่าโรงงานผลิตเสื้อของ Uniqlo ได้ถูกมือมืดลอบวางเพลิงถึง 2 แห่งในช่วงวันอาทิตย์ที่เกิดการจลาจล และกล่าวว่าโรงงานถูกระบุเป็นเป้าหมายในการโจมตี และตอนนี้กำลังประเมินมูลค่าความเสียหาย แต่ยังโชคดีที่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตในโรงงาน

ในพม่าเริ่มมีผู้ประกอบการจากญี่ปุ่นเข้ามาลงทุน สร้างโรงงานผลิตสินค้าในพม่ามากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะผู้ผลิตแบรนด์ Uniqlo ตั้งใจจะใช้พม่าเป็นฐานการผลิตสินค้าหลักส่งออกไปทั่วโลก

แต่จากเหตุการณ์ความไม่สงบ ที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ การปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ประท้วง และเจ้าหน้าที่เป็นไปอย่างดุเดือด ที่ตอนนี้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 180 คน เหตุจลาจล เผาทำลายโรงงาน ทรัพย์สินมีอยู่ทั่วไปและยากจะควบคุม จน ทาง Uniqlo กำลังพิจารณาที่ถอนฐานการผลิตออกจากพม่าไปประเทศอื่นแทนเพื่อความปลอดภัย

ไม่ใช่เพียงแค่โรงงานของจีน และญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบเต็มๆจากเหตุจลาจลวางเพลิง ตอนนี้โรงงานผลิตเสื้อผ้าแบรนด์ใหญ่อย่าง H&M ที่มีโรงงานในพม่าถึง 40 แห่ง และอีกหลายเจ้าจำเป็นต้องปิดโรงงานชั่วคราวแล้วในตอนนี้

และหากสถานการณ์บ้านเมืองในพม่ายังคงมีความรุนแรง และยืดเยื้อ นักลงทุนต่างชาติจึงเริ่มคิดจะยุติการดำเนินธุรกิจในพม่า และย้ายฐานออกไป ซึ่งไม่เป็นผลดีกับเศรษฐกิจพม่า ที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ และการผลิตเสื้อผ้า

อุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้า และสิ่งทอของพม่าเติบโตอย่างก้าวกระโดดหลังจากที่พม่าเริ่มเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลทหารสู่รัฐบาลพลเรือนตามครรลองประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา ด้วยข้อได้เปรียบด้านค่าแรง และบรรยากาศทางการเมืองที่เริ่มกลับมาดีขึ้น เป็นสิ่งจูงใจให้ผู้ประกอบการแบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำของโลกนำเม็ดเงินมาลงทุนตั้งโรงงานในพม่ากันมากขึ้น จนอุตสาหกรรมนี้กลายเป็นหนึ่งเสาหลักของเศรษฐกิจพม่า

ดังนั้นการลุกฮือของชาวพม่า และสถานการณ์ที่บานปลายก็จะส่งผลต่อการลงทุนของต่างชาติที่เริ่มพิจารณาย้ายฐานลงทุนไปประเทศอื่นที่มีข้อได้เปรียบด้านค่าแรงเหมือนกัน เช่น บังคลาเทศ เวียดนาม อินโดนิเซีย หรือ จีน ที่จะส่งผลเสียต่อการเติบโตของเศรษฐกิจพม่าไปอีกยาว


อ้างอิง :

https://asia.nikkei.com/Spotlight/Myanmar-Coup/Uniqlo-parent-latest-victim-in-Myanmar-garment-sector-violence?fbclid=IwAR3soA0LGFO_RUizpRTa8nj_yG6gDxFUexV03GeiLS7H0nswAy8xLwQL6CU

https://www.japantimes.co.jp/news/2021/03/16/business/corporate-business/myanmar-fast-retailing-fire/


By : Jeans Aroonrat